กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม
เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2549 องค์การหมอไร้พรมแดน (Medecins Sans Frontieres - MSF) ได้ทำโครงการ “My life with HIV” เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสุขภาพดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส 25 คนจาก 7 ประเทศทั่วโลก ประกอบไปด้วย เปรู, กัวเตมาลา, เอลซัลวาดอร์, มาลี, คองโก, จีน และ ประเทศไทย ผ่านรูปถ่ายและคำบอกเล่าด้วยตัวของผู้ติดเชื้อฯเอง โดยจะเผยแพร่ทางเว็บไซท์ขององค์การฯ http://www.msf.org ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายนนี้
ในแต่ละเรื่องราวจะประกอบไปด้วยภาพและคำบอกเล่าประกอบภาพแต่ละภาพว่าเกิดอะไรขึ้น หรือเหตุใดจึงเลือกถ่ายรูปนี้ จุดประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อถ่ายทอดแบ่งปันประสบการณ์ในหลายๆช่วงเวลาที่พวกเขาได้ประสบผ่านมาในการติดเชื้อเอชไอวี ทั้งช่วงเวลาของความทุกข์ทรมานจากการป่วย ความกลัว ช่วงเวลาที่สุขภาพกลับมาดีขึ้นเพราะการกินยาต้านฯ และช่วงเวลาที่กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป เพื่อให้เราพวกเราทุกคนที่ไม่ได้ติดเชื้อฯเข้าใจชีวิตของผู้ติดเชื้อฯได้ดีมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นในการเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียมกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ผู้ติดเชื้อฯ 4 คนที่ได้รับคัดเลือก ประกอบไปด้วย ต้น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย, น้องแอน เด็กที่ติดเชื้อจากแม่, เทย์ สาวพม่าที่กำลังตั้งครรภ์ และ ซอ แรงงานพม่าในโรงเลื่อย
ขอบคุณผู้ติดเชื้อฯทุกคนที่ให้โอกาสเราได้เข้าถึงและเข้าใจชีวิตของคุณ
เมื่อครั้งแรกที่องค์การหมอไร้พรมแดนเข้ามาทำงานเรื่องเอชไอวีในประเทศไทย เมื่อปี 2538 ทัศนคติส่วนใหญ่ ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทย ในการรักษาเอชไอวี/เอดส์ เกือบจะเรียกได้ว่าหมดหวัง ทั้งความรู้สึกที่ว่าเอดส์ไม่สามารถรักษาได้ และความไม่พร้อมของเครื่องมือในการตรวจรักษา เป็นเรื่องท้าทายมาก จนกระทั่งปี 2543 ที่องค์การหมอไร้พรมแดนได้เริ่มโครงการนำร่องในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในบางโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชื่อสามัญ หลังจากนั้น 2 ปี องค์การหมอไร้พรมแดนได้เริ่มดำเนินการอีกหนึ่งโครงการนำร่องในการให้การรักษาด้วยยาต้านฯ สำหรับเด็ก
ตั้งแต่นั้นเป็นตันมา ด้วยการร่วมมือกันของฝ่ายรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็นและการรักษาขององค์การหมอไร้พรมแดน, องค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) องค์กรภาคีในประเทศ และความร่วมมือของหน่วยราชการไทย จึงนำไปสู่การผลิตยาต้านไวรัสชื่อยาสามัญ จนนำไปสู่การบรรจุยาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้คนไทยที่ติดเชื้อฯทุกคนสามารถได้รับการรักษาด้วยยาต้านฯที่มีราคาถูกได้
วันนี้มีคนไทยผู้ติดเชื้อกว่า 80 000 คนที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านฯและ ด้วยปัจจัยพื้นฐานต่างๆของโครงการนำร่องนี้ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปเป็นตัวอย่างเพื่อการเข้าถึงการรักษาแก่ผู้ติดเชื้อฯในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
จนมาถึงวันนี้ แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จและสามารถเอาชนะอุปสรรคบางประการเพื่อให้การเข้าถึงยาและการรักษาได้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นสำหรับคนทุกคน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มประชากรอ่อนแอ ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แรงงานต่างชาติ และผู้ต้องขัง ที่ยังอยู่ห่างไกลและเข้าไม่ถึงระบบการรักษาสุขภาพ ต้องมีชีวิตอยู่ด้วยปราศจากการเยี่ยวยารักษาความเจ็บปวดที่พวกเขาเหล่านั้นประสบอยู่ นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด และกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่ยังเข้าไม่ถึงการระบบการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดความเสี่ยงเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อเอชไอวีแก่พวกเขา
วันนี้ องค์การหมอไร้พรมแดน เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) ทำงานเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาและการรักษาสำหรับกลุ่มประชากรเบื้องต้นเหล่านี้โดยผ่านโครงการต่างๆ ขององค์การหมอไร้พรมแดนในกรุงเทพฯ, กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์, จ.เชียงราย, จ.เพชรบุรี และ จ. พังงา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยาจำเป็นและการรักษา 0850-708-954
ไพจิตรา กตัญญูตะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและการสื่อสาร 0894-595-143
องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) โทรศัพท์: 0-2370-3087-90 โทรสาร 0-2731-1432
อีเมลล์ msfb-bangkok-drugs@brussels.msf.org