เคล็ดลับเก่งฟิสิกส์ แบบผู้แทนฯ ฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ความเก่งเนรมิตไม่ได้ แต่ผู้ใหญ่...ช่วยส่งเสริมได้

ข่าวทั่วไป Tuesday April 28, 2009 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--สสวท. 8 หนุ่มน้อย ผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ( จากซ้าย ) ธิปก รักอำนวยกิจ , วีรภัทร พิทยครรชิต, วีรชาติ ศรีสโมสร , นครินทร์ โลหิตศิริ , สรณภพ เทวปฏิคม, ธนภัทร วรศรัณย์ , จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์, อิสระพงศ์ เอกสินชล ปีนี้เวทีแข่งขันระดับชาติที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพและเดินหน้าต่อเนื่อง สร้างชื่อเสียงให้สยามเมืองยิ้มได้เป็นผลสำเร็จ ต้องถือว่าเวทีวิชาการที่โหดหินอย่างฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย มีส่วนช่วยเชิดชูเกียรติภูมิบ้านเราและกระชับมิตรภาพกับเพื่อนบ้านได้อย่างอบอุ่นงานหนึ่ง โดยมีหัวกะทิจาก 15 ประเทศ เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 17 ทีม รวมผู้แข่งขัน 119 คน การแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2552 โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมฟิสิกส์ไทย จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งวันนี้น้องๆ ผู้แทนประเทศไทยฯ ทั้ง 8 คนได้ร่วมกันไขข้อข้องใจว่าวิชายากๆ ที่ใครๆ ก็บ่นอุบว่า “หิน” อย่างฟิสิกส์นั้น พวกเขามีวิธีอย่างไรถึงได้มีความสุขกับการเรียนวิชานี้ นาย ธนภัทร วรศรัณย์ “น้องตั้ว” ม.6โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม บอกว่าเป็นคนสนใจวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว โดยเฉพาะฟิสิกส์เพราะเป็นวิชาที่ไม่ต้องท่องจำ และหลักการของฟิสิกส์นำมาใช้อธิบายได้จริงในทุกกรณี นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการเรียนอีกข้อก็คือ ครูผู้สอน ต้องคำนึงถึงความสนุกสนานในการสอนไปพร้อมๆกับความรู้ด้วย เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆให้อยากเรียนรู้ได้ “ผมเรียนด้วยความรักและมีความสุขในการเรียนวิชานี้ครับ ผมคิดว่าถ้าเรารักในวิชาใดก็จะเรียนได้ดี ก่อนหน้านี้ผมให้ความสำคัญกับวิชาอื่นๆ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนฟิสิกส์ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่เดี๋ยวนี้ผมให้เวลากับฟิสิกส์ 100 เปอร์เซ็นต์” น้องตั้วเผยว่าที่จริงเขาก็เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ยังเล่นเกมส์ เล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นๆบ้าง แต่ไม่ได้กระทบการเทือนใดๆ ต่อการเรียนเพราะสิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จักจัดสรรเวลาให้เป็น” ส่วนนาย อิสระพงศ์ เอกสินชล “น้องปริ๊นซ์” ม.5โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม เป็นอีกคนที่ย้ำถึงวิธีเรียนดีว่าควรให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดสรรเวลาในชีวิตให้เหมาะสม ทั้งเรื่องการนอน เรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และการทบทวนบทเรียนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหาความรู้เพิ่มเติมด้วย “เรื่องอ่านหนังสือ ต้องรู้ว่าเราควรจะอ่านเล่มใดก่อน-หลัง เช่น หนังสือฟิสิกส์ที่อธิบายด้วยภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมเลือกอ่านเล่มนั้นก่อน หลังจากนั้นค่อยทำความเข้าใจกับเรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นไป ไม่ข้ามขั้นตอนครับ” น้องปริ๊นซ์ ยังย้ำว่า ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเรียนของลูกๆ มาก โดยเฉพาะสำหรับตัวของปริ๊นซ์เอง คุณพ่อ คุณแม่ให้การสนับสนุนให้เรียนรู้เต็มที่ ทั้งหนังสือและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ หนังสือที่ต้องการอ่านทุกอย่างแบบไม่จำกัดงบประมาณ พร้อมทั้งไม่เคยบังคับว่าเขาควรจะเรียนอะไร หรือต้องเป็นอะไร ให้โอกาสลูกได้ค้นหาแนวทางที่ชอบด้วยตัวเอง แม้คุณพ่อจะเป็นแพทย์ แต่ก็ไม่เคยบอกว่าลูกต้องเรียนแพทย์ตามเลย ด้าน นายวีรภัทร พิทยครรชิต “น้องวี” ม.4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กทม.บอกว่า ถ้าเราอยากเรียนให้เก่งวิชาใด เราต้องมีความขยันในวิชานั้นๆ ต้องอ่านหนังสือทุกวันเพื่อทบทวน ใช้เวลาอยู่กับมัน ทำความเข้าใจคิดให้เยอะๆ “สำหรับผมต้องตั้งเป้าหมายในอนาคตไว้ก่อน เพื่อจะได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเรียนรู้ และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เราเดินต่อไป การจะทำอะไรก็ตาม ถ้าเราทำมันไปวันๆแบบไม่มีเป้าหมายก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ดังนั้นการมีเป้าหมายสำหรับผมจึงเป็นสิ่งสำคัญ” นายสรณภพ เทวปฏิคม หรือ “ เกรท” ม.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังให้เป็นเด็กที่รักเรียนมาตั้งแต่เล็กๆ และถึงจะเรียนดีแต่ก็ไม่ทิ้งการเล่นตามวัยจนกลายเป็นเด็กที่ “เรียนจ๋า” อย่างเดียว ดังนั้นเกรทจึงทั้งเรียน เล่นดนตรี เล่นกีฬา “ผมคิดว่าถ้าอยากเรียนให้เก่งก็ต้องมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ คือถ้าเรารักในสิ่งที่เรากำลังเรียน มันจะทำให้เรามีความพยายาม และตั้งใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง” สำหรับการส่งเสริมให้เยาวชนไทยรักและไม่กลัวฟิสิกส์นั้น คิดว่าทุกฝ่ายควรร่วมมือกันโดยเฉพาะระบบการศึกษาซึ่งรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนการเรียนวิทยาศาสตร์ให้มากกว่านี้ เพราะเท่าที่เห็นมาหลายๆ แห่ง อุปกรณ์การทำแลปของโรงเรียนแทบไม่มี หรือไม่งั้น ก็ชำรุด ทำให้นักเรียนไม่ได้เห็นของจริง ไม่ได้สัมผัสของจริง ดังนั้นต่อให้ครูสอนเก่งขนาดไหน นักเรียนก็เบื่อ เพราะฟิสิกส์ไม่ใช่วิชาท่องจำ ทางด้านนายธิปก รักอำนวยกิจ หรือ “น้องเบน” ม.4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ปทุมวัน ซึ่งแม้วันนี้จะยังเป็นแค่นักเรียนแต่ได้ให้ทัศนะแหลมคมถึงความสำคัญของการเรียนว่า สำหรับบางคนอาจไม่ถนัดหรือไม่ชอบเรื่องวิชาการ แต่การเรียนเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีคุณค่าต่อชีวิต เราจึงต้องตั้งใจให้มากๆ “ผมอยากเห็นคุณครูสอนวิทยาศาสตร์เน้นให้เด็กคิดเป็น เพราะวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหามาก หลายๆครั้งจึงกลายเป็นว่าเด็กต้องมานั่งท่องจำเนื้อหา” น้องเบนสะท้อนมุมคิดที่ระบบการศึกษาไทยไม่ควรมองข้าม ครอบครัวที่อบอุ่น ครู โรงเรียน และการสนับสนุนที่ถูกทิศทางจากภาครัฐ คือแรงส่งที่ผลักดันให้พวกเขา 8 เยาวชนไทย พุ่งไปสู่เป้าหมายบนเวทีแข่งขันมันสมองระดับชาติ ในฐานะผู้แทนประเทศไทยฯ ซึ่งได้สะท้อนแง่มุมคมคายให้ผู้ใหญ่ขบคิดถึงความเก่งที่เนรมิตไม่ได้....แต่ช่วยได้ ถ้าผู้ใหญ่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างมีความสุข วิชาโหด หินไม่ชวนสนุกอย่างฟิสิกส์....ก็ยังยิ้มได้. **ดูรายละเอียดการแข่งขันที่เว็บไซต์ http://mpec.sc.mahidol.ac.th/apho10 Copy ไฟล์ภาพ และประวัติผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย 2552 ได้ที่ เว็บไซต์ สสวท.www.ipst.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ