ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง และน้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 49 ปรับตัวลดลง เอกชนเสนอรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน รวมทั้งแก้ไขปัญหาอัตร

ข่าวทั่วไป Wednesday November 22, 2006 12:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 467 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 95.3 จาก 96.8 ในเดือนกันยายน 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งการที่ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีปรับค่าลดลงเนื่องมาจากขณะทำการสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม ในหลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาน้ำท่วม จึงทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง รวมทั้งทำให้การขนส่งสินค้าลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบมีราคาแพง การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งปัญหาดังกล่าวผู้ประกอบการมองว่าจะเป็นปัญหามากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2549 เนื่องจากเงินบาทมีการแข็งค่ามากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเมื่อพิจารณาค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณพบว่า ค่าดัชนี 3 ใน 5 ปัจจัยหลักปรับตัวลดลง ได้แก่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิต ปรับตัวลดลงจาก 107.1 106.7 และ 111.9 ในเดือนกันยายน เป็น 105.2 104.4 และ 111.1 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนตุลาคม 2549 ได้แก่ ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และผลการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 78.4 และ 108.1 ในเดือนกันยายน เป็น 97.5 และ 108.6 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ โดยความเชื่อมั่นต่อต้นทุนการประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางที่ลดลง
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนตุลาคม 2549 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดขายในประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ราคาขาย และสินค้าคงเหลือ ลดลงจาก 103.0 120.4 120.0 และ 115.5 ในเดือนกันยายน เป็น 101.8 116.8 113.7 และ 115.3 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต การลงทุนในประเทศ และการลงทุนในต่างประเทศ ลดลงจาก 109.0 125.7 96.8 และ 99.1 ในเดือนกันยายน เป็น 107.9 123.8 94.6 และ 86.3 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสภาพคล่องของกิจการ ความสามารถในการแข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 95.2 100.6 126.2 115.9 และ 109.8 ในเดือนกันยายน เป็น 94.7 97.5 112.4 106.6 และ 95.8 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ การลงทุนของกิจการ และสินเชื่อในการประกอบการ เพิ่มขึ้นจาก 99.7 116.4 99.0 และ 100.6 ในเดือนกันยายน เป็น 99.9 118.2 100.1 และ 106.8 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามร้อยละของการส่งออก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 กลุ่มที่มีการส่งออกร้อยละ 30-60 และกลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของยอดขาย มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2549 ที่อยู่ในระดับ 103.3 มาเป็นระดับ 105.0 ในเดือนตุลาคม 2549 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ส่งออกร้อยละ 30-60 ของยอดขาย มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกันยายน 2549 ที่อยู่ในระดับ 98.1 มาเป็นระดับ 99.1 ในเดือนตุลาคม 2549 และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของยอดขาย มีความเชื่อมั่นลดลงจากเดือนกันยายน 2549 ที่อยู่ในระดับ 94.7 มาเป็นระดับ 91.1 ในเดือนตุลาคม 2549 จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า อุปสงค์จากต่างประเทศต่อสินค้าไทยยังคงมีอยู่และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวลดลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ
ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาด้านการลงทุน โดยเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของชาวต่างชาตินั้นต้องการให้รัฐบาลเร่งสร้างความชัดเจนในนโยบายที่เกี่ยวกับการ ลงทุน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม รวมทั้งการทำงานเชิงรุกของ รัฐบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการมองว่าจะช่วยทำให้การลงทุนโดยรวมของประเทศปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งดูแลราคาวัตถุดิบไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป
สำหรับค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนกันยายนกับเดือนตุลาคม 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า มีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง 18 กลุ่มอุตสาหกรรม ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น ลดลงจาก 103.4 เป็น 83.3 อุตสาหกรรมยา ลดลงจาก 99.3 เป็น 89.2 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ลดลงจาก 63.3 เป็น 40.0 อุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดลงจาก 89.6 เป็น 77.4 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 114.7 เป็น 84.9 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม ลดลงจาก 109.3 เป็น 90.9 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 98.2 เป็น 78.1 สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่าง ชัดเจนมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ เพิ่มขึ้นจาก 81.4 เป็น 98.8 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพิ่มขึ้นจาก 83.1 เป็น 98.9 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะหาร เพิ่มขึ้นจาก 86.4 เป็น 103.4 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นจาก 90.5 เป็น 111.2 อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจาก 101.3 เป็น 111.4 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 82.3 เป็น 92.9 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เพิ่มขึ้นจาก 105.3 เป็น 122.9
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยทรงตัวอยู่ที่ 87.8 และ 108.0 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 95.9 ในเดือนกันยายน เป็น 88.8 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีการส่งออกคิดป็นร้อยละ 51.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง และมีการส่งออกโดยเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 55.8 ของยอดขาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 44.2 ของยอดขายเป็นการจำหน่ายในประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในประเทศจึงทำให้ค่าดัชนีปรับตัวลดลง
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2549 มีเพียงภาคตะวันออกเท่านั้นที่ค่าดัชนีปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 109.0 ในเดือนกันยายน เป็น 102.9 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคตะวันออกได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม จึงทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลดลงด้วย เพราะยอดขายเกือบครึ่งหนึ่งจำหน่ายภายในประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคเหนือ มีดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจาก 93.5 ในเดือนกันยายน เป็น 98.2 ในเดือนตุลาคม เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 92.6 95.6 และ 92.6 ในเดือนกันยายน เป็น 92.9 97.1 และ 94.7 ในเดือนตุลาคม ตามลำดับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1295-99

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ