กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สวทช.
สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1ล่าสุด องค์การอนามัยโลก(WHO)เตือนระดับการแพร่ระบาดเป็นระดับ 5 คือมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสติดจากคนสู่คนในกลุ่มกว้างมากขึ้น ขณะที่หลายคนยังสงสัยว่า “ทำไมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ 2009 เอช 1 เอ็น 1” จึงแพร่จากคนสู่คนได้เร็วยิ่งนัก แต่ไข้หวัดนกกลับยังไม่พบการแพร่จากคนสู่คน ?
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักวิชาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. อธิบายว่า เหตุผลที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่จากคนสู่คนได้ดี เนื่องจากชิ้นส่วนพันธุกรรม ทั้ง 8 ท่อน ของไวรัสสายพันธุ์นี้ มีความคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ของคน หมู และสัตว์ปีก โดยจุดสำคัญคือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นี้ มีส่วนของโปรตีนฮีมแอกลูตินิน(Hemagglutinin) หรือ HA ที่อยู่บนผิวไวรัส เป็นชนิด H1 ซึ่งมีความคล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดทั่วไปในคน ด้วยเหตุนี้โปรตีน H1 ของไวรัสจึงเข้าจับกับโปรตีนที่อยู่บริเวณผิวของเซลล์มนุษย์ได้อย่างดี และส่งผลให้เชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นการไอหรือจาม ที่แม้จะมีเชื้อไวรัสเพียงเล็กน้อย แต่เชื้อไวรัสก็สามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและเพิ่มจำนวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ไข้หวัดนกยังไม่พบการแพร่จากคนสู่คน เนื่องจากชนิดของโปรตีนฮีมแอกลูตินินของไวรัสไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ไม่สามารถจับกับโปรตีนบริเวณผิวเซลล์มนุษย์ได้ ด้วยลักษณะบางประการที่แตกต่างระหว่างโปรตีนบนผิวเซลล์ของสัตว์ปีกและมนุษย์ เชื้อจึงทำได้เพียงแค่ก่อโรคในคน ส่วนการแพร่จากคนสู่คนนั้นยังคงเป็นไปได้ยาก
ดร.นำชัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางการรับมือที่ทุกฝ่ายต่างเร่งดำเนินการขณะนี้ คือ 1. การพัฒนาชุดตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่สามารถให้ผลตรวจอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำ 2. การผลิตวัคซีนที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติจะต้องใช้เวลาการผลิตประมาณ 6 เดือน และ 3 การพัฒนายาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพมากว่า โอเซลทามิเวีย (Oseltamivir) หรือ เร่งดำเนินการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียให้มากเพียงพอ เพื่อเตรียมรับมือกับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด
อย่างไรก็ดีแม้วิทยาศาสตร์และประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขจะมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงเวลาการเริ่มต้นศตวรรษใหม่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มนุษย์กลับต้องเผชิญกับโรคร้ายแรงที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่มาแล้วถึง 3 สายพันธุ์ คือ ไข้หวัดนก-ซาร์-ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โรคอุบัติใหม่ร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในชั่วพริบตา ด้วยเหตุนี้“ไวรัสกลายพันธุ์” จึงยังคงเป็นเชื้อมรณะที่ต้องเฝ้าระวังและจับตามองทุกขณะ
ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461-1462 thaismc@nstda.or.th