กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
ผลการสำรวจล่าสุดโดยฝ่ายบริการด้านชำระเงินและบริหารเงินสด ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เปิดเผยว่า ภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลก และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ตอกย้ำความสำคัญของวิธีการบริหารเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ
ธนาคารเอชเอสบีซี ได้เปิดเผยผลสำรวจดังกล่าว พร้อม ๆ กับการเปิดตัวคู่มือการบริหารจัดการ เงินสดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เล่มล่าสุด ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจองค์กรธุรกิจ 300 แห่งในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อประเมินทิศทางการดำเนินธุรกิจที่แต่ละองค์กรให้ความสำคัญในปี 2552 โดยพบว่า การบริหารเงินทุนเป็นเรื่องที่องค์กรธุรกิจต่างให้ความสำคัญมากที่สุด
ในขณะที่การดำเนินงานขององค์กรโดยทั่วไป มุ่งคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน และประสิทธิภาพการขายและการตลาด แต่พบว่า การบริหารเงินทุนกลายเป็นปัจจัย ชี้วัดความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจ
มร. จอห์น ลอเรนซ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายบริการด้านชำระเงินและบริหารเงินสด ธนาคาร เอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวถึงคู่มือบริหารจัดการเงินสดเล่มล่าสุดว่า เป็นคู่มือที่จัดพิมพ์ขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 โดยมีเนื้อหาที่ใกล้ตัวและเป็นประโยชน์แก่ลูกค้าและตลาดโดยรวมมากขึ้น นักบริหารเงินขององค์กรที่กำลังมองหาข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงการบริหารเงิน คู่มือเล่มนี้ถือเป็นแหล่งข้อมูลอันดับต้น ๆ ที่นักการเงินมืออาชีพเลือกใช้เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารเงินที่ได้รับการยอมรับว่ายอดเยี่ยม ธนาคารฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเศรษฐกิจที่ท้าทายเช่นนี้
มร. ลอเรนซ์ กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จในระยะยาวของทุกองค์กรธุรกิจขึ้นอยู่กับการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารที่ได้รับการยอมรับด้านบริหารเงินสดเพื่อให้บริการด้านการเรียกเก็บเงิน การชำระเงิน และบริหารสภาพคล่องทางการเงินอย่างเหมาะสมกลายเป็นสิ่งจำเป็น คู่มือบริหารเงินสดเป็นหนังสือคู่มือที่จำเป็นสำหรับทุกองค์กรธุรกิจที่กำลังมองหาวิธีการทันสมัยที่ใช้ปฏิบัติกันในธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายและโอกาสทางธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
ข้อมูลอื่น ๆ จากผลสำรวจ ระบุว่า ขณะที่องค์กรธุรกิจกำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกลับไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2552 ได้
นอกจากนี้ ร้อยละ 68 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ฝ่ายบริหารเงินขององค์กรธุรกิจมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และร้อยละ 62 ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำยังช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการจัดการเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นด้วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่ ร้อยละ 43 ของลูกค้าตอบว่า ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด รองลงมาคือ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (ร้อยละ 35) และปัญหาทุจริตภายในองค์กร (ร้อยละ 3)
เอชเอสบีซี มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือองค์กรธุรกิจต่าง ๆ สำหรับการติดตั้งระบบการเรียกเก็บเงินสด เพื่อช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กร ลดต้นทุนการเก็บเงิน และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
แบบสำรวจการบริหารเงินครั้งนี้จัดทำผ่านระบบออนไลน์ โดยฝ่ายบริการด้านชำระเงินและบริหารเงินสดธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
1. ธนาคารเอชเอสบีซีในประเทศไทย
เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เปิดสำนักงานให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินการธนาคารและเครือข่ายสาขากว้างขวางทั่วโลก รวมกับความรู้ความชำนาญของบุคลากรภายในประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดให้บริการด้านการเงินและการธนาคารเต็มรูปแบบ ทั้งบริการด้านเงินฝาก สินเชื่อธุรกิจ พาณิชย์ธนกิจ ธุรกิจสถาบันการเงิน บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน บริการดูแลและรับฝากหลักทรัพย์ บริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการด้านการชำระเงินและบริหารเงินสดแก่ลูกค้าประเภทองค์กร ตลอดจนบริการบุคคลธนกิจและธุรกิจบัตรเครดิตแก่ลูกค้าประเภทบุคคล ธนาคารเอชเอสบีซีได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในด้านบริการที่ได้มาตรฐานสูง ความมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ และเจตนารมณ์ในการมุ่งมั่นบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606