กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สมาคมนักวิเคราะห์ฯ
สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ครั้งล่าสุดว่า ครึ่งหนึ่งของนักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดภายในครึ่งแรกปี 2552 แต่อีก 1 ใน 3 คาดต้องรอถึงครึ่งปีหลัง โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีหุ้นปลายปีเป็นเฉลี่ย 535 จุด จากคาดการณ์เดือนมีนาคม 495 จุด เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกและของไทยที่สร้างความมั่นใจ และคาดดัชนีสูงสุดของปี 2552 ที่ 582 จุด และต่ำสุดที่ 391 จุด อย่างไรก็ตาม ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 52 เป็นติดลบ 3.6% จากผลสำรวจเดิมติดลบ 1.8% และประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไว้ที่ 5.0% พร้อมเสนอแนะภาครัฐจับตาสี่ประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาการเมือง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาส่งออกหดตัว หนี้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้น และเร่งเบิกจ่ายงบรัฐ นอกจากนี้ แนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ เชื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบน้อยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
มีสำนักวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์แสดงความเห็นรวม 23 แห่ง
สถานการณ์เศรษฐกิจโลก: จุดต่ำสุดและช่วงเวลาที่จะฟื้นตัว
จุดต่ำสุด
นักวิเคราะห์ร้อยละ 48 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดภายในครึ่งแรกของปี 2552 ในขณะที่อีกร้อยละ 35 มองว่าครึ่งหลังของปี 2552 จึงจะถึงจุดต่ำสุด โดยมีร้อยละ 4 คาดว่าจะต่ำสุดในระหว่างไตรมาสสองและไตรมาสสาม และอีกร้อยละ 13 คาดว่าจะต่ำสุดในปี 2553
ช่วงเวลาที่จะฟื้นตัว
นักวิเคราะห์ร้อยละ 30 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2552 นักวิเคราะห์ร้อยละ 9 เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นในระหว่างไตรมาสสี่ปี 2552 และไตรมาสแรกปี 2553 ในขณะที่มีนักวิเคราะห์ร้อยละ 26 ที่มองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในครึ่งแรกของปี 2553 โดยมีนักวิเคราะห์ร้อยละ 4 คาดว่าฟื้นกลางปี 2553 ร้อยละ 13 คาดฟื้นตัวในปี 2553 โดยไม่ระบุช่วงเดือน และอีกร้อยละ 4 มองว่าฟื้นตัวในปี 2554 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ที่เหลือไม่คาดการณ์ช่วงเวลาฟื้นตัว
สมมติฐานหลักที่นักวิเคราะห์ใช้ประกอบการทำบทวิเคราะห์ในปี 2552
ปัจจัยบวก
1) สถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงภาวะตลาดหุ้น และปัญหาระบบสถาบันการเงินของสหรัฐ และยุโรป มีผู้ตอบร้อยละ 74
2) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย มีผู้ตอบร้อยละ 70
3) อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ มีผู้ตอบร้อยละ 61
4) ผู้ตอบเท่ากันสองปัจจัยที่ร้อยละ 30 คือ กระแสเงินทุนไหลเข้าไทย และราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
5) ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีกว่าที่คาด มีผู้ตอบร้อยละ 26
ปัจจัยลบ
1) ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงเสถียรภาพรัฐบาลและปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มีผู้ตอบร้อยละ 78
2) สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและอาจไม่ยั่งยืน รวมถึงปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป มีผู้ตอบร้อยละ 57
3) ปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศ มีผู้ตอบร้อยละ 26 ประกอบด้วยเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่หดตัวลง ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในบางกลุ่มน้อยกว่าที่คาดการณ์
4) อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น มีผู้ตอบร้อยละ 22
5) การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ มีผู้ตอบร้อยละ 17
ระดับของผลกระทบจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ต่อภาวะเศรษฐกิจไทย
ผลกระทบน้อย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 74 เห็นว่า โรคดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยน้อย เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคยังไม่กว้างมากเมื่อเทียบกับโรคซาร์ส หรือไข้หวัดนกในอดีต อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งศูนย์กลางของโรคอยู่ห่างไกลจากไทยมาก และยังไม่มีการระบาดในไทย
ผลกระทบปานกลาง มีนักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 13 โดยเห็นว่าเป็นเชื้อโรคที่ติดต่อง่าย และอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย
ผลกระทบมาก มีนักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 9 เนื่องจากเป็นเชื้อโรคใหม่ ยังไม่สามารถกำหนดระดับความรุนแรงได้ ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ปัญหาที่ภาครัฐต้องจับตาและเตรียมการรองรับมากที่สุด
1) ปัญหาทางการเมือง รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการ มีผู้ตอบร้อยละ 61
2) ปัญหาการว่างงาน มีผู้ตอบร้อยละ 52
3) มีผู้ตอบเท่ากัน 3 เรื่อง ที่ร้อยละ 9 คือ ปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัวลง หนี้เสียของธนาคาร (NPL) ที่อาจพุ่งสูงขึ้น และ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นักวิเคราะห์เห็นด้วยมากที่สุด
1) โครงการลงทุนภาครัฐ ในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ และโครงการชลประทาน มีผู้ตอบร้อยละ 87
2) นโยบายด้านการศึกษา โดยมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี มีผู้ตอบร้อยละ 39
3) นโยบายกระตุ้นการบริโภคของประชาชน เช่น เบี้ยยังชีพคนชรา เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท เป็นต้น มีผู้ตอบร้อยละ 22
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นักวิเคราะห์ไม่เห็นด้วย
นักวิเคราะห์มีความเห็นที่หลากหลายในข้อนี้ โดยร้อยละ 39 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินสองพันบาทต่อคน ให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000.-บาท นักวิเคราะห์ร้อยละ 17 แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายช่วยค่าครองชีพ โดยการขยายเวลา 5 มาตรการออกไป (เช่น น้ำ ไฟ ฟรี) และนักวิเคราะห์ร้อยละ 13 ไม่เห็นด้วยกับการพยุงราคาสินค้าเกษตร รวมถึงการประกันราคาข้าว และนักวิเคราะห์ที่เหลือไม่เห็นด้วยกับนโยบายอื่น ๆ
ระดับความเชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ต่อความมั่นคงทางการเมือง
มั่นใจปานกลาง มีนักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 39 โดยเห็นว่าสถานการณ์ตึงเครียดได้ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอยู่
มั่นใจน้อย มีนักวิเคราะห์ตอบร้อยละ 52 เนื่องจากเห็นว่ายังมีความขัดแย้งและแตกแยกอยู่ รวมถึงการชุมนุมต่าง ๆ และแรงกดดันจากนอกรัฐสภา ในขณะที่ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว
ไม่มั่นใจ มีผู้ตอบร้อยละ 9 โดยเห็นว่ายังมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีการเจรจาประสานข้อเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อแนะนำสำหรับรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อภาวะเศรษฐกิจ สังคม และตลาดทุนไทย
เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค ให้สิทธิพิเศษทางภาษีและโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ จัดการกับปัญหาการว่างงาน มีผู้ตอบร้อยละ 30
แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเทศ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง และสร้างความสมานฉันท์ มีผู้ตอบร้อยละ 26
เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ และการเบิกจ่ายงบประมาณ มีผู้ตอบร้อยละ 17
ตัวเลขคาดการณ์ที่สำคัญ สำหรับปี 2552
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือ SET Index
- ณ สิ้นปี 2552 ปรับเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยตัวเลข สิ้นปี 2552 คาดการณ์ล่าสุดอยู่ที่เฉลี่ย 535 จุด จากเดิมคาดไว้ 495 จุด โดยตัวเลขสิ้นปีสูงสุดที่มีผู้ตอบยังคงเท่าเดิมที่ 610 จุด และมีผู้ตอบตัวเลขสิ้นปีไว้ต่ำสุดที่ 440 จุด
- จุดสูงสุด ของ SET Index ในปี 2552 นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่เฉลี่ย 582 จุด
- ไตรมาสที่แตะจุดสูงสุด ของปี 2552 นักวิเคราะห์ร้อยละ 53 คาดว่าจะเป็นไตรมาสที่สี่ นักวิเคราะห์ร้อยละ 33 คาดว่าจะอยู่ในไตรมาสที่สอง และมีนักวิเคราะห์ร้อยละ 7 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในไตรมาสที่สาม
- จุดต่ำสุด ของ SET Index ในปี 2552 นักวิเคราะห์ประเมินไว้ที่เฉลี่ย 391 จุด
- ไตรมาสที่แตะจุดต่ำสุด ของปี 2552 นักวิเคราะห์ร้อยละ 53 คาดว่าจุดต่ำสุดเกิดไปแล้วในไตรมาสแรก นักวิเคราะห์ร้อยละ 27 คาดว่าจะอยู่ในไตรมาสสาม มีนักวิเคราะห์ร้อยละ 20 ที่คาดว่าจุดต่ำสุดจะอยู่ในไตรมาสที่สอง
อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ทั้งปี 2552
- อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวมากขึ้น โดยมีตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวเฉลี่ยที่ ลบ 3.6% จากประเมินครั้งที่แล้วที่คาดว่าจะติดลบ 1.8% โดยมีนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้สูงสุดสำหรับ GDP ปี 52 ที่ ลบ 1.5% ส่วนผู้ที่คาดการณ์ GDP ปี 52 ไว้ต่ำสุดที่ ลบ 5.7%
- จำนวนไตรมาสของปี 52 ที่คาดว่าจะติดลบ นักวิเคราะห์ร้อยละ 45 คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจรายไตรมาสของปี 52 จะติดลบ 3 ไตรมาส นักวิเคราะห์ร้อยละ 25 มองว่าจะติดลบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 20 มองว่าจะติดลบ 2 ไตรมาส และอีกร้อยละ 5 เชื่อว่าจะติดลบ 1 ไตรมาส
- ไตรมาสที่คาดว่าจะติดลบมากที่สุด มีนักวิเคราะห์คาดว่าอัตราการเติบโตจะหดตัวมากที่สุดในไตรมาสแรก ปี 52 ร้อยละ 60 โดยประเมินว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย ลบ 6.0% และนักวิเคราะห์ร้อยละ 40 เชื่อว่าจะหดตัวมากสุดในไตรมาสที่สอง ที่เฉลี่ย ลบ 6.3%
ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth ทั้งปี 2552
- คาดการณ์มีการเติบโตขึ้น เฉลี่ยที่ 5.0% เท่ากับครั้งที่แล้ว
อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สรอ. ณ สิ้นปี 2552
- ตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยที่ 33.8 บาทต่อดอลลาร์สรอ.
อัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน ณ สิ้นปี 2552
- อัตราดอกเบี้ย RP 1 วัน นักวิเคราะห์ประเมินอัตราดอกเบี้ย RP 1 วันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.92%
- ช่วงเวลาที่คาดว่าจะแตะจุดต่ำสุด นักวิเคราะห์ร้อยละ 48 มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะจุดต่ำสุดในไตรมาสที่สอง ในขณะที่นักวิเคราะห์ร้อยละ 38 มองว่าจะต่ำสุดไตรมาสสาม ร้อยละ 10 คาดว่าถึงจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสแรก และอีกร้อยละ 5 เชื่อว่าจะต่ำสุดไตรมาสที่สี่
ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) เฉลี่ยทั้งปี 2552
- โดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ ลบ 0.5% มีผู้คาดการณ์สูงสุดที่ 1.5% และมีผู้คาดการณ์ต่ำสุดที่ ลบ 3.9%
แหล่งข้อมูล...สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โทร. 02-229-2329, 02-229-2355-6 อีเมล์ jirawan@saa-thai.org