ซายน์พาร์คจับมือ มก. ปั้น “ไซอาร์ม” ผลิต “ระบบซ้อมรบ” สายเลือดไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday May 7, 2009 11:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ทหารและตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องดูแลประเทศชาติและรับผิดชอบในชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้อาวุธ ซึ่งอาศัยการหมั่นฝึกซ้อมนับเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง รวมถึงการมีระบบฝึกซ้อมที่ดี ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝึกซ้อมมากขึ้นด้วย บริษัท ไซอาร์ม จำกัด (Sci - ARMS Co., ltd) ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 จากความสนใจส่วนตัวในด้านเลเซอร์และการทหารของนักศึกษาหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงจากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล คือ นายพันธ์เวสส์ สุขวนิช และหุ้นส่วนคือ นางสาววาสนา การภักดี ซึ่งต้องการสร้างระบบซ้อมรบที่ทหารสามารถนำไปใช้ฝึกซ้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมบันเทิงและกีฬาอย่าง Laser Tag ที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ หรือแม้แต่จะนำไปใช้ร่วมกับกีฬาอย่าง BB Gun ที่ฮิตในบ้านเราก็ได้ ทั้งสองจึงร่วมกันพัฒนาระบบ RAIDZ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยนำข้อด้อยและข้อดีของระบบMILES(Multiple Integrated Laser Engagement System) BB Gun และ Laser Tag ซึ่งระบบRAIDZ ใช้การส่งสัญญาณเลเซอร์พลังงานต่ำเป็นตัวส่งสัญญาณ ทำให้เกิดเป็น “RAIDZ” หรือ “เครื่องช่วยฝึกสำหรับยิงปืนเล็ก” นายพันธ์เวสส์ สุขวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซอาร์ม จำกัด กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นระบบซ้อมรบที่ทหารสามารถนำไปใช้ฝึกซ้อมในรูปแบบต่างๆในสถานะการณ์สมมุติได้ เช่น การชิงตัวประกัน การสู้รบระหว่างสองทีม การเข้าโจมตีรูปตัววี (V) เป็นต้น และจะประกอบด้วยหมวกกับเสื้อ จอแอลซีดี และชุดยิงเลเซอร์สำหรับปืนเล็กยาวแบบ M 16 โดยหมวก,เสื้อ และชุดยิงเลเซอร์ จะสื่อสารด้วยระบบไวเลส ซึ่งจะช่วยในการประมวลผล ทำให้รู้ว่าถูกยิงบริเวณใด ตัวเสื้อ สามารถใช้ฝึกทำการรบต่อเนื่องได้นานถึง 18 ชั่วโมง ส่วนจอแอลซีดีนั้นใช้รัดที่ต้นแขน ซึ่งจะมีข้อมูลแจ้งเกี่ยวกับตำแหน่งของร่างกายที่โดนยิงว่าตอนนี้สภาพร่างกายเราเป็นอย่างไร เสียเลือดไปเท่าไร หรือจำนวนกระสุนที่เหลือ ด้านเลเซอร์ที่ใช้นั้นเป็นแสงกำลังส่งต่ำ จึงไม่เป็นอันตรายต่อ“ดวงตา” ข้อดีของระบบRAIDZ คือ ผู้ใช้งานสามารถที่จะฝึกทักษะการใช้อาวุธ และ ยุทธวิธีในสถานะการณ์เสมือนจริงมากที่สุด โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่ายกายของผู้ใช้ และมีราคาที่ประหยัด นอกจากนี้ระบบยังสามารถนำข้อมูลของการฝึกซ้อมการเล่นของทุกคนมาประมวลผลได้ทันทีหลังจากที่จบการซ้อม ทำให้ทราบว่าใครโดนยิงบ้าง โดนยิงเวลาใด ที่ตำแหน่งไหนบนร่างกาย คนที่ยิงใช้กระสุนอะไร ซึ่งหากเป็นระบบที่มีใช้กันอยู่ปัจจุบัน จะต้องเสียเวลานำข้อมูลของแต่ละคนมาใส่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน แล้วจึงประมวลผลภายหลังอีกทั้งในขณะซ้อม ยังมีปืนกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่คอยชุบชีวิตในกรณีที่ต้องการให้ผู้เล่นคนเดิมลงสนามซ้ำ หรือจับผิดในกรณีที่มีการโกงได้อีกด้วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซอาร์ม จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบ RAIDZ นี้ใช้เวลาพัฒนาทั้งหมด 3 ปี ตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งบริษัท หลักการพื้นฐานของระบบคือ จะใช้การส่ง/รับสัญญาณแสงอินฟราเรด โดยผู้เล่นจะติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณทั้งตัว และจะติดตั้งอุปกรณ์ยิงสัญญาณ แสงจะถูกยิงไปยังเป้าหมายคือ ทีมตรงกันข้าม แสงที่ใช้จะเป็นแสงในย่านอินฟราเรดความเข้มต่ำ จึงปลอดภัยสำหรับดวงตา (Eye-Safe IR) สามารถใช้ได้ทั้งกลางแจ้งและในอาคาร มีความแม่นยำสูง (ลำแสงขนาน) หากใช้ในเวลากลางวัน มีระยะยิงสูงสุด 600 เมตร แต่หากใช้งานตอนกลางคืน จะสามารถยิงได้ไกลถึง 800 เมตร ซึ่งหากเป็นกระสุนของ BB Gun จะยิงได้ไกลเพียง 50 เมตร ปัจจุบันระบบ RAIDZ มี 2 รุ่น คือ I และ II ซึ่งมีความแตกต่างที่รุ่น I เป็นระบบออนไลน์ และ II เป็นระบบออฟไลน์ ที่ทำให้สามารถประยุกต์ใช้งานกับสภาพต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น” สำหรับปืนที่นำมาใช้ในระบบ RAIDZ มีความพิเศษตรงที่ปืนจะมีไอดีเฉพาะตามผู้ใช้แต่ละคน แต่ก็สามารถเปลี่ยนเจ้าของได้เหมือนกับปืนจริงๆ เช่น หากเจ้าของปืนเสียชีวิต (ในการซ้อม) ผู้ร่วมทีมเดียวกัน หรือฝ่ายตรงข้ามสามารถหยิบปืนนั่นๆ มาเป็นปืนของตนเองได้ ซึ่งระบบก็จะเปลี่ยนไอดีให้เป็นไอดีเจ้าของใหม่ภายใน 3 วินาที นายพันธ์เวสส์ กล่าวอีกว่า “ราคาต่อชุดที่ประกอบด้วยหมวก เสื้อ และเลเซอร์ มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงครึ่งหนึ่ง ข้อดีอื่นที่มีมากกว่า คือ ยังมีจอแอลซีดีแสดงผลที่เกิดขึ้น เลเซอร์ที่สามารถยิงได้ไกลถึง 600 เมตร และมีระบบไวเลสในตัวเองอีกด้วย” ด้านนายพลาเดช เฉลยกิตติ รักษาการ ผู้อำนวยการ ฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวด้วยว่า “หน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)ได้ลงนามร่วมกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อคัดเลือกบริษัทภายใต้การดูแลของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีมก. ให้สามารถเข้ารับบริการต่างๆ จากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีของซายน์พาร์คเป็นเวลา 3 ปี เสมือนเป็นลูกค้าของซายน์พาร์คเองโดยยังสามารถใช้สำนักงานอยู่ที่ มก. ได้ ทำให้บริษัทที่ได้รับคัดเลือกได้รับบริการจากทั้งสองแห่ง ช่วยเสริมศักยภาพและความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัท ซึ่งไซอาร์มเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับคัดเลือก เนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน พร้อมทั้งมีแนวโน้มการเติบโตของตลาดสูง” น่าภาคภูมิใจกับระบบซ้อมรบทางทหารที่คนไทยสามารถพัฒนาขึ้นมาได้เองภายใต้การสนับสนุนการทำงานจากหน่วยงานภาครัฐอย่างศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ซึ่งหากได้รับการส่งเสริมให้มีการนำไปใช้อย่างจริงจัง คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าระบบจากต่างประเทศ รวมทั้งเป็นผลงานการพัฒนาจากฝีมือคนไทย ที่อาจกลายเป็นสินค้าส่งออกยอดฮิตทำรายได้ให้กับประเทศต่อไป งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : โทร. 0 2270 1350 - 4 ต่อ 114-115 อีเมล์ : prtmc@yahoo.com

แท็ก ทศชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ