กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ไปรษณีย์ไทย
ไปรษณีย์ไทยรุกตลาดบริการการเงินยุคดิจิตอล ธนาณัติออนไลน์ครองใจผู้คนนับล้านทุกเดือน จะส่งเงินข้ามประเทศก็สะดวกด้วยบริการเวสเทิร์นยูเนี่ยน ส่วนบริการรับชำระเงินเพย์แอทโพสต์ครอบคลุมมากสุดถึง 127 ชนิดบริการ ตอกย้ำความเชื่อมั่นความปลอดภัยสูงสุด
นายสุรพงศ์ สุรบถโสภณ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวในการบรรยายว่าด้วยเรื่อง “มิติใหม่ในการชำระเงินยุคดิจิตอล” ในงานสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดขึ้นในวันนี้ (4 ก.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยระบุถึงความสำเร็จของบริการธนาณัติออนไลน์ว่าได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน จนปัจจุบันมีมีปริมาณงานมากกว่า 1 ล้านรายการต่อเดือน
“ธนาณัติออนไลน์มีความสะดวกรวดเร็วและน่าเชื่อถือสูงและเข้าถึงท้องถิ่นได้ดี จึงได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะประชาชนในภูมิภาค เรียกได้ว่าขณะนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการส่งเงินกลับไปให้สมาชิกในครอบครัวของคนต่างจังหวัดที่ทำงานต่างถิ่นไปแล้ว”
ไปรษณีย์ไทยยังร่วมมือกับธนาคารยูโอบีอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถส่งธนาณัติออนไลน์ได้ที่สาขาธนาคารยูโอบีหรือผ่าน UOB CyberBanking โดยโอนเงินไป ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่กำหนด ในทางกลับกันผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าบัตรเครดิตธนาคารยูโอบีผ่านบริการ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งได้ด้วย เช่นเดียวกับบริการรับชำระเงินอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมมากถึง 127 บริการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาธารณูปโภค บัตรเครดิต สินเชื่อ/เช่าซื้อ ค่าสินค้า ประกันชีวิต/ประกันภัย ตลอดจนกลุ่มราชการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
นอกจากบริการโอนเงินในประเทศแบบไม่มีบัญชีซึ่งไปรษณีย์ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสูงสุดในขณะนี้แล้ว ไปรษณีย์ไทยยังให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยธนาณัติเวสเทิร์นยูเนี่ยนที่มีความปลอดภัยสูงโดยเชื่อมโยงกับสาขาต่าง ๆมากกว่า 117,000 แห่งใน 197 ประเทศทั่วโลก
ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีศักยภาพในการสร้างสมรรถนะด้านการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศตามแนวทางมาตรฐานสากล ISO/IEC27001 และ ISO/IEC17799 และกำลังประยุกต์ CobiT Framework พร้อมทั้งมาตรฐาน ISO/IEC 20000/BS15000 (ITIL) มาใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลระบบงานไอที ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอ นิกส์ 2544 และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำกับดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
ข่าวประชาสัมพันธ์
แผนกประชาสัมพันธ์ ส่วนสื่อสารการตลาด โทรศัพท์ 0 2831 3510 - 12