กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กทม.
กทม. ร่วมกับธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หนุนสินเชื่อสร้างอาชีพ เงื่อนไขพิเศษดอกเบี้ยต่ำ ไม่ถึง 1% ต่อเดือน ผ่อนชำระขั้นต่ำเพียง 122 บาทต่อเดือน สูงสุด 60 งวด พร้อมอนุมัติเร็ว รู้ผลใน 2 สัปดาห์ พร้อมสาธิตฝึกอาชีพในงาน “มหกรรมยิ้มสู้ ...กู้สร้างอาชีพ” 30 พ.ค.นี้ ณ ศูนย์เยาวชน ไทยญี่ปุ่น-ดินแดง
7 พฤษภาคม 2552 เวลา 10.00 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวโครงการ “ยิ้มสู้...กู้สร้างอาชีพ” ร่วมกับผู้บริหารธนาคารออมสินและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลง ซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพหรือเพิ่มทุนหมุนเวียนเพื่อขยายกิจการ ให้มีโอกาสและสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในโครงการ“ยิ้มสู้...กู้สร้างอาชีพ” นี้ไม่ถึง 1 % ต่อเดือน
สำหรับโครงการ “ยิ้มสู้..กู้สร้างอาชีพ” กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 12-18 พ.ค. 52 เวลา 08.00-16.00 น. โดยให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนขอรับสิทธิ์การกู้ และรับบัตรเข้างาน ณ สำนักงานเขตที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือสำนักงานเขตที่ประกอบอาชีพ และในวันที่ 30 พ.ค. 52 กรุงเทพมหานครจะจัดงาน “มหกรรมยิ้มสู้...กู้สร้างอาชีพ” ณ อาคารกีฬาเวศน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ภายในงานจะจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาด้านสินเชื่อของธนาคารออมสินและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ ผู้ที่ลงทะเบียนที่เขตมาแล้ว นำเอกสารประกอบการขอสินเชื่อมายื่นให้กับธนาคาร เพื่อรับบัตรอนุมัติเร็ว (Fast Track) ให้ธนาคารพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ หากท่านที่ไม่ได้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตก็สามารถมาร่วมงานนี้ได้ เพียงแค่เตรียมเอกสารมาให้ครบ นำมาลงทะเบียนตรวจสอบสิทธิ์ที่หน้างาน
ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการนี้ คือ ผู้ที่มีทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจ โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือบริการขนาดเล็ก พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่-แผงลอย ผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ
นอกจากนี้การดำเนินโครงการ “ยิ้มสู้..กู้สร้างอาชีพ” แล้ว กรุงเทพมหานครโดยสำนักพัฒนาสังคม ยังได้จัดทำโครงการข้าวแกง กทม. ที่มีความสะอาด ปลอดภัย ในราคาย่อมเยา เพื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยังมีการดูแลกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรายย่อยด้วยการจัดให้มีโครงการฝึกอาชีพโดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครที่สำนักเขต 8 เขต รวมทั้งมีการพัฒนาอาชีพเพิ่มเติมด้วย
สำหรับเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ธนาคารออมสินได้ผ่อนปรนจากเงื่อนไขโครงการธนาคารประชาชนเดิม ทั้งในแง่วงเงินกู้ การค้ำประกัน และระยะเวลาการชำระหนี้ โดยในส่วนของวงเงินกู้นั้น ได้กำหนดให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน ไม่เกินรายละ 100,000 บาท จะมีค่าผ่อนชำระงวดรายเดือนละ 2,417 บาท นอกจากนี้ ในกรณีไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยให้ในปีถัดไป โดยคิดในอัตรา 0.50% ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนการค้ำประกัน ธนาคารได้ผ่อนปรนเงื่อนไขหลักประกันเงินกู้ประเภทบุคคล เพื่อเพิ่มช่องทางและความยืดหยุ่นแก่ผู้กู้มากขึ้น ขณะเดียว ยังสามารถรองรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้หลักทรัพย์อื่นๆ ค้ำประกันได้ เช่น สมุดเงินฝาก และ/หรือสลากออมสินพิเศษ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด ที่ดินว่างเปล่าที่ตั้งในแหล่งชุมชน เป็นต้น
ในส่วนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้สำรองวงเงินผ่านโครงการสินเชื่อ เพื่อชุมชนจำนวน 100 ล้านบาท กำหนดให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน ในวงเงินรายละ 5,000 - 100,000 บาท โดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ยคิดเฉพาะค่าธรรมเนียมในอัตรา 75 บาทต่อเดือนต่อ 5,000 บาท ส่วนเงื่อนไขของการค้ำประกัน กรณีวงเงินสินเชื่อ 5,000 - 10,000 บาท ไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน วงเงินสินเชื่อ 10,001 - 50,000 บาท ใช้บุคคลค้ำประกัน 1 คน วงเงิน 50,001 — 100,000 บาท ใช้บุคคลค้ำประกัน 2 คน โดยหักจากบัญชีเงินฝาก ระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อ ภายใน 2 สัปดาห์ นับจากเอกสารครบถ้วน และยื่น ณ สาขา
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาคแรงงานไทยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,200 คนทั่วประเทศ ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน พบว่า เริ่มมีปัญหาค่าครองชีพประจำวัน รายได้ลดลง และหาทางออกโดยการเป็นหนี้เพิ่มขึ้น โดยในภาพรวมจะมีภาระหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 87,399.02 บาท และต้องผ่อนชำระต่อเดือน 5,080.23 บาท แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 51.49 % ผ่อนชำระ 4,695.19บาทต่อเดือน และหนี้นอกระบบ 48.51% ผ่อนชำระ 3,937.73 บาทต่อเดือน ซึ่งการกู้หนี้นอกระบบนี้ได้เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเดิมที่ 25-30% นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงาน 69.92 % มีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ในรอบปีที่ผ่านมา