แพทย์ ม.อ. ผลิตอุปกรณ์ผ่าตัดรักษาโรคมือชาใช้เวลาน้อย-ลดอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัด

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2009 12:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ แพทย์ ม.อ. เจ๋ง ประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในช่วยผ่าตัดรักษาโรคมือชา ชูจุดเด่นต้นทุนต่ำ ใช้เวลาผ่าตัดน้อย ขณะที่แผลจากการผ่าตัดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที และประหยัดเงินในการรักษา หลังทำการรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 14 ราย ได้ผล 100% ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ทีมแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์ ม.อ.ประกอบด้วย ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รศ.นพ.บุญสิน ตั้งตระกูลวนิช ผศ.นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี นพ.ปรเมศวร์ สุวรรณโณ นพ.วราห์ ยืนยงวิวัฒน์ และนายเอกรินทร์ วงษ์ศิริ ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่งมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดภายใต้ชื่อ PSU Carpal Tunnel Retractor เพื่อรักษาอาการโรคมือชา ที่เกิดจากโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาที่มือ บริเวณนิ้วและปลายนิ้วมือ สำหรับอาการของโรคดังกล่าว มักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2-4 เท่า โดยอายุที่พบบ่อยที่สุด คือ ประมาณอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงสตรีมีครรภ์ และหลังคลอดบุตร รวมทั้งผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งรูปแบบการรักษาแบบเดิมนั้น แพทย์จะให้ดมยาสลบ เพื่อทำการผ่าตัดประมาณ 60 นาที และมีแผลยาว 3-5 ซม. โดยหลังผ่าตัดผู้ป่วยยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่ออีก 1-2 วัน และต้องทนเจ็บแผลนานอีก 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ที่แม้ว่าจะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กเพียง 1-2 ซม. แต่ต้องใช้เวลาผ่าตัด 30-60 นาที โดยต้องดมยาสลบ และหลังจากการผ่าตัดยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 1-2 วัน ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก “แต่สำหรับการใช้อุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดที่ประดิษฐ์ขึ้น และใช้เวลาผ่าตัดเพียง 8-15 นาทีต่อราย และมีบาดแผลจากการผ่าตัดเพียง 1.5-1.8 ซม. โดยใช้การฉีดยาชาแทนการใช้ยาสลบ ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อย ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาลและสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้อเยื่อที่จะผ่าตัดได้ชัดเจน ทำให้การรักษาโรคมือชามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการทำการผ่าตัดรักษาเลาะพังผืดรัดข้อมือเพื่อรักษาผู้ป่วยในช่วงเดือนกรกฎาคม 2551-มกราคม 2552 แล้วจำนวน 14 ราย พบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ครบทุกราย โดยไม่มีอาการของโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด” ผศ.นพ.สุนทร กล่าว ทั้งนี้ การผ่าตัดโดยอุปกรณ์ดังกล่าว จะเข้ามาทดแทนการผ่าตัดในรูปแบบเก่า ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดทำการรักษาโรคมือชาได้เร็วขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษา และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายการซื้ออุปกรณ์ผ่าตัดจากต่างประเทศ เนื่องจากอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัดสามารถผลิตได้ง่าย เนื่องจากใช้วัสดุสแตนเลส ต้นทุนต่ำราคาประมาณ 3,000 บาทต่อชิ้น และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งขณะนี้ทางทีมแพทย์ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ทีมแพทย์ผู้ออกแบบและพัฒนาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังสนใจและร่วมพัฒนางานวิจัยทางคลินิก จากหลายสถาบัน เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยอาจพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการรักษาและผ่าตัดด้วยอุปกรณ์ช่วยถ่างและส่องมองเนื้อเยื่อภายในสำหรับช่วยผ่าตัด เพื่อแก้ปัญหาโรคมือชาต่อไปอีกด้วย เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ