กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--มูลนิธิกระจกเงา
หวัดมรณะ สายพันธุ์ใหม่ จากเม็กซิโก
จากข่าวที่ดังไปทั่วโลกที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ กับไข้หวัดมรณะ ที่เกิดในในภูมิภาค ลาตินอเมริกา ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนในประเทศเม็กซิโก ไปถึง 159 คน และอีก 2 คนในอเมริกา (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 52) ซึ่งพบผู้ติดเชื้อชนิดนี้อีกหลายพันคนในเม็กซิโก ล่าสุดองค์การอนามัยโลก ได้เพิ่มระดับความรุนแรง ของโรคไข้หวัดชนิดนี้เป็นระดับ 4 จาก 6 ระดับ ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ทำให้เกรงกันว่าจะย้อนรอยเหมือนไข้หวัดสเปน ซึ่งคร่าชีวิตมนุษย์ไปหลายสิบล้านคน หรือไข้หวัดนก ซึ่งได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ที่เกิดขึ้นมาแล้ว ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเจ้าเชื้อไวรัสชนิดนี้กันก่อน
ไวรัส เป็นศัพท์จากภาษาลาตินแปลว่า พิษ ในตำราชีววิทยาเก่าของไทยคำว่าไวรัสอาจเรียกว่า วิสา อันเป็นการทับศัพท์ในยุคแรกจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่า พิษ เช่นเดียวกัน ปัจจุบันคำว่า ไวรัส หมายถึงจุลินทรีย์ที่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ ทั้งในมนุษย์, สัตว์, พืช และ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นสิ่งมีชีวิตมีเซลล์ ทำให้เกิดโรคที่ส่งผลกระทบกว้างขวาง จึงมีความสำคัญที่จะต้องศึกษาทั้งในทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ ไวรัสเป็นปรสิตอยู่ในร่างของสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่สามารถเติบโตหรือแพร่พันธุ์นอกเซลล์อื่นได้ ไวรัสอาจถือได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มีลักษณะของการเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงประการเดียวคือสามารถแพร่พันธุ์ได้ อย่างไรก็ตามไวรัสไม่ใช่จุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กที่สุด ยังมีจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กกว่าไวรัสคือ ไวรอยด์ (viroid) และ พริออน (prion) ไวรัสชนิดแรกที่ค้นพบคือไวรัสใบยาสูบด่าง ซึ่งค้นพบโดยมาร์ตินัส ไบเยอรินิค ใน ค.ศ. 1899
เชื้อไวรัสถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้จากการดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาแม้ว่าจะมีกำลังขยายถึง 100 เท่าก็ตาม เชื้อไวรัสต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศอิเลคตรอน ซึ่งมีกำลังขยายตั้งแต่ 5,000 เท่าขึ้นไป จึงจะทำให้มองเห็นได้ เชื้อไวรัสสามารถที่จะแบ่งตัว ขยายจำนวนได้ในเซลล์ของร่างกายคนเรา โดยเซลล์ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ อาจถูกทำลายไป หรืออาจถูกรุกราน ทำให้เซลล์นั้นทำงานได้ไม่เหมือนปกติ ก่อให้เกิดอาการของโรคต่างๆ ได้ อาการและโรคบางชนิดที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ อาการไอหรือไข้ในเด็กเป็นต้น นอกจากนี้โรคฮิตในปัจจุบันก็คือ โรคเอดส์ก็มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเช่นกัน
โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะไม่มียารักษาโดยเฉพาะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นโรคบางโรคที่ทำให้เกิดอาการไม่ร้ายแรง ก็อาจหายไปได้เอง เพียงแต่รักษาตามอาการที่มีอยู่ มีการพักผ่อนที่เพียงพอ แต่โรคบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการร้ายแรง เช่น โรคเอดส์ ก็ยาวที่จะทำให้หายไปได้ เพราะยังไม่มียาที่จะไปฆ่าเชื้อไวรัสเหล่านั้นได้(ข้อมูลจาก http://www.bangkokhealth.com )
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A, B และ C
1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์และสัตว์หลายชนิด เช่น ม้า สุกร นก ไก่ เป็นต้น โรคไข้หวัดใหญ่ที่พบในมนุษย์มีสาเหตุเกิดจาก type A ประมาณร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของการระบาดใหญ่ทั่วโลกด้วย ที่สำคัญ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินินและนิวรามินิเดสไปจากเดิมมากจนกระทั่งเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ
2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบรองลงมาจาก type A ก่อการติดเชื้อเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น มักพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B มีการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของฮีแมกกลูตินินเช่นกัน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากพอที่จะจัดเป็นสายพันธุ์ใหม่
3. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด C พบว่ามีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์และสุกร แต่ไม่ค่อยมีความสำคัญ มนุษย์ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการอย่างอ่อน คุณสมบัติของไวรัสชนิดนี้ค่อนข้างแตกต่างไปจาก type A และ B
แอนติเจนของไวรัสไข้หวัดใหญ่
1. ฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin, H) ทำหน้าที่ในการจับกับโปรตีนตัวรับบนผิวเซลล์ ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ได้ โปรตีนตัวรับพบได้ในเมือกที่ปกคลุมทางเดินหายใจ และพบบนผิวเม็ดเลือดแดงด้วย ฮีแมกกลูตินินมีคุณสมบัติในการทำให้เม็ดเลือดแดงของมนุษย์หมู่เลือดโอและสัตว์บางชนิด เช่น ไก่ และหนูตะเภา เกิดปฏิกิริยาเกาะกลุ่ม ซึ่งคุณสมบัตินี้นำมาใช้ตรวจหาไวรัสได้ ฮีแมกกลูตินินของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A แบ่งออกเป็น 15 subtypes คือ H1, H2, H3... H15 ทั้ง 15 subtypes พบได้ในนก แต่เชื้อที่พบในมนุษย์ในปัจจุบันมีอยู่ 3 subtypes คือ H1, H2, และ H3 ส่วน subtypes อื่นๆ มีการติดเชื้อในสัตว์ต่างๆ กัน เช่น สุกร ม้า แมวน้ำ และปลาวาฬ ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B และ C ยังไม่มีการแบ่งฮีแมกกลูตินินออกเป็น subtype
2. นิวรามินิเดส (neuraminidase, N) เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยไกลโคโปรตีนซึ่งเป็นตัวรับบนผิวเซลล์ ทำให้ไวรัสหลุดเป็นอิสระจากเซลล์ เนื่องจากโมเลกุลของไกลโคโปรตีนนี้พบได้ในเมือกที่ปกคลุมทางเดินหายใจด้วย ทำให้ไวรัสถูกดักจับติดกับเมือกได้เมื่อเมือกจับไวรัสไว้ ไวรัสจะใช้เอนไซม์นี้ย่อยทำให้เมือกใสขึ้น ไวรัสจึงหลุดออกไปบุกรุกเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจที่อยู่ลึกลงไป ในปัจจุบันนี้ นิวรามินิเดสของเชื้อไข้หวัดใหญ่ type A แบ่งออกเป็น 9 subtypes ด้วยกัน คือจาก N1, N2, N3... N9 โดยเชื้อที่พบในมนุษย์เป็น N1 และ N2 ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B และ C ยังไม่มีการแบ่งนิวรามินิเดสออกเป็น subtype
ลักษณะของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
1. มีรูปร่างหลายแบบ เช่น กลม หรือเป็นสายยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 นาโนเมตร แต่พวกที่เป็นสายยาวอาจมีความยาวหลายไมโครเมตร
2. สายพันธุกรรมเป็น RNA สายเดี่ยวมี polarity เป็นลบ และแยกเป็นชิ้น โดย types A และ B มี 8 ชิ้น ส่วน type C มี 7 ชิ้น
3. ชั้นนอกของไวรัสเป็นเปลือกหุ้ม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมัน และไกลโคโปรตีน บนเปลือกหุ้ม มี spikes สองชนิดคือฮีแมกกลูตินิน ซึ่งมีรูปร่างเป็นแท่ง และนิวรามินิเดส ซึ่งมีรูปร่างเหมือนดอกเห็ด spikes 2 ชนิด รวมกันมีจำนวนประมาณ 500 ก้าน จำนวนของ H : N มีอัตราส่วนประมาณ 4-5: 1
4. ไวรัสไข้หวัดใหญ่มี transcription และ genome replication เกิดขึ้นในนิวเคลียส ซึ่งแตกต่างจาก RNA viruses ทั่วไป ที่มีการเพิ่มจำนวนในไซโตพลาสซึมเท่านั้น
5. ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ไม่ทนต่อความแห้ง ถูกทำลายได้ง่ายโดยน้ำยาฆ่าเชื้อซึ่งเป็นสารเคมีชนิดต่างๆ ที่ใช้กันแอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
6. เชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ได้นานในสิ่งขับถ่าย และสิ่งคัดหลั่ง เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย และเสมหะ
7. สามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย หรือมีการเปลี่ยนยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อ 2 subtypes ที่แตกต่างกัน กลายเป็น subtype ใหม่ ซึ่งทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้ และเป็นสาเหตุที่ก่อระบาดวิทยาใหญ่ทั่วโลกบ่อยกว่าไวรัสอื่น
การเปลี่ยนแปลงแอนติเจน
1. เนื่องจากไวรัสมีจีโนมเป็น RNA และเป็นท่อน และมีการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด เช่น สัตว์ปีก ม้า และสุกร เป็นต้น จึงทำให้จีโนมของไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงพันธุรรมได้ค่อนข้างบ่อย การเปลี่ยนแปลงจีโนมทำให้แอนติเจนซึ่งเป็นผลผลิตของยีนเปลี่ยนแปลงไปด้วย
2. antigenic shift พบเฉพาะในไวรัสไข้หวัดใหญ่ type A เท่านั้น เกิดขึ้นจากขบวนการ gene reassortment คือ การที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2 ฃนิด ซึ่งเป็น type A เหมือนกับมีการติดเชื้อในเซลล์เดียวกัน ในขั้นตอน self assembly เพื่อประกอบขึ้นเป็นอนุภาค อาจมีการนำชิ้นจีโนมบางชิ้นของไวรัสชนิดนึ่งใส่เข้าไปในอนุภาคของไวรัสอีกชนิดหนึ่ง จึงได้อนุภาคของไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งมีแอนติเจนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการเปลียน subtype ของ H และหรือ N ก็ได้ และเนื่องจากประชาชนไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดใหม่ เชื้อจึงทำให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น
3. การระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสไข้หวัดใหญ่ผ่านมาแล้วหลายครั้ง เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อมี antigenic shift ดังกล่าว ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบใน species ต่างๆ ในปัจจุบันเชื่อว่ามีวิวัฒนาการมาจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ของนกน้ำ
4. antigenic drift เป็นการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย พบได้ในไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุก type แต่ไม่มากพอที่จะเป็น H และ N subtypes ใหม่ การเปลี่ยนแปลงชนิด antigenic drift อาจทำให้เกิดการระบาดได้ในวงไม่กว้างนัก
5. กลไกในการเกิด antigenic drift เชื่อว่าเกิดจากขบวนการ point mutation ภายในจีโนม เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีเอนไซม์ RNA polymerase ซึ่งไม่มี proof reading activity ความผิดพลาดในการ replicate จีโนมพบได้ในอัตรา 1/10*4 bases ในแต่ละ replication cycle จากอัตราส่วนนี้จะพบว่ามีไวรัสชนิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่บางอนุภาคเท่านั้นที่จะเพิ่มจำนวนได้ต่อไป
วงจรการติดต่อข้ามชนิดสัตว์
1. ตามปกติเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกจะพบ H1-H15 และ N1-9 ซึ่ง H และ N สามารถจับคู่ผสมกัน แต่ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในกลุ่มของ H5 และ H7
2. เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสุกรพบอยู่ในกลุ่มของ H1N1, H1N2 และ H3N2
3. เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในกลุ่ม H1N1, H2N2 และ H3N2
4. เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนข้ามไปมาระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ ได้ โดยปรากฎสมมติฐานการติดต่อจากนกน้ำชนิดต่างๆ มายังเป็นหรือไก่ ผ่านสุกรที่เป็นตัวกลางผสมผสานไวรัสก่อนที่มาติดต่อถึงมนุษย์
5. โดยปกติในเซลล์ของมนุษย์จะไม่ปรากฏโมเลกุลตัวรับไวรัสที่มาจากสัตว์ปีก ส่วนในสุกรจะมีตัวรับไวรัสทั้งมนุษย์ และสัตว์ปีก ตามธรรมชาติของไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้ซึ่งมีองค์ประกอบของสารพันธุกรรมซึ่งเป็น 8 ชิ้นส่วน แต่ละชิ้นส่วนเป็นรหัสควบคุมการสร้างโครงสร้างต่างๆ ของไวรัส รวมทั้ง H และ N ซึ่งมีความหลากหลาย
6. สุกรจึงมีโอกาสรับเชื้อไวรัสจาก 2 แหล่งคือจากสัตว์ปีก และมนุษย์ซึ่งจะเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์เดียวกัน ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการจับคู่ชิ้นส่งวนของ RNA เกิดเป็นไวรัสย่อยชนิดใหม่ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนของไวรัสปรากฏเป็นคู่หมายเลขใหม่ของ H และ N หากทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในมนุษย์จะเป็นไวรัสใหม่ซึ่งมนุษย์ไม่เคยสัมผัส และไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อใหม่นั้น อาจทำให้เกิดโรครุนแรง และหากสามารถติดต่อจากมนุษย์หนึ่งไปสู่อีกมนุษย์หนึ่งได้ก็อาจทำให้เกิดการระบาดได้ในพื้นที่กว้างออกไป
(ข้อมูลจากBangkokhealth.com)
การขยายพันธุ์ของไวรัส
ไวรัสตามธรรมชาติจำเป็นจะต้องเข้าไปเจริญและทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น ไวรัสจะสามารถเจริญและทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตเท่านั้น ไวรัสจะสามารถเจริญและทวีแพร่พันธุ์ในเซลล์ชนิดใดนั้น แล้วแต่ชนิดไวรัสในการเจริญทวีแพร่พันธุ์ของไวรัสมีขั้นตอนดังนี้
1. ไวรัสจะต้องเข้าไปภายในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิต
2. ไวรัสจะต้องสร้างกรดนิวคลีอิคขึ้นใหม่ในเซลล์ของสิ่งที่มีชีวิตนั้นได้ (replicating nucleic acid)
3. ไวรัสจะต้องสร้างโปรตีนหุ้ม (coat protein) ห่อหุ้มกระนิวคลีอิคเพื่อให้เกิดไวรัสที่สมบูรณ์
ไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดเม็กซิโก คืออะไร?
ไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดเม็กซิโก ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า A/H1N1 ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดหมูพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม หรือ “Antigenetic Shift” ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู และไข้หวัดใหญ่ อาจเข้าไปอยู่ในตัวหมูที่เป็นพาหะนำโรค ต่อมาเซลล์ในตัวหมูถูกไวรัสตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปโจมตี ทำให้หน่วยพันธุกรรมไวรัสดังกล่าวผสมปนเปกันระหว่างการแบ่งตัว กลายเป็นเชื้อพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ตามปกติเชื้อไข้หวัดหมูจะติดคนที่สัมผัสหมูโดยตรงเท่านั้น เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าหมู แต่เชื่อว่าอาจแพร่จากคนสู่คนผ่านการไอ การจาม หรือรับเชื้อจากวัสดุที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่บนพื้นผิว แต่การบริโภคผลิตภัณฑ์จากหมูไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ฟังดูน่ากลัวไม่ใช่น้อย
ไวรัส ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่มีลักษณะพันธุกรรม หรือยีน แตกต่างจากไวรัสไข้หวัดหมูในอดีต เพราะมีองค์ประกอบของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์รวมอยู่ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.เชื้อไข้หวัดนกที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ 2.เชื้อไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ และ 3.เชื้อไข้หวัดหมูที่พบบ่อยในทวีปยุโรปและเอเชีย
อาการที่บ่งบอกว่าติดเชื้อไวรัสชนิดนี้
ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ขึ้นสูง ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง และปวดศีรษะรุนแรง ซึ่งสามารถทำให้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง นั้นถึงแก่ชิวิตได้เลยทีเดียว
สถานการณ์ในประเทศต่างๆ
เม็กซิโก
- ทางการเม็กซิโกต้องสั่งปิดโรงเรียน ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ และสถานที่สาธารณะที่เป็นแหล่งรวมตัวของฝูงชนในกรุงเม็กซิโกซิตี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งตัวเลขที่ยืนยันได้อยู่ที่ 68 คน และมีผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 คน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ได้ติดต่อประสานงาน กับหน่วยงานสาธารณสุขของเม็กซิโกแล้ว และกำลังหวั่นเกรงว่าไวรัสที่พบล่าสุดจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน รวมทั้งกำลังพิจารณาว่าจะต้องออกประกาศเตือนการเดินทางไปเม็กซิโกหรือไม่
- ยอดผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดหมู่ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็น 81 คน และมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,324 คน รัฐบาลเม็กซิโกออกคำสั่งพิเศษเมื่อวานนี้ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขสามารถแยกกักตัวผู้ป่วย ตลอดจนตรวจค้นบ้านเรือน นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศพร้อมทั้งกระเป๋าสัมภาระเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู ขณะที่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ไปประจำที่สนามบินในกรุงเม็กซิโกซิตี้เพื่อแจกแบบสอบถามให้ผู้โดยสารเครื่องบินระบุว่ามีอาการไข้หวัดหรือไม่ ตลอดจนมีการแจกหน้ากากอนามัย และเอกสารแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดหมูแก่ประชาชนตามสถานีรถโดยสาร และรถไฟฟ้าใต้ดิน นอกจากนี้ยังสั่งปิดโรงเรียนทั่วเมืองหลวง และอีกหลายรัฐจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม
- ขณะเดียวกันรัฐมนตรีสาธารณสุขเม็กซิโกได้ปฏิเสธกระแสคาดการณ์ของสื่อในประเทศที่รายงานว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐอาจได้สัมผัสกับเชื้อโรคไข้หวัดหมูในช่วงที่เยือนกรุงเม็กซิโกซิตี้เมื่อ 10 วันที่แล้ว หลังโรคดังกล่าวเริ่มระบาดในพื้นที่ดังกล่าว ขณะเดียวกันทำเนียบขาวของสหรัฐยืนยันแล้วว่าโอบามาไม่ได้ป่วยด้วยอาการของไข้หวัดหมู
- ประธานาธิบดีเฟลิเป้ คัลเดรอน เตือนว่า ประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัสชนิดใหม่ แต่พยายามคลายความหวาดกลัวของประชาชนโดยยืนยันว่าโรคไข้หวัดหมูชนิดนี้รักษาให้หายได้ และทางการมียารักษาโรคในปริมาณมากเพียงพอ
สหรัฐอเมริกา
- สหรัฐฯรายงานว่าผู้ติดเชื้อไข้หวัดหมู 8 คนที่รัฐแคลิฟอร์เนียกับรัฐเท็กซัส หายดีแล้ว แต่เมื่อวันเสาร์ได้รายงานผู้ป่วยคนที่ 9 ในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งหายดีแล้วเช่นกัน และพบสามีภรรยาคู่หนึ่งในรัฐแคนซัสที่ป่วยหลังสามีกลับมาจากเม็กซิโก แต่อาการป่วยไม่รุนแรง ในวันเดียวกัน มีรายงานนักเรียนกว่า 100 คนในย่านควีนส์ของรัฐนิวยอร์ค กับญาติบางคน มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัด แต่ไม่รุนแรงขึ้นขั้นต้องเข้าพยาบาล มีการยืนยันแล้วว่าเด็กคนเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ซึ่งอาจเกิดจากไข้หวัดหมู แต่กำลังมีการตรวจสอบเพิ่มเติมอยู่ (ล่าสุดข้อมูลวันที่ 29 เมษายน 52 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 คน)
- ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคสหรัฐ หรือซีดีซี คาดว่า จะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกไปทั่วประเทศในตอนนี้เพราะยังไม่เกิดภาวะที่เรียกว่าโรคระบาด แม้จะยอมรับว่า เชื้อไวรัสที่พบล่าสุดเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนโดยผสมกันระหว่างไวรัสสายพันธุ์ที่พบในหมู นก กับในคน
แคนาดา
- เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแคนาดาให้แพทย์ช่วยเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจของผู้ที่เดินทางมาจากเม็กซิโก ศูนย์ควบคุมโรครัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา แถลงว่า อาการของผู้ป่วยหนักในเม็กซิโก ได้แก่ ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตา หายใจไม่สะดวก และร่างกายเหนื่อยล้ามาก โดยอาการป่วยจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรงภายในเวลา 5 วัน
ฝรั่งเศส
- รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่าน่าจะพบภายในไม่กี่วันนี้ เพราะมีการสัญจรทางอากาศทั่วโลก จึงได้สั่งปิดโรงเรียนฝรั่งเศสในกรุงเม็กซิโก ซิตี้แล้ว และให้คำแนะนำแก่พลเมืองของตนในเม็กซิโกเพื่อป้องกันไว้ก่อนตลอดจนการเดินทางระหว่างประเทศ โดยประสานงานกับองค์การอนามัยโลกและศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดด้วย
อังกฤษ
- ที่สหราชอาณาจักร รัฐบาลได้จัดทำสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ ให้กับประชาชน
(ข้อมูลจาก : Bangkokhealth.com)
ข้อมูลการแพร่กระจาย ของเชื้อไวรัสชนิดนี้
- จากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ นอกจากจะพบในประเทศเม็กซิโก ซึ่งเป็นต้นตอของไวรัสชนิดนี้แล้ว ยังพบผู้ที่ติดเชื้อในประเทศต่างๆอีก เช่น อเมริกา แคนาดา สเปน และอังกฤษ ( ข้อมูลจาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000047652 )
1.ประเทศ เม็กซิโก (ทั้งประเทศ)
2.ประเทศ อเมริกา รัฐ แคลิฟอร์เนีย เท็กซัส นิวยอร์ก แคนซัส โอไฮโอ
3.แคนาดา รัฐ บริติชโคลอมเบีย โนวาสโกเทีย
(ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ข้อมูลเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552)
เตรียมรับสถานการณ์ในประเทศไทย
1.การประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ หรือไข้หวัดหมู ซึ่งจะออกเป็นประกาศกระทรวงแจ้งให้ประชาชน และหน่วยงานขององค์กรสาธารณสุขทราบถึงสถานการณ์ของโรคเป็นระยะ ทั้งนี้จากการประสานงานกับองค์การอนามัยโลกทราบว่า แต่ละประเทศตื่นตัว และจัดหามาตรการดูแลประชาชนด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบการระบาดมากขึ้นองค์การอนามัยโลกอาจประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการกินเนื้อหมู ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ติดตามเรื่องนี้และยังไม่พบเชื้อดังกล่าวในหมูแต่อย่างใด
2.จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่เคยพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดังกล่าว และจากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ต้นปี 2552 -ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 3,159 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่แตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังโรค รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย การเตรียมเครื่องมือและเวชภัณฑ์
การป้องกัน
1. การป้องกันทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ล้างมือบ่อยๆ กรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ call acenter ให้ประชาชนสอบถามสถานการณ์ของโรคได้ที่หมายเลข 0-2590-3333
2. เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีการแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป เชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือ และสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก หากป่วย และมีอาการดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด ประชาชนทั่วไปควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก ผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ล้างมือบ่อยๆ
คำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข
เรื่อง โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก
ฉบับที่ 1
เนื่องจากในขณะนี้ได้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ เอช1เอ็น1) แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน มีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยปอดบวม และผู้เสียชีวิตกระจายไปมากในหลายเมืองของประเทศเม็กซิโก และจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 27 เมษายน 2552 มีผู้ป่วยที่มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการในเม็กซิโก 28 ราย ในสหรัฐอเมริกา 40 ราย แต่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยใน 5 มลรัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย 7 ราย เทกซัส 2 ราย นิวยอร์ก 28 ราย แคนซัส 2 ราย และโอไฮโอ 1 ราย นอกจากนั้น ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อหลังกลับจากเม็กซิโก ในแคนาดา สเปน และสกอตแลนด์
เนื่องจากปัจจุบันโรคติดเชื้อต่างๆ สามารถแพร่ระบาดระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เข้ามาในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการอย่างยิ่งการเพิ่มระดับความเข้มข้นของการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบ ร่วมกับการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาลผู้ป่วย การสำรองยาต้านไวรัส เวชภัณฑ์ต่างๆ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้เดินทางที่สนามบินนานาชาติ โดยแจกบัตรเตือนเรื่องสุขภาพ และวัดไข้ด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ สำหรับการป้องกันโรคนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตน ดังนี้
1.หากไม่จำเป็น ควรเลื่อนหรือชะลอการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง
2.หากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด
3.ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัวมาก ฯลฯ ภายใน 7 วันหลังจากเดินทางกลับ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชู หรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างเข้มงวด
4.รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย
4.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาด และนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา
4.2 หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม
4.3 หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้าน หรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุข หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที
หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลข 0-2590-3333 และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th
ไวรัสในเม็กซิโกนั้นเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคชนิดต่างๆที่ต่างปรับตัวเพื่อเอาชนะตัวยาต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อทำลาย แต่กลไกของธรรมชาติก็มีวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เพื่อให้คงอยู่รอดในสภาวะต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป การที่มีการเสียชีวิตของคนที่เม็กซิโกนั้นก็เป็นเหมือนสัญญานเตือนให้เราระวังไว้ว่า การที่จะจัดการเชื้อโรคต่างๆๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และเราก็ไม่ควรละเลยกับข่าวสารต่างๆที่ออกมา เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับสถานกาณณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
โครงการพัฒนาการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา 29 เมษายน 2552