กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
“รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันกระทรวงการคลังมีเงินพอสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลตลอดปี 52 และเตรียมแผนการบริหารเงินไว้ถึงปี 53 โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณ รวมทั้งเงินกองทุนของภาครัฐต่าง ๆ”
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ต้นเดือนพฤษภาคม 2552 เงินคงคลังมีจำนวน 80,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยสูงกว่าเงินคงคลังต้นเดือนเมษายน 2552 ที่มีเงินคงคลังประมาณ 40,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2552 คาดว่ารัฐบาลจะมีเงินสดรับสูงกว่าเดือนปกติ คือ 129,700 และ 314,900 ล้านบาท ตามลำดับ สาเหตุสำคัญจากการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ทำให้เงินรายรับสูงกว่ารายจ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินกู้เพิ่ม 94,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการบริหารเงินของกระทรวงการคลัง หากจัดหารายได้ต่ำลงมากกว่าที่คาดการณ์ ทั้งนี้กระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องใช้ เงินนอกงบประมาณที่อยู่กับส่วนราชการ รวมทั้งเงินกองทุนของภาครัฐต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารเงินสดแต่อย่างใด
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยปกติกรมบัญชีกลางจะมีการประมาณการทั้งกระแสเงินสดรับและเงินสดจ่ายเป็นรายวัน ตลอดจนประมาณการเงินสดรับและเงินสดจ่ายตลอดทั้งปี จึงสามารถที่จะบริหารเงินคงคลังได้ โดยเงินคงคลังในระดับนี้จึงไม่มีปัญหาแต่อย่างไร และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดึงเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ มาใช้จ่าย
“สำหรับเงินนอกงบประมาณ นั้น มีอยู่หลายประเภท เช่น เงินรายได้ที่หน่วยงานจัดเก็บและกระทรวงการคลังอนุญาตให้นำไปใช้จ่ายได้โดยฝากไว้ที่บัญชีเงินคงคลัง หรือเงินที่อยู่ในความควบดูแลเองของหน่วยงานซึ่งมีกฎหมายอื่นอนุญาตให้หน่วยงานเก็บและนำไปใช้จ่าย ซึ่งเงินดังกล่าวถือเป็นเงินแผ่นดินประเภทเงินนอกงบประมาณเช่นกัน และกรมบัญชีกลางในฐานะที่มีหน้าที่ในการบริหารการใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดิน จึงเห็นว่า หากเงินดังกล่าวมีการบริหารการใช้จ่ายเงินที่ดีก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดของหน่วยงานและถ้านำมาฝากคลังได้ก็จะเกิดผลดีในการบริหารเงินคงคลังซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศ อย่างไรก็ดี ในการบริหารเงินของแผ่นดิน
เพื่อรักษาสภาพคล่องในการใช้จ่ายเงินคงคลังมีหลายช่องทางด้วยกัน โดยกรมบัญชีกลางจะประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งจะบริหารตราสารหนี้ต่าง ๆ เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือการออกตั๋วเงินคลัง ระยะสั้น ๆ ก็ได้ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางด้านการคลัง” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว