ผลการดำเนินงานของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร ในการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง การบริหารจัดการปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ต่อคณะรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2009 09:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--สป. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 โดยคณะทำงานประกอบด้วยสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจำนวน 15 ท่าน เพื่อศึกษาปัญหาและหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหาร ซึ่งได้มีการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาเขาพระวิหาร กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552 ต่อมาคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกรณีปัญหาเขาพระวิหารได้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาเขาพระวิหารดังกล่าว และเห็นว่าปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นปัญหาที่สำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการให้มีการบริหารจัดการปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง และมีบูรณาการ จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับปัญหาดังกล่าว เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ โดยคณะทำงานฯ ได้มีความเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องการบริหารจัดการปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาในประเด็นสำคัญดังนี้ 1. เขตแดนและการเจรจา 1) รัฐบาลควรทบทวนบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีป (Memorandum of Understanding between the Royal Thai Government and the Royal Government of Cambodia regarding The Area of their Overlapping Maritime Claims to the Continental Shelf) ลงนามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ว่าได้มีการดำเนินการตามมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือไม่ ซึ่งในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวอาจเข้าข่ายหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หากทบทวนแล้วพบว่าไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 224 ดังกล่าวข้างต้น และในกรณีที่รัฐบาลเห็นควรที่จะใช้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจา รัฐบาลควรพิจารณาให้มีการดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อนที่จะใช้บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นกรอบในการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชาต่อไป 2) ในกรณีที่จะใช้บันทึกความเข้าใจตามข้อ1) เป็นกรอบในการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลของไหล่ทวีประหว่างไทยกับกัมพูชานั้น สำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล (Joint Development Area) ระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐบาลควรจัดทำกรอบในการเจรจาเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวและเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190 3) การเจรจาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐบาลควรยึดถือหลักการสากลตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 4) ในการเจรจาเขตแดนทางบกระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐบาลควรนำเรื่องชุมชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหลายพื้นที่มาเป็นประเด็นในการเจรจาด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแก้ไขในพื้นที่ดังกล่าวรวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดกรณีปัญหาซ้ำในพื้นที่อื่นอีก 5) รัฐบาลควรเจรจาเขตแดนทางบกและทางทะเลไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้หากยังมีการละเมิดหรือการรุกล้ำจาก ฝ่ายกัมพูชา รัฐบาลควรชะลอการเจรจาออกไปก่อน 6) รัฐบาลควรกำหนดกลไกและปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการที่รับผิดชอบการเจรจาเขตแดนกับประเทศ เพื่อนบ้านเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ความต่อเนื่อง และมีบูรณาการในการเจรจาทั้งนี้อาจดำเนินการโดยจัดตั้งองค์กรเพื่อรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ 7) ในการเจรจาหลักเขตแดนทางบกทั้ง 73 หลักระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐต้องกำหนดแนวทางในการเจรจา ในภาพรวม ไม่ควรเจรจาตกลงในลักษณะทีละหลักเขต เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อมูลในท้องที่ว่าหลักเขตใดที่กัมพูชาได้ประโยชน์ กัมพูชาก็จะยินยอมตกลงหลักเขตนั้น 2. การบริหารจัดการพื้นที่ชายแดน 1) การเปิดจุดผ่านแดนใหม่ระหว่างไทยกับกัมพูชา รัฐควรพิจารณาอย่างรอบคอบและมีการวิเคราะห์ประโยชน์ ที่จะได้รับก่อนอนุญาตที่จะเปิดดำเนินการ ตัวอย่างเช่น กรณีจุดผ่านแดนช่องตาเฒ่าบริเวณใกล้เขาพระวิหาร กัมพูชาพยายาม ที่จะผลักดันให้มีการเปิดจุดผ่านแดนดังกล่าว เพื่อที่จะให้นักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยผ่านไปใช้ช่องทางขึ้นในฝั่งกัมพูชาได้ แต่ในข้อเท็จจริงไทยอาจสูญเสียในด้านธุรกิจทางท่องเที่ยวและยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางทหาร 2) รัฐควรกำชับการใช้ระเบียบการผ่านแดนในจุดต่างๆ บริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชา ให้มีการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิผล 3) รัฐต้องมีมาตรการปราบปรามและป้องกันกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นในบริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชา โดยการส่งเสริมให้ชุมชนและภาคส่วนอื่นในท้องถิ่นให้มีการตรวจสอบ รวมทั้งทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง 4) ในบริเวณชายแดนที่มีสถานกาสิโนในฝั่งกัมพูชา รัฐต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการที่จะไม่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยเข้าไปเล่นการพนันในสถานกาสิโนดังกล่าว 5) รัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการค้าบริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชา ทั้งในส่วนของมาตรการทางด้านภาษีและคลังสินค้า ตลอดจนขจัดข้อขัดข้องและอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับระเบียบทางการค้าให้มีความคล่องตัว 6) รัฐควรใช้ประเด็นทางการค้าชายแดนเพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อรองในกรณีที่มีปัญหาชายแดนหรือในการแก้ปัญหาชายแดน 7) รัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการในลักษณะมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ชายแดนไทยกับกัมพูชาให้มีมากขึ้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนของทั้งสองประเทศในพื้นที่ชายแดน เช่น การดำเนินการทางด้านจิตวิทยามวลชน การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรม การกีฬาและนันทนาการในพื้นที่ชายแดน 8) รัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนด้านการข่าวในพื้นที่บริเวณชายแดนไทยกับกัมพูชา 9) รัฐควรพัฒนาบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งดูแลและให้สวัสดิการที่ดีเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ตลอดจนส่งเสริมให้มีความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งจะทำให้บุคลากรเหล่านี้ตั้งใจต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเต็มที่ อันจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ในระยะยาว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (Office of The National Economic and Social Advisory Council) 128 ถนนพญาไท อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 21 ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 0-2612-9222 ต่อ 220, 236 โทรสาร 0-2612-9179-80 www.nesac.go.th E-Mail :- nesac_pr@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ