กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--มสช.
ตัวแทนศูนย์ฝึกทั่วประเทศชี้บ้านกาญจนาภิเษกเป็นต้นแบบพลิกวิกฤตชีวิตเด็กก้าวพลาด ระบุความรักความเมตตาของผู้ใหญ่ในศูนย์ฝึกเป็นฐานพลังการทำงานที่เปลี่ยนแปลงเด็กอย่างยั่งยืน ด้านเยาวชนเผยโอกาสจากผู้ใหญ่คือ การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสหลังเดินผิดพลาด วอนควรเปิดโอกาสให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดกฎกิตาเพื่อป้องกันการขัดขืนไม่ทำตามคำสั่ง
ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘การดูแลสุขภาวะเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม’ โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘เรียนรู้อะไร...จากก้าวแรก’ ร.ศ.อภิญญา เวชยชัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงนั้น นโยบายของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กที่เปิดพื้นที่นำร่องรูปธรรมอย่างบ้านกาญจนาภิเษกได้ถูกนำมาเป็นแบบอย่างแก่ศูนย์ฝึกต่างๆ ให้ก้าวตาม โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือการใช้หัวใจและความรักเป็นจุดเริ่มต้นและฐานพลังในการต่อสู้เอาชนะอุปสรรคปัญหา
ด้านนายรัตนะ วรบัณฑิต ผู้แทนบ้านสันติสุข ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ถ้าแนวคิดไม่เปลี่ยน วิถีชีวิตไม่เปลี่ยน ทางศูนย์ฝึกฯ จึงกำหนดให้เลิกใช้ความรุนแรงทุกชนิดในการทำกิจกรรม และกลับมามองเห็นเด็กเป็นมนุษย์ รวมถึงนำแนวคิดของบ้านกาญจนาภิเษกมาปรับใช้ในการทำงานด้วย โดยเน้นการให้โอกาสและสร้างทางเลือกแก่เด็กและเยาวชนผ่านการปลูกฝังความดี ให้เด็กคิดดี เพื่อจะได้ไม่หวนกลับมากระทำผิดอีก ตลอดจนส่งเสริมอาชีพเพื่อพวกเขาออกไปแล้วจะสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้
ส่วนนายมารุต แก้วอินทร์ ผู้แทนบ้านก้าวใหม่ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางบ้านก้าวใหม่จะมุ่งให้โอกาสเยาวชนรับผิดชอบตัวเอง โดยจะไม่มีรั้ว ไม่มีผู้คุม เหมือนกับบ้านกาญจนาภิเษก รวมทั้งยังให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะช่วงแรกชุมชนจะหวาดกลัวเด็กที่เคยกระทำผิดเหล่านี้ที่มาอยู่ใกล้บ้าน หากแต่เมื่อเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันกับชุมชน บำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ทางชุมชนก็ค่อยๆ เปลี่ยนทันคติ นอกจากนี้ทางศูนย์ฝึกฯ ยังส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน กีฬา และการฝึกวิชาชีพระยะสั้น เช่น ซ่อมโทรศัพท์มือถือ รวมถึงจัดกิจกรรมค่ายสัมพันธ์ครอบครัวด้วย
สำหรับธิติพร ระรวยรื่น ผู้แทนบ้านปราณี จ.นครปฐม กล่าวว่า ทางศูนย์ฝึกฯ ได้ปรับแนวคิดของบ้านกาญจนาภิเษกมาใช้เพื่อลดระดับการควบคุม แต่เพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนและครอบครัวมากขึ้น โดยให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนปฐมนิเทศถึงก่อนปล่อยออกเพื่อถ่ายทอดความไว้วางใจและความรู้สึกผูกพันระหว่างกันจนผู้ปกครองเหล่านี้เต็มใจเข้าร่วมบำบัดเด็กและเยาวชนในขั้นตอนต่อๆ ไป ในขณะเดียวกันก็จัดทำแผนชีวิตให้เด็กก่อนออกจากศูนย์ฝึกฯ เพื่อนำไปใช้ดำเนินชีวิต โดยเด็กจะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการทั้งสายสามัญและอาชีพ
ขณะที่กรรณิการ์ พุกศร ตัวแทนบ้านแห่งความดี จ.สงขลา กล่าวว่าเป้าหมายของศูนย์ฝึกฯ คือการคืนลูกชาย สามี หรือพลเมืองดีสู่สังคม จึงเน้นการพัฒนาทักษะชีวิตด้านคิดวิเคราะห์ ความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจผู้อื่น เพราะตระหนักว่าการสร้างเสริมพัฒนาระบบคิดในเด็กและเยาวชนนั้นได้ผลยั่งยืนยาวนานเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ยิ่งใช้ความรักและความเมตตาเป็นฐานด้วยแล้วยิ่งทำให้การเรียนรู้นั้นมีความสุข รวมทั้งพวกเขายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียงจากปราชญ์ชาวบ้านด้วย
ด้านเยาวชนที่เคยก้าวพลาดก็ร่วมสะท้อนมุมมองในช่วงเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘คิดอย่างไร...กับความเปลี่ยนแปลง’ ศักดิ์ (นามสมมติ) เยาวชนจากบ้านรุ่งอรุณ กล่าวว่า แรกคิดว่าบ้านรุ่งอรุณน่ากลัวเหมือนคุก แต่เมื่อได้เข้าไปอยู่กลับได้โอกาสออกไปฝึกวิชาชีพที่โรงแรม ทำให้ได้เรียนรู้ความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และการทำงานกับสังคมภายนอก ซึ่งสังคมภายนอกก็ยอมรับดี นอกจากนี้ยังได้มีส่วนร่วมคิดกิจกรรม เช่น ปลูกป่าชายเลนร่วมกับ อบต. ตลอดจนเป็นวิทยากรแนะนำความรู้แก่เด็กในชุมชนต่างๆ ไม่ให้กระทำความผิด โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด
“ทุกเช้าจะตื่นมาออกกำลังกาย และช่วยกันทำความสะอาดบ้านกับเพื่อนๆ ถ้าจะเปรียบบ้านรุ่งอรุณแล้วก็นับว่าเป็นบ้านที่ให้โอกาสกับเด็กทุกคน”
ส่วนปอ (นามสมมติ) เยาวชนจากบ้านปราณี กล่าวว่า จากเคยอยู่ในกฎเกณฑ์เข้มงวดเหมือนคุกเด็ก หากแต่เมื่อนำแนวทางบ้านกาญจนาภิเษกมาใช้ก็ทำให้บ้านชัยชนะที่เป็นพื้นที่นำร่องมีการควบคุมน้อยลง ทำให้เด็กและเยาวชนในบ้านกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น และมีความอบอุ่นกว่าเดิมมากเพราะได้ทำกิจกรรมที่สร้างเสริมความสามัคคี สมาธิ และการวางแผนร่วมกันทั้งบ้าน ถ้าเปรียบแล้วบ้านชัยชนะก็เป็นผ้าห่ม อากาศร้อนก็ปูนอน อากาศหนาวก็ให้ความอบอุ่น
สำหรับดุ่ย (นามสมมติ) เยาวชนจากบ้านก้าวใหม่ กล่าวว่า จากต่างคนต่างอยู่ก็ต้องมาอยู่ร่วมกันในบ้านก้าวใหม่ มีปัญหาก็ต้องปรึกษากัน จากเดิมตัวใครตัวมัน แต่เดี๋ยวนี้ช่วยกันแก้ ไม่คิดเดี่ยวทำเดี่ยว แต่คิดประโยชน์ของส่วนรวม รวมถึงมีการร่วมกันตั้งสภาเด็กที่มีฝ่ายปกครอง ต้อนรับ และช่วยงาน เมื่อเกิดปัญหาภายในศูนย์ฝึกฯ ก็นำมาคุยกันในสภา ทำให้ไม่ทะเลาะกัน ทำให้เกิดความคิดที่ว่าเล่นกีฬาดีกว่าไปคิดทำร้ายกัน
“การอยู่ที่บ้านก้าวใหม่ทำให้ได้รับความอบอุ่นจากเพื่อน มีความสุขได้แม้ต้องห่างพ่อแม่ เพื่อนจึงเป็นตัวตายตัวแทน เป็นกำลังใจให้สู้ต่อไป ถ้าจะเปรียบบ้านก้าวใหม่ก็เป็นบ้านที่ให้โอกาสคนเคยกระทำความผิด ทิ้งสิ่งไม่ดีไว้ที่นี่ เก็บสิ่งดีในบ้านไปใช้ เพื่อจะประสบความสำเร็จต่อไป”
ด้านดี้ (นามสมมติ) เยาวชนจากบ้านแห่งความดี กล่าวว่า จากไม่ได้เป็นเพื่อนกัน อยู่คนละทีม แต่เมื่อมาอยู่บ้านแห่งความดีก็เกิดความรักความอบอุ่นเพราะช่วยกันแก้ปัญหา และยังได้เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ทางเยาวชนในบ้านก็ร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีที่สุดเพื่อตอบแทนพระคุณท่าน จึงคิดกิจกรรมสวดมนต์ขึ้นมา โดยให้ชุมชนใกล้เคียงและผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วมด้วย
“ที่บ้านแห่งความดี เจ้าหน้าที่จะเป็นมากกว่าเจ้าหน้าที่ เป็นบ้านที่เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เพราะการให้ของผู้ใหญ่นั้นยิ่งใหญ่มาก”
ขณะที่นัท (นามสมมติ) เยาวชนจากบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า การได้มาอยู่บ้านกาญจนาภิเษกทำให้ใจเย็นขึ้น รู้จักวิเคราะห์ผลได้เสีย คิดก่อนทำ และมิตรภาพระหว่างเพื่อนทำให้มีความสุข ยิ่งเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมยิ่งต้องประคับประคองความรู้สึกกัน โดยจะเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น เด็กมีสิทธิมีเสียงตัดสินใจ กฎกติกาเด็กก็ออกแบบเอง จึงเป็นข้อตกลงแบบสมัครใจที่เด็กยอมรับได้
“เปรียบแล้วบ้านกาญจนาภิเษกคือบ้านแห่งการเปลี่ยนแปลง ทำให้เยาวชนจากเคยอ่อนแอก็เข้มแข็งขึ้น เหมือนได้ฉีดวัคซีนที่ทำให้เป็นคนใหม่ที่ไม่ใช่คนเดิม เพราะการให้โอกาสคือการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้กลับมายืนในสังคมได้อีกครั้ง”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โทร. 0-2511-5855 ต่อ 116