ผู้ผลิตเซรามิก ‘Sasin’ เพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุนการผลิต ระบุ ไม่หวั่นวิกฤตเศรษฐกิจโลก เตรียมเดินหน้าสร้างแบรนด์

ข่าวทั่วไป Thursday May 7, 2009 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--มทส. เครือข่าย iTAP (มทส.) จัดส่งผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษเข้าพัฒนาประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกให้กับ “ บริษัท ศศินทร์ พอทเทอรี่ จำกัด ” ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก กรรมการผู้จัดการ ระบุ เศรษฐกิจที่หดตัวไม่ได้ทำให้บริษัทฯ สะดุด ‘แค่ก้าวที่ช้าลง’ มั่นใจ ผลจากการพัฒนา ช่วยบริษัทฯ ลดภาระต้นทุน และของเสียลงได้ เท่ากับผลผลิตและกำไรที่จะเพิ่มขึ้น เตรียมเดินหน้าขยายตลาดออกไปทั้งในอังกฤษและยุโรปมากขึ้น พร้อมสร้างแบรนด์ ‘Sasin’ รับมือวิกฤตฯ ผลิตภัณฑ์ “เซรามิก” ของไทย ยังคงได้รับความนิยมจากตลาดโลกแม้เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาวิกฤติส่งผลให้ยอดขายหรือออร์เดอร์อาจปรับลดลงไปบ้าง แต่สำหรับผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สามารถยืนอยู่ได้ในเวทีโลกวันนี้ เกิดจากการเตรียมพร้อมของตัวเอง การปรับปรุงพัฒนาตนเอง การจัดการกับปัญหาในโรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แก้ไขจุดด้อยหรือจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง โดยเฉพาะปัญหาของเสีย การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพและสามารถสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้เพิ่มมากขึ้นผู้ประกอบการรายนั้นก็ย่อมได้เปรียบกว่ารายอื่นๆ ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ดังเช่น บริษัท ศศินทร์ พอทเทอรี่ จำกัด ตั้งอยู่ ต.คลองเรือ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ที่ไม่ได้มองข้ามกับปัญหาภายในกลับให้ความสนใจในการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการไทยที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากพิษเศรษฐกิจ นายชยา ปิ่นปัก กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศศินทร์ พอทเทอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินกิจการผลิตผลิตภัณฑ์กระเบื้องเคลือบเซรามิก อาทิ Tableware และของประดับตกแต่ง ฯลฯ มาตั้งแต่ปี 2542 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตตามออร์เดอร์ ส่งออกตลาดต่างประเทศ 100% โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป มียอดขายปีละมากกว่า 100 ล้านบาท แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกยอดคำสั่งซื้อซบเซาลงบ้างตามสถานการณ์ แต่บริษัทฯ ได้ปรับแผนรองรับทั้งการพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้น พร้อมขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี บริษัทฯ ได้มีการดำเนินการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมา โดยนำเครื่องจักรรุ่นใหม่ๆ เข้ามาใช้ จากเดิมที่กระบวนการผลิตส่วนใหญ่เป็นการใช้ฝีมือแรงงานจึงขาดหลักวิชาการที่ถูกต้อง ทำให้เกิดของเสียขึ้นเป็นจำนวนมาก “ปัญหาเรื่องของเสียและตำหนิบนผลิตภัณฑ์ นับเป็นปัญหาหลักของบริษัทฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง จึงต้องการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อลดของเสีย และเพิ่มเปอร์เซ็นต์ผลผลิตให้ได้ 85% รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและเทคนิคการผลิต เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะแปลกใหม่และคุณภาพสูงขึ้น ที่สำคัญสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถขยายตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น” นายชยา กล่าว บริษัทฯ ได้เข้ารับความช่วยเหลือจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ใน ‘ โครงการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพของเคลือบ และโครงการการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Tableware ’ โดยโครงการ iTAP ได้สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการปรับปรุงคุณภาพให้สูงขึ้น จากเดิมมีปริมาณของเสียมาก เนื่องมาจากทั้งบุคลากร และการขาดความรู้ทางเทคนิค บริษัทฯ มีการพัฒนาปรับปรุงเครื่องจักรและเตาเผาเซรามิก นำไปสู่การลงทุนติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติม ทำให้สายการผลิตมีความต่อเนื่องมากขึ้น ลดการสูญเสียระหว่างการผลิต เพิ่มเปอร์เซ็นต์ผลผลิตได้เป็น 85% นอกจากนี้บริษัทยังมีความสามารถในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีลวดลายสีสันที่หลากหลายเพิ่มขึ้น รองรับความต้องการของตลาดที่เน้นงานแฟชั่น และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า “ การเข้าร่วมโครงการ iTAP ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อบริษัท ทั้งการลดต้นทุนเรื่องพลังงาน ความสามารถในผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะสินค้าที่มีความซับซ้อน รวมถึงยอดการส่งออกที่มากขึ้น นอกจากนี้ บุคลากรของบริษัทยังได้รับการพัฒนาทักษะและความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้น และมีความรู้ทางเทคนิคเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการออกแบบ การเคลือบ ลดการใช้แรงงาน และสามารถใช้เครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพสูงขึ้น และทำงานได้ทันกับความต้องการ ” ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพนักงานกว่า 300 คน มีกำลังการผลิตถึง 500,000 ชิ้นต่อเดือน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาและฝืดเคือง แต่ทั้งนี้ นายชยา กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ แม้บริษัทฯจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ไม่ถึงกับทำให้เราสะดุด แต่เป็น‘การก้าวที่ช้าลงเล็กน้อย’ เท่านั้น คือปกติเราจะได้รับออร์เดอร์ล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน ปัจจุบันยังคงมีอยู่แต่อาจช้าลงบ้างและจำนวนการสั่งซื้อจะปรับลดลงบ้าง หรือ ลูกค้าบางรายอาจมีการทบทวนคำสั่งซื้อบ้าง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทมากนัก ” “ ปีนี้เราจะเน้นเปิดตลาดใหม่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างแบรนด์ ‘Sasin’ เนื่องจากเรามีการปรับปรุงพัฒนา แผนก R&D อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเน้นด้านการดีไซน์รูปใหม่อยู่เสมอ ประกอบกับการได้รับคำแนะนำที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษ เกี่ยวกับเทรนด์ของผลิตภัณฑ์ และปริมาณความต้องการในตลาดยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษยังมีความต้องการอยู่มาก ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศอังกฤษได้ปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นโอกาสดีที่จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจากเรามากขึ้น” นายชยา กล่าว จุดเด่น คือ บริษัทฯ สามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามเวลาและมีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้ามากกว่าสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน รวมทั้งเรื่องของความรับผิดชอบ การควบคุมคุณภาพที่เข้มงวด และการบริการทำให้สินค้าของบริษัทจะยังได้รับความนิยมจากลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่เน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลัก อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มของสถานการณ์เศรษฐกิจที่มองกันว่ายังคงอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่องนั้น นายชยา เชื่อว่า ยอดการสั่งซื้อของบริษัทในปีนี้ไม่น่าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ กล่าวยืนยันว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมากนัก เพราะในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ของเสียน้อยลง และคุณภาพสูงขึ้น ขณะที่การใช้วัตถุดิบเท่าเดิม นี่คือ ผลลัพธ์จากการพัฒนาภายในบริษัทนั่นเอง !!! สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจต้องการขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP สามารถติดต่อได้ที่ โครงการ iTAP (สวทช.) ส่วนกลาง โทรศัพท์ 0-2564-7000 ส่วนผู้ประกอบการต่างจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สามารถติดต่อได้ที่ iTAP เครือข่าย มทส. โทรศัพท์ 044-224814 , 044-224-818 และ 044-244-844

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ