ปภ.แนะวิธีขับรถใกล้รถบรรทุกสารเคมี

ข่าวทั่วไป Wednesday April 29, 2009 08:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ขับขี่สังเกตและศึกษารูปร่างลักษณะถังบรรจุของรถบรรทุกสารเคมี เพิ่มความระมัดระวังในการขับรถใกล้รถบรรทุกสารเคมี หากพบเหตุฉุกเฉินให้รีบโทรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างละเอียด ในระหว่างรอการช่วยเหลือห้ามก่อให้เกิดประกายไฟ เปิดท้ายรถบรรทุกสารเคมีที่ประสบอุบัติเหตุ หรือพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสารเคมีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้สารเคมีประกอบการผลิต ทำให้มีการขนส่งสารเคมีเพิ่มมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับรถบรรทุกสารเคมี เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดแล้ว ควรสังเกตยานพาหนะที่อยู่รอบข้าง โดยเฉพาะรถบรรทุกสารเคมีที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ หากต้องขับรถเข้าใกล้รถบรรทุกสารเคมี ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและทิ้งระยะห่างให้มากกว่าปกติ รวมทั้งควรศึกษารูปร่างและลักษณะถังบรรจุของรถบรรทุกสารเคมี เพื่อเป็นข้อมูลในเบื้องต้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินกับรถดังกล่าว ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถบอกได้ว่าวัตถุที่บรรทุกเป็นสารเคมีประเภทใด ดังนี้ รถบรรทุกของเหลวไวไฟ จะมีลักษณะเป็นถังรูปวงรี หัวท้ายโค้งมนและเรียบมีช่องทางเดินบนหลังคา รถบรรทุกก๊าซเหลวอุณหภูมิต่ำ เช่น ก๊าซฮีเลี่ยม ก๊าซไนโตรเจน ก๊าซออกซิเจน จะเป็นถังรูปทรงกระบอกใหญ่ หัวท้ายโค้งมน ส่วนท้ายของถังมีตู้ควบคุมระบบระบายความดันและช่องถ่ายสารเคมี รถบรรทุกสารกัดกร่อน เช่น กรดเกลือ กรดกำมะถัน ถ้ามองจากด้านท้ายจะเป็นถังรูปวงกลมเล็ก ด้านข้างเป็นรูปทรงกระบอก หัวท้ายโค้งมน ตัวถังเป็นสแตนเลส และมีวงแหวนรัดรอบถัง ส่วนรถบรรทุกก๊าซเหลวอัดความดัน เช่น ก๊าซคลอรีน ก๊าซแอมโมเนีย เป็นถังรูปทรงกระบอก หัวท้ายมนเป็นรูปครึ่งวงกลม กรณีพบรถบรรทุกสารเคมีรั่วไหล ให้ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้นและอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุในด้านเหนือลมหรือที่สูงในระยะไม่ต่ำกว่า ๕๐ เมตร พร้อมโทรแจ้งหน่วยปฏิบัติการ เช่น แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ๑๙๑ แจ้งเหตุฉุกเฉิน อุบัติภัยสารเคมีกรมควบคุมมลพิษ ๑๖๕๐ แจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉินศูนย์นเรนทรกระทรวงสาธารณสุข ๑๖๖๙ หน่วยแพทย์กู้ชีวิตวชิรพยาบาล ๑๕๕๔ หรือสายด่วนนิรภัย ๑๗๘๔ เป็นต้น พร้อมบอกข้อมูลที่จำเป็นอย่างรายละเอียด เช่น สถานที่เกิดเหตุ ประเภทของรถบรรทุก รูปร่างและลักษณะของถังบรรจุสารเคมี ชื่อบริษัทขนส่ง สัญลักษณ์ ฉลากหรือเครื่องหมายและหมายเลขสหประชาชาติที่เป็นตัวเลข ๔ หลักติดบนภาชนะบรรจุ ถังเหล็ก แท็งก์ ป้ายที่ติดบนรถบรรทุก และจำนวนผู้บาดเจ็บให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทราบ เพื่อวางแผนควบคุมอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระหว่างการรอหน่วยปฏิบัติการมาควบคุมสถานการณ์ ควรกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากจุดที่เกิดเหตุในรัศมีไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร ห้ามประกอบกิจกรรมใดๆที่ก่อให้เกิดประกายไฟในบริเวณใกล้จุดที่เกิดเหตุเด็ดขาด เนื่องจากอาจมีไอระเหยสารเคมีหรือก๊าซติดไฟรั่วไหลในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดการระเบิดและเพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการจอดรถหรือขับรถผ่านกลุ่มควัน เพราะยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดประกายไฟอย่างดี ห้ามเหยียบหรือสัมผัสสารเคมีที่รั่วไหลออกมา รวมถึงห้ามเปิดท้ายรถบรรทุกสารเคมีที่ประสบอุบัติเหตุหรือพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างเด็ดขาด เพราะสารเคมีแต่ละชนิดมีวิธีการควบคุมและกู้ภัยที่แตกต่างกันไป หากไม่มีความรู้อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงและลุกลามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ