กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--นิวส์ เพอร์เฟคฯ
จากตัวเลขที่ประเทศไทยนำเข้าแม่พิมพ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากกว่าการส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมามีการนำเข้าแม่พิมพ์ถึง 20,195 ล้านบาท ในขณะที่ส่งออก 8,776 ล้านบาท สถาบันไทย-เยอรมัน จึงเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ด้วยโครงการพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และการพัฒนาบุคลากรของอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้ง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ขึ้น โดยมอบหมายให้สถาบันไทย-เยอรมัน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน ระยะเวลาโครงการ 6 ปี จากปี พ.ศ. 2547 — 2552 และใช้งบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น 1,690 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่วางไว้เป็นอย่างดี
นายชาญชัย ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันโครงสร้างด้านเศรษฐกิจของประเทศ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในรอบหลายปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งต้องใช้แม่พิมพ์ในการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนา ส่งเสริม และสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
“สำหรับรางวัลต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ หรือ Mould & Die Best Practice Factory นี้ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอีกขั้นหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของประเทศไทย และผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่านในครั้งนี้ ล้วนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทย ให้เจริญรุดหน้า นำไปสู่การลดปริมาณการนำเข้าสินค้าด้านแม่พิมพ์ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย ” นายชาญชัย กล่าว
รศ.ณรงค์ วรงศ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ โดยมีมูลค่าตลาดถึง 20,000 กว่าล้านบาทต่อปี สถาบันไทย-เยอรมัน ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมนี้ ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก นำไปสู่การลดปริมาณการนำเข้า และเพิ่มศักยภาพในการส่งออก
“ สำหรับโครงการพัฒนาต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นี้ เป็นกิจกรรมภายใต้ ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ที่มีความตั้งใจในการพัฒนาธุรกิจแม่พิมพ์ของตนเอง โดยกว่าที่ผู้ประกอบการ จะสามารถรับรางวัลได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น เริ่มจากการวินิจฉัยสถานะของแต่ละโรงงาน และปรับปรุงกระบวนการผลิตแม่พิมพ์ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านการปรับปรุง และคัดเลือกให้ได้รับรางวัลนี้ จะเป็นต้นแบบของโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงพัฒนาให้กับผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป ”
รางวัล Mould & Die Best Practice Factory 2008 ในครั้งนี้ ถือเป็นการมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นรุ่นที่ 2 โดยในปีนี้บริษัทที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย
1. บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไทยนิตโชอิ จำกัด
3. บริษัท คินโนะ โฮชิ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่ คุณยอดยิ่ง แสนยากุล
โทร. 0-2956-5276 E-mail : pr@newsperfect.co.th