กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ก.ไอซีที
ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยความคืบหน้าการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประเภทธุรกิจท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 ในบัญชี ค ว่า หลังจากที่มีผู้ประกอบธุรกิจตามบัญชี ค ได้ยื่นแบบขอรับใบอนุญาตไว้จำนวน 70 ราย รวมใบอนุญาต 109 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา และได้มีการพิจารณาออกใบอนุญาตไปแล้วจำนวน 16 ราย รวมใบอนุญาต 31 ฉบับนั้น ขณะนี้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับผู้ยื่นแบบขออนุญาตเพิ่มเติมแล้ว
“คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ พิจารณาออกใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการที่ได้ยื่นขอรับใบอนุญาตที่เหลือ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เป็นผู้พิจารณาความครบถ้วนและถูกต้องของแบบยื่นและเอกสารประกอบการยื่นของผู้ให้บริการ ซึ่งผลจากการพิจารณาเห็นว่า ผู้ให้บริการได้ยื่นเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้งมีคุณสมบัติเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และมีความพร้อมในการให้บริการ รวมถึงมีแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางระบบสารสนเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้พิจารณาออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการที่ยื่นแบบไว้ โดยได้พิจารณาออกใบอนุญาตเพิ่มเติมอีกจำนวน 30 ราย แบ่งเป็นผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 19 ราย และผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน จำนวน 11 ราย รวมออกใบอนุญาตจำนวน 47 ฉบับ ส่วนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับผู้ให้บริการที่ยังเหลืออยู่นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมฯ อีกครั้ง เพื่อพิจารณาให้ทันภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามบทเฉพาะกาลที่ผ่อนผันแก่ ผู้ให้บริการรายเดิมสามารถให้บริการได้ต่ออีก 120 วันนับจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว
สำหรับรายชื่อของผู้ให้บริการประเภทสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตนั้น ได้แก่ ธนาคารคาลิยง ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส สาขากรุงเทพฯ ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ธนาคารดอยซ์แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารธนชาต ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย ธนาคารสินเอเชีย ธนาคารแห่งประเทศจีน สาขากรุงเทพฯ ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์ สาขากรุงเทพฯ ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เอ็น วี สาขาประเทศไทย ธนาคารโอเวอร์ ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอร์เรชั่น สาขากรุงเทพฯ และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น
ส่วนรายชื่อของผู้ให้บริการประเภทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาต ได้แก่ บมจ.เจมาร์ท บจ.ซิตี้ คอนซูเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) บจ.ทรู มันนี่ บมจ.ทีโอที บมจ.บัตรกรุงไทย บจ.ไปรษณีย์ไทย บจ.เพย์เมนท์ โซลูชั่น 2008 บจ.โพลาร์ เว็บแอปพลิเคชั่น บจ.ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) บจ.อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) และบจ.อี-เคลียริ่ง (ไทยแลนด์)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 568 2453 ทวิติยา