คุณรู้จัก “หัวใจ” ของคุณดีพอหรือยัง?

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2009 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ “โรคหัวใจ” คำสั้น ๆ นี้มีความหมายครอบคลุมความผิดปกติของหัวใจหลายประการที่คุณควรรู้ โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก ทุก ๆ วันมีคนไทยเสียชีวิตด้วยสาเหตุอันเนื่องมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจมากถึง 236 คน หรือกว่า 85,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “โรคหัวใจ” หลายคนมักเข้าใจกันแต่ว่าเป็นโรคที่เกิดกับหัวใจ และอาจถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนในรายละเอียดอาจไม่ทราบแม้จะเป็นโรคซึ่งจัดว่าร้ายแรงโรคหนึ่ง คำว่า “โรคหัวใจ” ที่เรารู้จักกันนั้น เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ดังนั้น เพื่อทำความรู้จักกับ “หัวใจ” ให้ดีกว่าเดิม บทความนี้จึงขอถ่ายทอดคำอธิบายจาก นพ.วัธนพล พิพฒนนันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มาให้คุณได้อ่านกัน กายวิภาคของหัวใจ “ตำแหน่งของหัวใจนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างปอดทั้งสองข้าง แต่จะค่อนมาทางซ้ายเล็กน้อย” นพ.วัธนพลอธิบาย “หัวใจประกอบขึ้นจากกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำงานอย่างอิสระ ห่อหุ้มไว้ด้วยเยื่อบาง ๆ มีน้ำหนักโดยรวมประมาณ 200 ถึง 425 กรัม ในวันหนึ่ง ๆ หัวใจบีบตัวประมาณ 100,000 ครั้งเพื่อส่งเลือดดำไปฟอกยังปอด และส่งเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำงานอยู่อย่างนี้ตลอดไม่มีวันพัก” ส่วนประกอบของหัวใจตามลักษณะกายวิภาคที่สำคัญนั้นประกอบไปด้วย - เยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) มีลักษณะ เป็นเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มหัวใจไว้ - หลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery) อยู่ภายนอกเยื่อหุ้มหัวใจ มีกิ่งก้านแตกแขนงส่งเลือดไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดหัวใจหลักมี 2 เส้นด้วยกัน คือ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจด้านขวา และหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจด้านซ้าย - กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) ทำหน้าที่ส่งเลือดไปยังระบบไหลเวียนโลหิตโดยการหดตัว เกิดเป็นแรงดันให้เลือดไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจมีความสำคัญมาก เพราะหากเกิดความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งกับกล้ามเนื้อหัวใจ อาทิ บีบตัว คลายตัวผิดปกติ มีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ หรือขาดเลือด จะกลายเป็นปัญหาที่สำคัญตามมา - ผนังกั้นห้องหัวใจ และลิ้นหัวใจ (Endocardium and Cardiac Valve) มีลักษณะเป็นแผ่นบางบุผนังด้านในของหัวใจ เป็นตัวแบ่งให้หัวใจมี 4 ห้องรวมทั้งเป็นส่วนของลิ้นหัวใจ นอกจากการทำงานที่ไม่เคยหยุดตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ส่วนประกอบที่พิเศษอีกประการหนึ่งของหัวใจได้แก่ ระบบไฟฟ้าของหัวใจ “การที่หัวใจสามารถบีบตัว หรือคลายตัวได้อย่างอิสระนั้น เป็นเพราะหัวใจสร้าง กระแสไฟฟ้าได้เองแล้วส่งกระแสไฟฟ้าไหลเวียนอยู่ภายในห้องทั้งสี่ ไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัวอย่างเป็นจังหวะเพื่อส่งเลือดเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตนั่นเอง” นพ.วัธนพล อธิบาย ความผิดปกติที่เกิดจากส่วนประกอบของใด ๆ ของหัวใจ อาจกลายเป็นสาเหตุให้หัวใจทำงานอย่างผิดปกติได้ คำว่าโรคหัวใจนั้นสามารถแยกย่อยออกไปได้อีกหลายประการตามแต่สาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ประเภทของโรคหัวใจ นพ.วัธนพลกล่าวว่าโรคหัวใจมีทั้งชนิดที่เป็นตั้งแต่กำเนิด และเกิดขึ้นภายหลังซึ่งจะมีความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป เราอาจแบ่งกลุ่มของโรคหัวใจเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ดังนี้ - โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจของทารกในครรภ์มารดา อันอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสและการได้รับสารเคมีหรือยาบางชนิดระหว่างการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดความพิการขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของหัวใจ เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจ หรือลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว - โรคลิ้นหัวใจรูห์มาติค มักเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อคออักเสบเรื้อรัง จนทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น แต่ภูมิต้านทานนี้กลับทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะหลายระบบ ซึ่งรวมถึงการเสื่อมและการอักเสบของลิ้นหัวใจด้วย - โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หรือ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง เกิดกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนเป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม - โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ โรคหัวใจขาดเลือด เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสะสมตัวของไขมันจนอุดตันในเส้นเลือด ส่งผลให้เส้นเลือดไม่สามารถนำเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้ตามปกติ - โรคเยื่อหุ้มหัวใจ มักเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือวัณโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ ยกเว้นกรณีที่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของมะเร็งมายังเยื่อหุ้มหัวใจ - โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติ เช่น มีจุดกำเนิดไฟฟ้าแปลกปลอม หรือมีวงจรลัดไฟฟ้าผิดปกติ โดยปัจจัยที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการ ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความเครียดและวิตกกังวล แอลกอฮอล์และคาเฟอีน รวมไปถึงยาบางชนิด - การติดเชื้อที่หัวใจ มักเป็นการติดเชื้อภายในหัวใจที่มีความผิดปกติอยู่แล้ว เมื่อมีการติดเชื้อในร่างกายขึ้น เช่น เป็นฝี หนอง หรือฟันผุ เชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังบริเวณหัวใจที่มีความผิดปกติจนทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำ หรือผู้ที่ติดยาเสพติดชนิดฉีด - มะเร็งที่หัวใจ แม้ว่าโดยปกติแล้วจะไม่ค่อยตรวจพบเนื้องอกที่หัวใจ แต่มะเร็งที่หัวใจส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งจากอวัยวะข้างเคียงมาสู่หัวใจ เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม ใจดวงนี้ ต้องดูแล แม้คุณจะทำอะไรได้ไม่มากนักสำหรับความผิดปกติของหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด แต่สำหรับโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องที่อาจป้องกันได้ทั้งสิ้น “สุขภาพของหัวใจเป็นเรื่องที่คุณดูแลได้ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายความเครียด และเลิกสูบบุหรี่ ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่า สามารถลดปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจ อาทิ ความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ลงไปได้มากทีเดียว” นพ.วัธนพล กล่าวปิดท้าย ข้อมูลจากศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คุณเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ลองทดสอบดู ใช่ ไม่ใช่ 1. เป็นชายอายุมากกว่า 45 ปี หรือหญิงอายุมากกว่า 55 ปี 2. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือหลอดเลือด 3. สูบบุหรี่เป็นประจำ 4. ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5. มีน้ำหนักตัวมาก (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30) 6. มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 7. มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงเกินกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 8. มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท 9. มักจะเครียดและวิตกกังวล หรืออารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เสมอ 10. ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และฟาสต์ฟู้ด 11. ไม่ชอบออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา หากคุณตอบว่าใช่ 2 ข้อหรือมากกว่า แสดงว่าคุณเป็นผู้หนึ่งที่กำลังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ พร้อมฟังคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคหัวใจต่อไป ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2667 2000 สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แผนกประชาสัมพันธ์ โทร 0 2667 2212 e-mail: pr@bumrungrad.com www.bumrungrad.com

แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ