กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
เอทีซีเอ็ม เผยทิศทางปีหน้า 2007 คอมพ์ไทย ไปโลด คาดตลาดรวมโตกว่า 1.6 แสนล้านบาท มุ่งเน้นโลคอลแบรนด์แกร่งสู้ต่างชาติ สร้างตลาดใหม่ บุก 4 ทวีป
อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์เป็นดาวเด่น ตลาดพีซีและโน๊ตบุ๊คโตต่อเนื่อง ยกระดับโลคอลแบรนด์ ตลาดรวมโตกว่า 15% เตรียมหาตลาดใหม่ บุก เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ออสเตรเลียและอเมริกาใต้
นาย วิบูลย์ ว่องวีรชัยเดชา นายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย เปิดเผยถึง ทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ไทย ในอนาคตของปี 2007 ว่า “ จาก ปี 2006 ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งในเดือนนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอุตสาหกรรมไอทีของไทย ได้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 12.6 % หรือมีมูลค่าประมาณ 141,426 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ รองลงมาคือกลุ่มฮาร์ดแวร์ บริการทางด้านคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารข้อมูล ตามลำดับ”
“ สำหรับในปี 2007นี้ ในภาพรวม มีแนวโน้มว่าตลาดอุตสาหกรรมไอทีของไทยจะยังสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นอีก 15 % หรือมีมูลค่าประมาณ 162,717 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2007 ( 4.0 -5.0 % ) เนื่องมาจากปัจจัยบวกด้านต่างๆ จาก หลายประการ เช่น ความสามารถในการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐบาล ราคาน้ำมันในประเทศมีเสถียรภาพมากกว่าปี 2006 ผนวกกับ อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลง และ ความเป็นไปได้ในนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการใช้จ่ายซื้อสินค้ามากกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงการลงทุนสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น”
นาย วิบูลย์ ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “ ในส่วนการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในด้านไอที ในปี2007 จะมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ( GDP ) เพิ่มขึ้นเป็น 2.22% โดยกลุ่มที่มีการใช้จ่ายทางด้านไอทีสูง ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสำนักงานขนาดเล็กและโฮมออฟฟิส (โซโห SOHO) กลุ่มการศึกษา ส่วนราชการซึ่งน่าจะมีโครงการจัดซื้อเพิ่มขึ้น และกลุ่มโฮมยูส ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2007 กลุ่มต่างๆเหล่านี้ จะมีกำลังการซื้อเติบโตที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่สถานการณ์บ้านเมือง และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงได้คลี่คลายลงหรือลดความตึงเครียดลง”
“ ส่วนการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ได้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังขยายตัวได้อีก ประมาณ 8 — 10 % และมียอดจำหน่าย 1.4 — 1.5 ล้านเครื่อง จากการสำรวจความต้องการซื้อสินค้าเทคโนโลยีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพช่วงเดือนสิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ 8% ต้องการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ค 56% ( ซึ่งมีอัตราการขยายตัวประมาณ 40 — 50 % ต่อปี ) ต้องการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ ตั้งโต๊ะ 46% ( มีอัตราการขยายตัวประมาณ 10 — 15 % ต่อปี )”
“ ทั้งนี้คาดว่าราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์จะปรับลดลง แม้ว่าชิ้นส่วนประกอบหลายชิ้นส่วนมีแนวโน้มปรับราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่พยายามนำเสนอสินค้าที่มีราคาต่ำลงและตัดอุปกรณ์เสริมบางอย่างเพี่อลดต้นทุนและยอมรับกำไรต่อเครื่องลดลง ทั้งในกลุ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเครื่องโน้ตบุ๊ค การปรับลดราคาเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นในกลุ่มผู้ผลิตคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์ที่มีความได้เปรียบในด้านของความแข็งแกร่งของตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับจากตลาดทั่วโลก พร้อมกับมีบริการหลังการขายที่ดีและมีการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะของแต่ละแบรนด์อยู่เสมอ ส่งผลให้การทำตลาดสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้มากด้วยการปรับราคาลงเพื่อเพิ่มยอดขาย และยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โลคอลแบรนด์ในปัจจุบันที่มีราคาจำหน่ายต่ำกว่า ทำให้ต้องเร่งปรับกลยุทธ์การแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งคอมพิวเตอร์ที่เป็นโลคอล แบรนด์นั้นยังต้องมีการพัฒนาการยอมรับของตราสินค้า บริการหลังการขายและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับตลาดที่เติบโตเพิ่มขึ้น”
“นอกจากนี้ ในส่วนของตลาดต่างประเทศและการส่งออก ยังมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโลก จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวลง โดยล่าสุดมีอัตรา GDP เพิ่มขึ้นเพียง 1.6% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่องในปี 2007 ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศแกนนำอื่นๆ ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น ส่อเค้าชะลอตัวในปีหน้าเช่นกัน โดยคาดว่าจะกดดันให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอลงอยู่ในระดับ 4.9% ในปี 2550 ซึ่งจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลุ่ม EU และญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย มีแนวโน้มชะลอลงในปี 2007 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอทีประมาณ 30 —40% คือในส่วนของ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจร เครื่องจักรกล ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบในระดับปานกลางต่ออุตสาหกรรมไอทีของไทย
“จากการที่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2007 และได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนั้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ควรจะให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการในการมองหาตลาดใหม่ซึ่งจัดเป็นตลาดรองของไทย ประกอบด้วย ประเทศเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เป็นต้น โดยประเทศคู่ค้าของไทยกลุ่มนี้นับเป็นตลาดที่ส่งออกที่มีศักยภาพและทีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ การส่งออกของไทยไปยังตลาดใหม่เหล่านี้ยังสามารถขยายตัวได้อีกในอนาคตอันใกล้” นาย วิบูลย์ กล่าวสรุป