กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สสวท.
ขาดแคลนครูฟิสิกส์มือฉมัง ส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่มองเมินว่าเป็นวิชาโหด หิน เวทีนี้.....ช่วยได้
ไม่แปลกใจเลยที่ประเทศไทยส่งเยาวชนผู้มีความสามารถเข้าร่วมแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียเป็นประจำทุกปี และที่ผ่านมาหัวกะทิเหล่านี้ก็ไม่ได้กลับมามือเปล่า หากแต่พาเหรียญรางวัลกลับมาให้คนไทยชื่นชมต่อเนื่อง ประกาศความสามารถของเด็กไทยให้ต่างชาติได้รับรู้ถึงศักยภาพในระดับแถวหน้าของโลก
และแล้วปีนี้ประเทศไทยก็ได้รับความเชื่อมั่นให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย ครั้งที่ 10 ระหว่าง 24 เมษายน — 2 พฤษภาคม 2552 โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมฟิสิกส์ไทย มีเหล่าหัวกะทิจากเพื่อนบ้านเข้าร่วมแข่งขัน 15 ชาติ รวม 17 ทีม จำนวน 119 คน
เวทีนี้แม้ว่าเด็กไทยจะกวาดเหรียญรางวัลเด่นๆ กลับมาได้ทุกปี แต่เหตุใดความสนใจวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะฟิสิกส์ ของเยาวชนบ้านเรากลับไม่น่าปลื้มเหมือนผลเหรียญ ?
แถมยังน่าเป็นห่วงเพราะเด็กไทยสนใจเรียนฟิสิกส์น้อย ส่งผลถึงอนาคตการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
รศ.สุวรรณ คูสำราญ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับเอเชีย ครั้งที่ 10 ให้ความเห็นว่า ถ้าดูจากผลการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชียที่ผ่านมาแล้วถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะเด็กไทยสามารถคว้าเหรียญทอง ชนะประเทศคู่แข่งขันเด่นๆ อย่างเช่น จีน ซึ่งเป็นแชมป์ระดับนานาชาติได้
“การแข่งขันนี้ให้โอกาสเด็กไทยได้แสดงความสามารถ กระตุ้นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น เด็กรุ่นหลังๆ ที่เห็นรุ่นพี่ของเขาประสบความสำเร็จจะเกิดแรงบันดาลใจ ใฝ่ฝัน และอยากมีโอกาสเหมือนรุ่นพี่บ้าง” รศ.สุวรรณชี้ให้เห็นถึงผลดีการแข่งขันที่ช่วยสนับสนุนบรรยากาศการเรียนฟิสิกส์ของบ้านเรา และเป็นแรงผลักดันส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ สนใจทุ่มเทในวิชาที่บ่นกันนักหนาถึงความโหด หินอย่าง “ฟิสิกส์”
อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับไปดูเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยโอลิมปิกวิชาการจะพบว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ล้วนมาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ซึ่งมีไม่กี่โรงเรียนเท่านั้น
ดังนั้นปีนี้เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน จึงนับเป็นโอกาสดีที่เราได้ส่งทีมเข้าร่วมแข่ง 2 ทีม โดยเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนที่มีความสามารถในโครงการโอลิมปิกฯ จากโรงเรียนในแต่ละภูมิภาคได้มีประสบการณ์เข้าร่วมแข่งขัน และเพิ่มความรู้ฟิสิกส์ในระดับสูง เพื่อขยายโอกาสและกระตุ้นความสนใจวิชาฟิสิกส์ได้กว้างขวางครอบคลุมยิ่งขึ้น
ในทางตรงกันข้ามเมื่อหันมามองภาพรวม รศ.สุวรรณ เผยว่าเด็กไทยส่วนใหญ่มองว่าฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากและไม่เห็นความสำคัญ ทั้งๆ ที่ฟิสิกส์คือ การศึกษาธรรมชาติรอบตัว ทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยฟิสิกส์ แต่เด็กๆ ขาดคนค่อยชี้แนะ กระตุ้นให้เขาอยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
“ ครู ผู้ปกครอง โรงเรียน และสังคมมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมเด็ก เพราะถ้าเขาสงสัยแต่ไม่สามารถถามใครได้ ศักยภาพที่มีอยู่ก็ไม่ได้รับการพัฒนา นอกจากนี้บ้านเราก็ขาดแคลนครูผู้สอนทั้งในระดับโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ในระดับมหาวิทยาลัยเองก็เริ่มมองเห็นปัญหานี้แล้ว” รศ.สุวรรณ สะท้อนภาพปัญหาปัจจุบัน
“เราขาดความจริงจังและความต่อเนื่อง ไม่มีเป้าหมายในการพัฒนาว่าจะยึดอะไรเป็นหลัก ที่ผ่านมา นโยบายการศึกษาพุ่งไปตามกระแส ไม่มีแผนที่ชัดเจนว่าเราต้องการให้ประเทศเราเดินไปทิศทางไหนในอีก 5 ปีข้างหน้า”
นอกจากนี้ประเด็นค่านิยมในสังคมก็เข้ามามีบทบาทสูงมาก เด็กเก่งมักเลือกเรียนแพทย์มากกว่าเรียนวิทยาศาสตร์เพราะมองไม่เห็นเส้นทางประกอบอาชีพสายนี้ ซึ่งรศ.สุวรรณอธิบายว่าฟิสิกส์เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง โดยเฉพาะเทคโนโลยีทุกด้านที่ต้องอาศัยหลักการของฟิสิกส์ คนที่เรียนฟิสิกส์ สามารถนำฟิสิกส์ไปพัฒนาด้านการแพทย์ได้ โดย่พัฒนาเครื่องมือแพทย์ต่างๆ หรือประยุกต์ในงานด้านวิศวกรรมที่สำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมในวงกว้าง
งานวิจัยด้านฟิสิกส์ที่กำลังเป็นที่ต้องการของบ้านเรามีหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะประยุกต์ใช้พัฒนา นาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีช่องทางขยายประโยชน์ได้กว้างขวาง หรือนำไปใช้พัฒนาธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ต่างๆ ได้มากมาย อันล้วนแต่ต้องอาศัยการวิจัยค้นคว้าองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์ทั้งสิ้น
รศ.สุวรรณย้ำว่าหากเรามองฟิสิกส์เป็นเรื่องยากและน่ากลัว การปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่สนใจฟิสิกส์ก็คงเป็นเรื่องยากตามไปด้วยแน่ แต่ถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกอย่างอธิบายได้ด้วยฟิสิกส์ เด็กๆก็จะมองเห็นความงามของฟิสิกส์ เกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ เหมือนกับน้องๆ ผู้แทนประเทศไทยฯ ที่มองเห็นความสวยงามของวิชานี้ สามารถสานต่อด้วยแรงใจและไฟแห่งความมุ่งมั่น สร้างคืนวันอันภาคภูมิใจได้สำเร็จ
วันนี้ “เด็กๆ” กลุ่มหนึ่งได้ทำหน้าที่สร้างชื่อเสียงแสดงศักยภาพด้านฟิสิกส์ให้ประเทศของเราแล้ว สำหรับวันพรุ่งนี้คงเป็นหน้าที่ของ“ผู้ใหญ่”ทุกฝ่าย ที่ต้องช่วยกันคิดช่วยกันส่งเสริมเยาวชนไทยให้สนใจและเห็นคุณค่าของฟิสิกส์ที่มีต่อชีวิต การงาน และพัฒนาอนาคต
ผู้แทนประเทศไทยฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเชีย(จากซ้าย ) ธิปก รักอำนวยกิจ , วีรภัทร พิทยครรชิต, วีรชาติ ศรีสโมสร, นครินทร์ โลหิตศิริ , สรณภพ เทวปฏิคม, ธนภัทร วรศรัณย์ , จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์, อิสระพงศ์ เอกสินชล