กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--พม.
วันนี้ (๔ พ.ค.๒๕๕๒) เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในการแถลงข่าว “การเมืองเรื่องระหว่างเพศ : มาตรฐานและตัวชี้วัด” ว่า ความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน มนุษย์ทุกคนไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม โดยจัดทำมาตรการ กลไก กฎหมาย และแผนยุทธศาสตร์รองรับการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น จัดตั้งกลไกส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐ ๑๙ กระทรวง ๑๒๙ กรม และ ๔ หน่วยงานอิสระ ที่เรียกว่า Chief Gender Equality Officer — CGEO และ Gender Focal Point - GFP ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐที่ให้การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายทั้งภายในหน่วยงานและในกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน การจัดทำแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นแผนฯ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๔) การแก้ไขกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อสตรีหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.๒๕๔๘ พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ.๒๕๕๑ รวมทั้ง การเสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา เป็นต้น
นางนวลพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ร่วมกับโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำมาตรฐานและตัวชี้วัดความเสมอภาคระหว่างหญิงชายระดับประเทศ ซึ่งเป็นการจัดทำมาตรฐานและตัวชี้วัดระดับประเทศที่จะทำให้ทราบถึงผลการพัฒนาของประเทศในภาพรวม โดยใช้มุมมองด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายเป็นฐานในการวิเคราะห์และประเมินผลของการพัฒนาที่เกิดขึ้น หากประเทศไทยสามารถใช้มิติของความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและเป็นกระแสหลักการพัฒนาของโลกมายาวนานเข้าไปสู่กระบวนการพัฒนาในทุกด้านได้แล้ว ก็จะทำให้ประเทศสามารถก้าวไปสู่การพัฒนาในระดับสากลได้อย่างรวดเร็ว
นายศุภฤกษ์ หงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายลงสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องเจตคติ ความคิด ความเชื่อของคนในสังคม จำเป็นต้องใช้ความพยายาม ความอดทน และเวลาในการดำเนินงาน ขณะนี้ สค. ได้วางแนวทางการดำเนินงานไว้ ๓ ขั้นตอน คือ ๑) ส่งผ่านนโยบายให้กับหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีความเข้าใจ และให้ทุกหน่วยงานจัดทำข้อมูลแยกเพศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา ๒) ดำเนินการผ่านกลไกการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย หรือ CGEO และ GFP ของหน่วยงาน เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการส่งเสริมความเสมอภาคตามมาตรฐานและตัวชี้วัดความเสมอภาคระหว่างหญิงชายของประเทศ และ ๓) สร้างภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน การเมือง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันศาสนา เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายตามมาตรฐานและตัวชี้วัดให้เกิดขึ้นในสังคมไทย