แล้งเพิ่มเป็น 27 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Wednesday January 25, 2006 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ปภ.
มท.1 สั่งช่วยด่วน ให้ตั้งจุดแจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง โดยให้คำนึงถึงความเดือดร้อนเป็นหลัก
พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ขณะนี้ได้เกิดภัยแล้งขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมแล้ว 27 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2549) 167 อำเภอ 17 กิ่งอำเภอ 1,074 ตำบล 10,512 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด (ชัยภูมิ ยโสธร มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี เลย นครพนม ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สกลนคร หนองคาย) ภาคเหนือ 9 จังหวัด (พิษณุโลก นครสวรรค์ ลำพูน แพร่ อุทัยธานี เชียงราย กำแพงเพชร ตาก ลำปาง) ภาคกลาง 3 จังหวัด (กาญจนบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี) ภาคตะวันออก 2 จังหวัด (ปราจีนบุรี สระแก้ว) ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 870,523 ครัวเรือน 3,518,810 คน ประชาชนเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายแล้ว 615,148 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 153,362,877 บาท และคาดว่าจะเสียหายอีก 1,431,512 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 330,650,434 บาท และคาดว่าสถานการณ์จะลุกลามและยาวนานไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2549
ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน พร้อมทั้งมูลนิธิต่าง ๆ เร่งระดมให้การช่วยเหลือด่วน ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ได้ระดมเครื่องสูบน้ำจากทุกภาคส่วน จำนวน 68 เครื่อง สร้างทำนบ/ฝายเก็บกักน้ำ(ชั่วคราว) 37 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ 6 แห่ง และในส่วนของการให้ความช่วยเหลือเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้จัดรถบรรทุกน้ำ ออกแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ว 1,526 เที่ยว ปริมาณน้ำ 213,744,000 ลิตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้นในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งรวม 31,162,209 บาท พร้อมนี้ได้สั่งให้จังหวัดที่ประสบภัยแล้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งขึ้นทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ/กิ่งอำเภอ และจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น เป่าล้างบ่อบาดาล แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ เพื่อควบคุมดูแลการจัดสรรน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความรุนแรงของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญและให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและมิให้สถานการณ์ภัยแล้งลุกลามรุนแรงไปมากกว่านี้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ