ธ.ไทยพาณิชย์จัดอบรมครูแกนนำเศรษฐกิจพอเพียง เติมทักษะการจัดการความรู้ -จัดทำแผนการขับเคลื่อนในสถานศึกษา

ข่าวทั่วไป Monday May 11, 2009 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ระหว่างวันที่ 28 -30 เมษายน 2552 ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพฯ โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดองค์ความรู้และเสริมทักษะด้านการจัดการความรู้ (KM) ให้แก่ครูแกนนำและครูในเครือข่ายเรียนรู้สู่ความพอเพียงของธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนครูแกนนำที่ผ่านการอบรมจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมกว่า 60 คนจาก 17 โรงเรียนทั่วประเทศ นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า จากที่มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นหนึ่งในภาคีของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการวางเป้าหมายในโรงเรียน 40,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2554 มูลนิธิฯ จึงสนับสนุน สรส.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นอีกแรงหนุนเสริมการขับเคลื่อนดังกล่าว โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือครูแกนนำ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา ผ่านการออกแบบการเรียนรู้ และสาระวิชาที่นักเรียนนำไปปฏิบัติได้จริง ขณะเดียวกันการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ยังจะทำให้พบครูแกนนำต้นแบบที่จะเป็นตัวอย่างในการขยายผลความสำเร็จดังกล่าวให้แก่โรงเรียนในเครือข่ายด้วย กิจกรรมตลอด 2 วัน 3 คืนของการอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของครูใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ สาระวิชาภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, ภาษาต่างประเทศ, การงานและเทคโนโลยี, สุขศึกษาและพละศึกษา และศิลปะ อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงประสบการณ์การสอนที่ประทับใจกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การแบ่งปันประสบการณ์ -เสริมทักษะการเขียนแผนการสอน และการฝึกฝนทักษะการจัดการความรู้ (KM) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือจัดการความรู้ในห้องเรียน อาทิ ทักษะการเล่าเรื่องแบ่งปันประสบการณ์ ทักษะการเป็นผู้จดบันทึก และโดยเฉพาะทักษะการเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ อาจารย์อภิชาฏ พงษ์ภู่ ครูแกนนำเศรษฐกิจพอเพียงและครูสอนวิชาคอมพิวเตอร์ โรงเรียนวัดพร้าว จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ได้รับประโยชน์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มาก โดยเฉพาะทักษะการจัดการความรู้ ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาไม่มีความรู้เรื่องการจัดการความรู้เลย แม้แต่เรื่องเกี่ยวกับตัวเองก็ยังไม่อาจจัดการอย่างเป็นระบบได้ แต่เมื่อได้เรียนรู้ทำให้ทราบว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องที่ไม่ยาก ฝึกฝน และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกเรื่อง รวมไปถึงการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียน นอกจากนั้น จากกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ครูได้สวมบทบาทการเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ในวงแลกเปลี่ยนก็เป็นการฝึกฝนก่อนนำไปใช้ปฏิบัติจริงกับนักเรียน ซึ่งตัวเขาเองจะได้นำไปประยุกต์ความรู้ดังกล่าวไปปรับใช้กับแผนการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ เช่น กิจกรรมให้นักเรียนบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการผลิตสื่อ 2 มิติ และ 3 มิติด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้คุณธรรม ชุมชน ตลอดจนถึงตนเอง ทั้งนี้ นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการความรู้ว่า การจัดการความรู้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สังคมไทยต้องการ ซึ่งครูสมัยใหม่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ปลูกฝังค่านิยมความพอเพียงให้แก่นักเรียน แทนการท่องจำ แต่ให้นักเรียนรู้จักการตั้งคำถาม มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดเป็นทำเป็น และดึงข้อมูลที่มีประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ติดต่อฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ หรือติดตามความเคลื่อนไหวของมูลนิธิ พร้อมดาวน์โหลดข่าวและภาพข่าวได้ที่ www.scbfoundation.com และ www.okkid.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ