กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--บีโอไอ
รัฐมนตรีชาญชัย ปลื้มการจัดสัมมนา 3 เมืองใหญ่ในออสเตรเลีย นักธุรกิจเข้าร่วมรวมกว่า 300 ราย ส่วนใหญ่ไม่กังวลการเมืองไทย และสนใจมาตรการพิเศษเร่งรัดการลงทุนของบีโอไอ ทูตฯ บัณฑิต เตรียมยกคณะนักธุรกิจบริสเบนมาไทยปลายเดือนพ.ค. ด้านเลขาธิการบีโอไอ คาดสำนักงานใหม่บีโอไอ ณ นครซิดนีย์ จะขยายโอกาสการลงทุนมากยิ่งขึ่น
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการสัมมนา โอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ณ นครซิดนีย์ ว่า การเดินทางมาชักจูงการลงทุนจากออสเตรเลียในครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากนักธุรกิจชาวออสเตรเลียเป็นอย่างดี โดยการจัดกิจกรรมสัมมนาทั้งในนครซิดนีย์ เมลเบิร์น และเมืองบริสเบน มีนักธุรกิจชั้นนำของออสเตรเลีย เข้าร่วมงานกว่า 300 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความสนใจที่มีต่อประเทศที่เพิ่งผ่านสถานการณ์ทางการเมืองมาอย่างประเทศไทย
นายชาญชัยกล่าวด้วยว่า การมาออสเตรเลียในครั้งนี้ นอกจากมาชักชวนให้ไปลงทุนในไทยแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมก็รับนโยบายจาก นายกรัฐมนตรี มาสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ว่า รัฐบาลได้ปรับให้ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามากัน ภายใต้ระบบของรัฐสภา ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น และไม่เกิดความรุนแรงขึ้นอีก
นอกจากนี้ นักลงทุนออสเตรเลียยังแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจ และหาผู้ร่วมทุนในประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ผลจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ได้ช่วยขยายโอกาสและสนับสนุนค้าการลงทุนระหว่างไทยกับออสเตรเลียอย่างมาก
โดยการสัมมนาในนครซิดนีย์ มีนักลงทุนเข้าร่วมงานกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการชักชวนให้เข้ามาลงทุนในไทย ประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ ไอซีที ตลอดจนภาคบริการ อาทิ การเงิน การศึกษา
สำหรับการจัดสัมมนาที่นครเมลเบอร์น นักลงทุนเข้าร่วมงานทั้งหมด 80 ราย โดยกว่าครึ่งได้แสดงความสนใจจะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย โดยได้พูดคุยและสอบถามถึงรายละเอียดของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างละเอียด
โดยนักลงทุนในเมลเบอร์น ที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการด้วยคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานทดแทน เครื่องจักร การผลิตอุปกรณ์ขนส่ง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล กิจการบำบัดน้ำเสียและการรักษาสิ่งแวดล้อม
กิจการที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ก็คือ การผลิตอุปกรณ์สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ใช้ได้ทั้งบนถนนและบนราง ซึ่งผู้ผลิตของออสเตรเลีย มีความสนใจจะหาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทย มารับช่วงการผลิต
ส่วนการจัดสัมมนาในเมืองบริสเบน มีนักธุรกิจชั้นนำ และบริษัทรายใหญ่ของรัฐควีนส์แลนด์ เข้าร่วมงานประมาณ 45 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ เคยเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในไทยและมีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย
ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ ได้จัดให้คณะของกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอ ได้พบปะหารือกับนายไมเคิล ชอย รัฐมนตรีช่วยด้านทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และการค้า ของรัฐควีนส์แลนด์ ตลอดจนนักธุรกิจชั้นนำของควีนส์แลนด์ ซึ่งทำให้ทราบว่ามีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และรัฐบาลควีนส์แลนด์ก็ต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนกับประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านที่ควีนส์แลนด์มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบราง
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ชวนให้รัฐบาลและนักธุรกิจควีนส์แลนด์เข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งก็ได้ตอบรับที่จะมาประเทศไทย ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเอกอัครราชทูตไทย นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์ จะนำกลุ่มนักธุรกิจจากบริสเบน อาทิ ธุรกิจด้านการขนส่งระบบราง และการต่อเรือ เดินทางมาศึกษาหาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย
“ นักลงทุนออสเตรเลียให้ความสนใจต่อมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการเมกกะโปรเจกต่างๆ และมีความสนใจต่อ มาตรการพิเศษเพื่อเร่งรัดการลงทุน ภายใต้นโยบายปีแห่งการลงทุนของบีโอไอ ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ออสเตรเลียมีความสนใจได้แก่ เมกกะโปรเจก เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และกิจการชิ้นส่วนยานยนต์” นายชาญชัยกล่าว
ด้านนายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการพบปะพูดคุยกับนักลงทุนออสเตรเลีย และนายมาร์ติน พาคูล่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และการค้า ของรัฐวิกตอเรีย ทำให้ทราบว่า นักลงทุนออสเตรเลียไม่กังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และมีความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในประเทศของไทย และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่บีโอไอต้องทำในตอนนี้ คือ ทำให้นักลงทุนในประเทศเป้าหมาย เชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นแหล่งน่าลงทุนของประเทศไทย และเลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่จะเข้ามาลงทุน เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว นักลงทุนจากต่างประเทศ ที่เราได้ใกล้ชิดเพื่อสร้างความมั่นใจต่อประเทศไทย จะได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย
ทั้งนี้ บีโอไอกำลังจะเปิดสำนักงานในต่างประเทศเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ สำนักงานที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนมิถุนายน สำนักงานในเมืองกวางโจว ประเทศจีน ในเดือนสิงหาคม และสำนักงานในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในเดือนกันยายน
สำหรับการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในประเทศออสเตรเลีย กระทรวงอุตสาหกรรม โดยบีโอไอ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในออสเตรเลียเป็นอย่างดี ประกอบด้วย สภาธุรกิจไทย-ออสเตรเลีย รัฐบาลควีนส์แลนด์ สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งออสเตรเลีย และกลุ่มความร่วมมือนักธุรกิจควีนส์แลนด์-ไทย ซึ่งจัดตั้งโดย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา นายบัณฑิต โสตถิพลาฤทธิ์
สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีคุณกาญจนา นพพันธ์ เป็นผู้อำนวยการ โดยตั้งอยู่เลขที่ 234 ชั้น 1 จอร์จสตรีท ซิดนีย์ นิวเซ้าท์เวลส์ ออสเตรเลีย 2000 โทร (02) 9241 2542 อีเมล์ Sydney@boi.go.th