ผลการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 7/2552 และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 6/2552

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2009 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ก.ล.ต. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 7/2552 และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ครั้งที่ 6/2552 ว่า คณะกรรมการมีมติเห็นชอบการออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดอุปสรรคต่อภาคเอกชน โดยสรุปได้ดังนี้ 1. หลักเกณฑ์ด้านการจัดการกองทุน 1.1 คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบการออกหลักเกณฑ์ให้กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิต (credit derivatives) โดยการถ่ายโอนความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ของสินทรัพย์ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง ไปยังผู้ขายประกันความเสี่ยงเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ 1.2 คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบให้ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถลงทุนได้ โดยศูนย์กระจายสินค้านั้น จะจำหน่ายสินค้าประเภทใดก็ได้และเป็นการให้บริการแก่ประชาชนที่ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใด กลุ่มหนึ่งเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาความยากลำบากในการหาผู้เช่ารายใหม่กรณีที่ผู้เช่ารายเดิมสิ้นสุดสัญญาเช่า 1.3 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ผ่อนผันหลักเกณฑ์การถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า 1 ใน 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจให้แก่กองทุนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญดังนี้ (1) จำนวนหน่วยลงทุนที่ซื้อและถือเดิมรวมแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวน หน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้ทั้งหมด (2) ต้องซื้อหน่วยลงทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ และจะต้องถือไว้อย่างน้อย 6 เดือนนับจากวันที่ซื้อครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องขายหน่วยลงทุนดังกล่าวออกภายใน 4 ปีนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ (3) หน่วยลงทุนในส่วนที่เกินกว่า 1 ใน 3 จะไม่นำมานับรวมเป็นคะแนนเสียงในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน แต่ยังคงได้รับเงินปันผลในช่วงเวลาตาม (2) 2. หลักเกณฑ์การรายงานการถือหลักทรัพย์ของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เสนอขายต่อประชาชน คณะกรรมการกำกับตลาดทุนเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรายงานการถือหลักทรัพย์ของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชี ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เสนอขายต่อประชาชนให้ยืดหยุ่น ไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ภาคธุรกิจมากเกินไป โดยจะยกเว้นไม่ต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ (แบบ 59-2) ในกรณีที่การซื้อขายหลักทรัพย์นั้นมีลักษณะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการรู้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้ เช่น การได้หลักทรัพย์จากโครงการที่บริษัทเสนอขายหลักทรัพย์ให้กรรมการหรือพนักงาน (ESOP) การได้หุ้นตามโครงการสะสมหุ้นสำหรับกรรมการหรือพนักงาน (Employee Joint Investment Program: EJIP) การได้หลักทรัพย์แปลงสภาพจากการจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น และการนำหลักทรัพย์ไปวางเป็นหลักประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น พร้อมกันนี้ ยังได้กำหนดการเริ่มต้นและการสิ้นสุดหน้าที่การรายงานให้ชัดเจนขึ้น โดยให้บุคคลเริ่มมีหน้าที่ต้องรายงานเมื่อบริษัทนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสิ้นสุดหน้าที่เมื่อบริษัทไม่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ