กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--ทีเค ปาร์ค
“ยี่สาร” ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขาแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม ล้อมรอบด้วยทะเลตมและป่าชายเลน ขึ้นชื่อว่าเป็นผืนป่าที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำและพืชพันธุ์นานาชนิด คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ สร้างภูมิปัญญาการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว
และเพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ สมาชิกอุทยานการเรียนรู้ หรือTK park ที่มีอายุระหว่าง 10 — 15 ปีได้ใช้เวลาในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์ TK park จึงได้จัดกิจกรรม TK Day Camp “เยือนยี่สาร...ชุมชนแห่งสารน้ำ” ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ณ ชุมชนบ้านเขายี่สาร ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมีน้องๆเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 42 คน พร้อมด้วยอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ อีก 12 คน เพื่อศึกษาการกระบวนการจัดค่ายเยาวชนต้นแบบเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้น้องๆ ได้เรียนรู้เกี่ยววิถีชีวิตของคนยี่สารทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชุมชนที่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา พร้อมเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สารซึ่งเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งในประเทศไทย นอกจากนี้น้องๆ ยังได้สัมผัสกับเขายี่สาร ซึ่งเป็น“ภูเขาหินปูนแห่งเดียวของ จ.สมุทรสงคราม” สักการะพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีนิ้วพระบาท 9 นิ้ว สัมผัสพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมเรียนรู้วิธีการเผาถ่านไม้จากไม้โกงกาง และการทำผ้ามัดย้อมจากทรัพยากรใกล้ตัว
น้องมาวิน หรือ ด.ช. ณัฐพันธ์ สุนทรธนวัจน์ เด็กชายตัวน้อยอารมณ์ดี ที่ช่างซักช่างถามจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก จนกลายเป็นขวัญใจของพี่ๆในค่ายอย่างง่ายดาย ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า สนุกมากๆ ครับ และได้ความรู้หลายอย่าง เช่น การเผาถ่าน การมัดย้อมผ้า แต่ที่เรียนมาวันนี้ทั้งหมดชอบการเผาถ่านมากที่สุด เพราะได้เรียนรู้เรื่องการเลือกใช้ไม้ ว่าควรจะนำไม้อะไรมาทำถ่าน ที่นี่พวกพี่ๆเค้าใช้ไม้โกงกาง ใช้ได้ทั้งต้นเลย แต่ต้องตีเปลือกออกก่อน ไม้ท่อนใหญ่ๆก็ใส่ในเตาก่อนแล้วค่อยเอาไม้ท่อนเล็กๆตรงรากใส่ข้างบนให้เต็มเตา แล้วจึงค่อยเริ่มเผา
“และเมื่อถามว่ารู้ไหมว่าเอาไม้โกงกางจากไหน? น้องมาวินก็รีบชี้ไปที่ป่าโกงกางฝั่งตรงข้ามคลอง “เอามาจากป่าครับ พี่ธนู ( นายธนู พยนต์ยิ้ม) บอกว่าตัดมาจากป่าโกงกาง แต่ตัดแล้วชาวบ้านที่นี่จะต้องปลูกโกงกางขึ้นทดแทนทันที่ เพื่อที่ชุมชนนี้จะได้มีไม้โกงกางใช้ทำถ่านเรื่อยๆ และวันนี้ผมยังได้ถ่านเป็นที่ระลึก 1 ก้อนครับ จะเอากลับบ้านไปทดลองเผาดูว่าไฟแรงดีอย่างที่พี่เขาบอกจริงรึเปล่า”
ด้านน้องบีม หรือด.ญ. ณัฐชา รุ่งรัศมีวิริยะ จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เล่าถึงความรู้สึกต่อการมาเข้าค่ายครั้งนี้ว่า ได้รับความรู้มากมายและสนุกด้วย ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมาเขายี่สาร มาครั้งนี้ได้รู้จักความเป็นมาของบ้านยี่สารมากขึ้น ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ การเผาถ่าน การทำผ้ามัดย้อม ซึ่งกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ “การทำผ้ามัดย้อม” เพราะที่นี่จะใช้สีธรรมชาติที่หาได้จากวัสดุใกล้ตัว และวันนี้พี่ๆวิทยากรก็เตรียมสีไว้ให้ 2 สี คือสีเหลืองที่ได้จากใบของต้นหูกวาง และสีน้ำตาลที่ได้จากเปลือกไม้ตะบูน โดยนำเปลือกไม้ตะบูนและใบของต้นหูกวางมาแช่ในน้ำด่างที่ได้จากการนำน้ำผสมกับขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาถ่าน น้ำด่างจะช่วยให้สีออกมาดีกว่าน้ำธรรมดา แถมยังช่วยให้สีติดดีอีกด้วย การมัดย้อมผ้าถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งความรู้ที่ได้รับในวันนี้จะนำไปบอกต่อกับเพื่อนๆ และคนในครอบครัว
ส่วนน้องกาย หรือ ด.ช. จุติ บุณยรัตพันธุ์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ซึ่งเดินทางมาจากชลบุรีเพื่อเข้าร่วมค่ายนี้โดยเฉพาะบอกว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาเขายี่สาร กิจกรรมที่จัดทั้งหมดสนุกมาก ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุนชนแห่งนี้ ไดเห็นธรรมชาติของป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ที่สำคัญเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอาชีพการเผาถ่าน เห็นแล้วก็รู้สึกทึ่งมาก เพราะเตาเผาถ่านของจริงใหญ่มากๆ และได้ทำผ้ามัดย้อมเป็นของที่ระลึกกลับบ้านด้วย ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ที่ได้จากที่นี่ และจะนำไปบอกต่อให้คุณพ่อ คุณแม่ และเพื่อนๆได้รับรู้เช่นกัน
สุดท้าย อาจารย์สรัญญา ปัญญะสุทธิ์ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า การจัดกิจกรรมรูปแบบนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนด้วยตนเอง ได้เห็นโลกที่แปลกใหม่ ซึ่งสามารถนำรูปแบบไปพัฒนาและปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียนการสอนได้ ถือเป็นการเรียนรู้นอกบทเรียน ให้ชาวบ้านเป็นครู ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ จะทำให้เด็กเกิดความคิดใหม่ๆต่อไป
แม้ในวันนี้อากาศจะร้อนระอุและสร้างความเหนื่อยล้าให้กับน้องๆ และบรรดาอาจารย์ที่เข้าร่วมค่ายครั้งนี้ แต่สิ่งที่ติดตัวทุกคนกลับมาจนสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ รอยยิ้มจากความประทับใจที่ปรากฏขึ้นบนใบหน้าของทุกคน
สอบถามเพิ่มเติม
โทร.02-2701350-4