กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กกพ.
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า การพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนพฤษภาคม — สิงหาคม 2552 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำหนดให้ กฟผ. ตรึงค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บจากประชาชนในระดับเดิม คือ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.17 บาทต่อหน่วย เนื่องจากต้นทุนค่าเอฟทีปรับลดลงแต่เมื่อหักล้างกับภาระค่าเอฟทีสะสม จึงได้คงเอฟทีไว้ในระดับเดิม เพื่อไม่ให้เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการน้อยที่สุด
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้ค่าเอฟทีลดลง ได้แก่ แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 ลดลง 16.38 บาทต่อล้านบีทียู เมื่อเทียบกับแผนช่วงที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 249.65 บาทต่อล้านบีทียู อยู่ในระดับ 233.28 ล้านบาทต่อล้านบีทียู และความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงตามทิศทางของระบบเศรษฐกิจของโลกและของประเทศ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงประมาณ 16.87 ล้านหน่วยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากแผนในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ลดลง 4,986.54 ล้านบาท หรือประมาณ 15.54 สตางค์ต่อหน่วย
นายดิเรก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยังมีภาระเอฟทีที่ กฟผ. รับภาระอยู่ จำนวน 22,677 ล้านบาท ซึ่งหากนำมาคำนวณเป็นค่าเอฟทีในงวดนี้จะได้เท่ากับ 135.48 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากให้ กฟผ. ปรับขึ้นในอัตราดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าไฟฟ้าในรอบนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13%ซึ่งนับว่าเป็นภาระที่สูงมากภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทาง กกพ. จึงได้ชะลอการขึ้นค่าเอฟทีในส่วนนี้ไว้ก่อน
ดังนั้น กกพ. ได้พิจารณาถึงการปรับค่าเอฟทีโดยให้เป็นภาระและส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการให้น้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการให้ กฟผ. มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินกิจการและการลงทุน จึงได้กำหนดให้ค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บจากประชาชนในงวดนี้เท่าเดิม โดยค่าเอฟทีดังกล่าวเมื่อนำมารวมกับยอดสะสมที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างค่าเอฟทีที่คำนวณได้กับค่าเอฟทีเรียกเก็บ ทำให้ กฟผ. มีรายได้ค้างรับลดลงเป็น 19,136 ล้านบาท ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย
ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากภาครัฐได้รับภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้าแทนประชาชนตามมาตราการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2552
อย่างไรก็ตาม กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องการปรับอัตราค่าเอฟทีในงวดดังกล่าวแล้ว ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ระหว่างวันที่ 1 — 11 พฤษภาคม 2552 ซึ่งมีประชาชนเข้ามาร่วมรับฟังความคิดเห็นจำนวน 152 ราย โดยความคิดเห็นต่างๆ อาทิ ความคิดเห็นเกี่ยวกับราคาเชื้อเพลิงว่า ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นส่วนทางกับราคาพลังงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กกพ. ได้พิจารณาประเด็นต่างๆจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว โดย กกพ. ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของสมมติฐานต่างๆที่ใช้ในการพิจารณาค่าเอฟทีอย่างรอบคอบเพื่อให้มีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันโดยคำนึงถึงภาระของประชาชนรวมทั้ง สภาพคล่องทางการเงินของการไฟฟ้า