กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์
ในท่ามกลางสังคมที่โหยหาการกลับมาของวิถีชีวิตแบบเก่าๆ เพื่อคะคานกับกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ถาโถมเข้าท่วมทับมรดกวิถีดั้งเดิมจนแทบสิ้น วิถีการเกษตรของคนไทยก็เรียกได้ว่ากำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียความเป็น “ไท” ด้วยเช่นกัน ภาพฝันของเยาวชนที่จบจากรั้วการศึกษาล้วนจับจ้องไปยังการละถิ่นเข้าเมือง -นั่งทำงานในออฟฟิศที่มีแอร์เย็นฉ่ำ ดูเป็นสิ่งที่ชวนปรารถนามากกว่าการทำงานกรำแดด อาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ในเรือกสวนไร่นา ทว่าเป็นวิถีเก่า —มรดกเดิมของพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่มีเสถียรภาพความมั่นคง
เมื่อความเปราะบางแห่งวิถีใหม่มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น การลุกขึ้นหยัดยืนวิถีเดิมของเยาวชนสักคนจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่า...
“นายสมพร ทองเพิ่ม” บัณฑิตคืนถิ่นด้านการเกษตรวัยในยี่สิบแปดปี และเป็นนักปฏิบัติตัวยงจากเมืองคอน นักการเกษตรเลือดใหม่ในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสโลแกน “ปลูกได้ ต้องขายเป็น” ก็จัดเป็นหนึ่งในนั้น...
รู้จักเรื่องกล้วยๆ ของ “สมพร ทองเพิ่ม”
ครอบครัวของสมพรมีอาชีพการเกษตรมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลถ้ำใหญ่ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปลูกยางพารา ผลไม้พื้นเมืองไว้กินตามฤดูกาล ทั้งมังคุด เงาะ ทุเรียนป่า ลองกอง ฯลฯ มีความหลากหลายทั้งไม้ผลและผักพื้นบ้าน ที่คนใต้เรียกว่า “สวนสมรม” เมื่อได้ผลผลิตก็นำออกขาย บ้างก็ผ่านพ่อค้าคนกลาง ตั้งแต่เล็กจนโต สมพรได้สัมผัสกับวิถีการเกษตรกร เรียนรู้ และซึมซับการทำนา ทำสวน ทำไร่ของพ่อ “พวง ทองเพิ่ม” ต้นแบบที่ทำให้เห็น ให้คำแนะนำถึงการทำสวนทำไร่ ทั้งการปลูก บำรุงรักษา เก็บเกี่ยว พืชผัก ผลไม้ ข้าว ยางพารา ฯลฯ จนสมพรเกิดความรักความผูกพัน เห็นว่าอาชีพเกษตรกรมีความสำคัญ มีศักดิ์ศรี และหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นอาชีพของเขาในวันหน้า
เมื่อมีความตั้งใจเต็มร้อยดีแล้ว สมพรได้เลือกเรียนต่อในสาขาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) เพื่อนำความรู้วิชาการมาเติมเต็มความรู้เดิมที่เรียนรู้มาจากพ่อและการลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นการ “ยกระดับการเกษตรของครอบครัว” ระหว่างที่เรียน สมพรยังช่วยงานเกษตรของที่บ้าน และช่วยงานอาจารย์ในฟาร์ม ปลูกผักในบริเวณบ้านพักอาจารย์ นำผลผลิตที่ได้จำหน่ายเสริมรายได้
หลังจบการศึกษาในปี 2546 สมพรได้ทดลองทำงานหาประสบการณ์เพิ่มเติม โดยเป็นครูสอนอาชีพที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอทุ่งสง เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง ได้เงินเดือน เดือนละ 7,200 บาท เรียกว่าชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังดีที่สมพรไม่ทิ้งการทำเกษตร เขาได้ซื้อที่ดิน 4 ไร่เพื่อนำหน่อกล้วยหอมมาปลูก และเพื่อเป็นการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า สมพรยังใช้พื้นที่ว่างระหว่างต้นยางในสวนยางปลูกกล้วย เพราะกว่าต้นยางจะให้ยางได้ เขาก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากกล้วยได้แล้วถึง 3-4 ปี
หลังเลิกงาน สมพรจะเที่ยวสำรวจแผงค้ากล้วยหอมในตลาดว่ามีที่ใดบ้าง ขายในราคาเท่าไร และต่อไปเขาจะวางกล้วยหอมขายได้ที่ไหน เมื่อสมพรได้แผงขายกล้วยในตลาดแล้ว เขาจึงนำผลผลิตออกขาย มีบ้างที่ขายให้พ่อค้าคนกลาง แต่ก็เพียงพอที่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 300 -500 บาท/วัน ไม่นานนัก สมพรก็ตัดสินใจซื้อที่ดินปลูกกล้วยหอมเพิ่มอีก 4 ไร่
ขณะที่การทำงานในอาชีพประจำ สมพรเริ่มพบว่า เขารู้สึกเบื่อ อึดอัด และไม่มีความสุขกับการเป็นครูเหมือนกับการทำงานสวนที่เขาไม่เคยเบื่อ พร้อมกับที่กล้วยหอมในสวนเริ่มให้ดอกออกผลมาก จนขายไม่ทัน ประกอบกับการประเมินว่ารายได้จากการขายกล้วยมีมากกว่าการทำงานประจำกว่าเท่าตัวก็ทำให้สมพรมั่นใจว่าการขายกล้วยจะทำให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพได้ สมพรจึงลาออกมาทำการเกษตรเต็มตัว และนำผลผลิตที่ได้ออกขายที่ตลาดด้วยตนเองท่ามกลางความประหลาดใจของเพื่อนร่วมงาน ทว่าการออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวก็ทำให้สมพรมีเวลากับการปลูกกล้วยหอม และนำผลผลิตออกขายมากขึ้น จากนั้น 2 ปีต่อมา เขาก็สามารถขยับขยายกิจการให้เติบโตนำไปสู่การเปิดแผงขายกล้วยหอมแผงที่ 2 ในตลาดโต้รุ่งซึ่งมีกลุ่มค้ามากขึ้น
ตัดพ่อค้าคนกลางได้ เกษตรกรก็มีกำไร
ช่วงนี้เอง สมพรได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาใช้อย่างครบครัน ทั้งในด้าน การจัดการการปลูก มีการจดบันทึกข้อมูลการปลูก — ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว เพื่อประกอบการวางแผนการจำหน่าย รวมถึงการใช้ความรู้ด้าน การจัดการการตลาด ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยในการขาย ทำให้สามารถตัดวงจรของพ่อค้าคนกลางจากการขายกล้วยหอมได้อย่างสิ้นเชิง สมพรมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ลบจุดอ่อนของเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ที่มักให้ความสนใจกับการปลูกแต่ไม่ให้ความสำคัญกับการขาย จนตกเป็นเหยื่อยอมขายพืลผลในราคาถูกให้นายทุน
“หากตัดพ่อค้าคนกลางไปได้ เกษตรกรจะได้กำไรเอง และสินค้าจะส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เราได้มีโอกาสดูแลสินค้าให้มีคุณภาพจนถึงมือลูกค้า” ซึ่งสมพรได้ยึดหลักการการทำเกษตรว่า “เกษตรกรจะอยู่รอดได้นั้น ก็ต่อเมื่อเขาปลูกได้แล้วจะต้องขายให้เป็นด้วย” สมพรกล่าว
จุดเด่นอีกข้อหนึ่งของสมพรคือ ความกระตือรือร้นไม่หยุดนิ่ง เขามักชวนลูกค้าคุยเสมอๆ เพื่อสำรวจพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค บ่อยครั้งสมพรยังนำหน่อกล้วยหอมไปแนะนำให้ลูกค้าปลูก เป็นการรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าเก่า และใช้วิธีบอกเล่าปากต่อปากทำให้สมพรมีลูกค้าใหม่พิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน สมพรยังเป็นนักชิมกล้วยหอมตัวยง เมื่อเข้าตลาดต่างถิ่น เขามักซื้อกล้วยรับประทานเพื่อเปรียบเทียบสี กลิ่น ขนาด รสชาติ และราคากล้วยหอมของคู่แข่งรายอื่นๆ เสมอ เวลานี้ ลูกค้าของสมพรมีทั้งกลุ่มขายส่ง แม่ค้าที่นำกล้วยไปแปรรูป หรือทำขนม เช่น โรตี น้ำปั่น ไอศกรีมทอด และอีกส่วนคือกลุ่มผู้บริโภคทั่วๆ ไป เขาสามารถขายกล้วยได้เฉลี่ยวันละ 50 และ 70-90 หวี/แผงตามลำดับ ช่วงวันพระทั้ง 4 ของเดือนจะเป็นช่วงที่ขายกล้วยหอมได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เทศกาลตรุษจีน” เปรียบเป็นนาทีทองที่สมพรขายกล้วยหอมได้มากที่สุด ถึง 300 หวีต่อวัน ทั้งยังขายได้ราคาดีกว่าช่วงเวลาอื่นๆ สมพรจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมการให้กล้วยหอมออกผลผลิตในช่วงนี้อย่างมาก
นอกจากกล้วยหอมแล้ว สมพรยังนำผัก ผลไม้จากสวนของพี่สาว ซึ่งเป็นผลไม้ตามฤดูกาลมาจำหน่ายที่แผง เช่น ลองกอง ทุเรียนบ้าน ทุเรียนหมอนทอง มังคุด กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง มะละกอแขกดำ และผักพื้นบ้านหลายชนิด เช่น ผักกูด มะเขือพวง ใบบัวบก ในจำนวนนี้ยังมีผักที่เขาปลูกเองแบบปลอดสารเคมี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ กวางตุ้ง และคะน้า ในระยะหลังสมพรยังปลูกข้าวโพดหวาน และนำมาต้มขายที่แผงด้วย
บัณฑิตคืนถิ่นผู้นี้ให้เหตุผลของการปลูกพืชหลายๆ ชนิดว่า การมีพืชหลายๆ อย่างไว้รองรับและกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ดี เพราะพืชผลการเกษตรมีราคาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ปีไหนพืชตัวใดราคาดี คนก็แห่กันปลูกแต่แล้วก็ขายไม่ได้ หรือขายได้ราคาไม่ดี ชาวนครฯ จำนวนไม่น้อยเองก็ประสบปัญหานี้ โดยการค้าของเขาจะไม่เน้นการค้าแบบคดโกง หรือค้ากำไรเกินควร แต่เน้นความพออยู่ พอกิน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง อิงอาศัยอยู่กับธรรมชาติ ไม่โหมผลิตแล้วต้องซื้อปุ๋ยและสารเคมีให้เป็นรายจ่ายของตัว การค้าต้องผูกใจให้ลูกค้านึกถึง มาอุดหนุนทุกทีที่ต้องการกล้วยหอมรสอร่อย
รับไม้ —ส่งไม้ ภูมิปัญญาการเกษตรของไทย
ในบทบาทของเยาวชนด้านการเกษตรรุ่นใหม่ สมพรยังแสดงความยินดีกับการเป็นผู้รับไม้ต่อด้านการเกษตรเพราะจะเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จซึ่งย่นเวลาลองผิดลองถูกของเราได้มาก เขาความตั้งใจว่า เขาจะเป็นแรงหนึ่งในการประคับประคองภูมิปัญญาด้านการเกษตรของไทย และยกระดับให้อาชีพการเกษตรในสายตาของคนทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนให้เห็นว่า เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องอายใครเมื่อต้องบอกว่าประกอบอาชีพการเกษตร “เราต้องดึงน้องๆ ที่คิดว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี แล้วอยากถีบตัวเองจากตรงนี้ บอกเขาว่าอย่าไปเลย อยู่ตรงนี้ดีแล้ว มันเป็นที่ที่เราควรอยู่ เป็นทื่ๆ พ่อแม่บรรพบุรุษให้เรามา เราไม่ต้องไปตะเกียกตะกายเสาะหาจากภายนอก เรายืนด้วยขาของเราเองได้ มีอาชีพมั่นคง แต่อย่าหวังร่ำรวย แต่หวังได้เลยว่าจะไม่อด และมีความสุข”
ในส่วนนี้ เขาเผยว่า เขาได้เริ่มแบ่งปันประสบการณ์ที่เขามีอยู่เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้วัยรุ่นที่มีแววด้านการเกษตรในละแวกชุมชนที่เขาอยู่บ้างแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนนั้นๆ ได้มีอาชีพ เลี้ยงดูตัวเองได้ ที่ผ่านมา เขาได้ถ่ายทอดความรู้ให้ทุกๆ ด้านอย่างหมดเปลือก ทั้งด้านการปลูก หรือแม้แต่การจำหน่าย "เราให้อะไรเขาทุกอย่างที่สามารถให้เขาได้ บอกเสมอว่า ถ้าปลูกแล้วมีที่ขายก็ขายไปเลยนะ สร้างรายได้ให้แก่ตัวเอง พยายามสร้างอาชีพของตัวเองให้ได้เร็วที่สุด ตอนนี้เริ่มมีน้องที่มุ่งมั่น จริงจัง มีแปลงกล้วยหอมของตัวเอง มีผลผลิต มีช่องทางอาชีพชัดเจนบ้างแล้ว”
ปัจจุบัน สมพรมีที่ดินเป็นของตนเองกว่า 20 ไร่ ทั้งที่เป็นสวนยาง สวนผลไม้ดั้งเดิม สวนกล้วย มะละกอที่ปลูกแซม และยังเริ่มนำสละจากจังหวัดจันทบุรีมาปลูก เพราะเห็นว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความหวัง ให้ผลตลอดปี เป็นที่ชื่นชอบของทุกเพศทุกวัย ไม่ทำลายสุขภาพ ที่สำคัญยังขายได้ราคาดี “อาชีพทำสวนเป็นอาชีพอิสระที่พ่อแม่ทำมาก่อน ผมสืบทอดและได้อยู่บ้านดูแลพ่อแม่ นอกจากนั้นยังเป็นอาชีพที่ทำเราพึ่งพาตัวเองได้ แต่จะต้องมีการจัดการผลผลิตที่ดี” สมพรกล่าว
กรณีของ “สมพร ทองเพิ่ม” จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิด ตัดสินใจ และลงมือทำอย่างทุ่มเท ไม่หยุดนิ่ง บนฐานประสบการณ์และต้นทุนจากครอบครัว ผสมผสานและต่อยอดด้วยความรู้ใหม่ ไม่สุ่มเสี่ยงทำอะไรอย่างขาดความรู้ ทำให้กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ตนเองมีความถนัด ชื่นชอบ และเป็นอาชีพรากเหง้าของบรรพบุรุษ ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะเป็นผู้รับไม้ต่อด้านการเกษตรจากผู้ส่งไม้ซึ่งเป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ได้อย่างเต็มภาคภูมิ.
ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ 0-2544-5692