กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--คต.
นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ABC Sub - Committee on Trade ได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งปัญหาจากการใช้มาตรการทางการค้าของ EU ซึ่งมาเลเซียได้แจ้งว่า จากการเข้าร่วมประชุม ChemCon Asia 2009 เมื่อวันที่ 2 — 6 มีนาคม 2552 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับทราบข้อมูลข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ REACH ของ EU แต่อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นต้องติดตามและทำความเข้าใจต่อผลกระทบของกฎระเบียบ REACH ต่อไป เช่นเดียวกับไทยที่ยังมีความกังวลต่อแนวทางการปฏิบัติของผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ REACH เช่นเดียวกัน ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งโครงสร้างตามขั้นตอนของระเบียบดังกล่าวเพื่อหารือระหว่างภาครัฐและเอกชนรวมถึง Stakeholders ในการจัดการกับปัญหาการปฏิบัติตามกฎระเบียบ REACH ซึ่งขณะนี้ต่างก็ไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมด เนื่องจากขึ้นอยู่กับการจัดความสำคัญของภาคเอกชนและกฎระเบียบ REACH มีขั้นตอนการปฏิบัติที่มีระยะเวลานาน ทั้งนี้ภาครัฐจึงต้องสร้างพันธมิตรกับภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังมีข้อสงสัยหรือคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎระเบียบและการปฏิบัติต่อสินค้าตามเขตพรมแดนของแต่ละประเทศสมาชิกซึ่งอาจมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันมีเพียง 8 ประเทศสมาชิก EU ที่ยังไม่ได้ออกกฎระเบียบบังคับใช้ในเรื่องนี้ ทำให้สหรัฐฯ ต้องการผลักดันให้ EU ดำเนิน การในประเด็นเหล่านี้ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น สำหรับแผนการจัดตั้งหน่วยงานที่เฮลซิงกิของสหรัฐฯ นั้นยังไม่มีความคืบหน้า แต่อย่างไรก็ตามสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเฮลซิงกิ จะเป็นผู้ประสาน งานกับหน่วยงาน ECHA ของ EU ไปก่อน
รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม Committee on TBT ครั้งที่ 47 แจ้งว่า ประเทศต่างๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น เม็กซิโก สหรัฐฯ และไทยได้แสดงความกังวลต่อความยุ่งยากและซับซ้อนของกฎระเบียบ REACH โดยเฉพาะประเด็นการกำหนดให้ประเทศที่ 3 ต้องดำเนินการผ่านตัวแทนที่ได้รับมอบหมายหรือ OR ที่ตั้งใน EU เท่านั้น รวมทั้งวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศสมาชิก EU เป็นต้น สำหรับประเทศไทยได้เน้นย้ำต่อที่ประชุมฯ ถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs อย่างไรก็ดี EU แจ้งว่า ปัจจุบันมีการจดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้าแล้วประมาณ 2.7 ล้านคำขอ ซึ่งแสดงถึงการมีประสิทธิผลอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีวิธีดำเนินการที่แตกต่างกันซึ่งก็เป็นเรื่องของหน่วยปฏิบัติ (Enforcement Authorities) ของประเทศสมาชิกที่จะออกกฎหมายภายในเพื่อควบคุมให้เป็นไปตามกฎระเบียบ REACH อย่างไรก็ดีหากเกิดกรณี Enforcement Authorities ในการตีความการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ REACH ที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการสามารถจะนำเรื่องขึ้นสู่กระบวนการ EU Court of Justice เพื่อจะรับผิดชอบการตัดสินต่อไป