ปภ. แนะการป้องกันจุดเสี่ยงอุบัติภัยในโรงเรียน

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2009 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ปภ. ระยะนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา เด็กส่วนใหญ่จึงใช้เวลาในการประกอบกิจกรรมต่างๆภายในโรงเรียน แต่หากสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาไม่ปลอดภัย ประกอบกับความซุกซนและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอันตรายกับเด็กได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจึงขอแนะนำจุดเสี่ยงอันตรายในโรงเรียนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้ดูแล ร่วมกันตรวจสอบและแก้ไข เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัย ดังนี้ ประตูโรงเรียน ควรตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง ล้อเลื่อนประตูอยู่ในรางและมีน๊อตยึดติดอย่างแน่นหนา หากพบว่าชำรุดหรือเปิด-ปิดลำบาก ควรแจ้งให้ช่างมาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที เพื่อป้องกันประตูล้มทับเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ติดตั้งปลั๊กไฟไว้บนที่สูงไม่ให้เด็กเอื้อมถึง เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่เล่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้ถูกไฟฟ้าดูด และติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งหมั่นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณตู้น้ำดื่มที่มักเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไฟฟ้าช็อตก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ โต๊ะ เก้าอี้ ตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง ไม่โยกเยก ไม่มีตะปูแหลมคมยื่นออกมา เพราะหากเด็กไม่สังเกตเห็น อาจได้รับบาดเจ็บจากการถูกตะปูตำหรือเกี่ยวถูกได้ อีกทั้งไม่ควรให้เด็กขึ้นไปยืนหรือนั่งบนโต๊ะ เพราะอาจตกลงมาได้รับบาดเจ็บได้ บันไดทางขึ้น-ลง ตรวจสอบและดูแลให้อยู่ในสภาพแข็งแรงโดยเฉพาะราวจับบันได ส่วนพื้นบันไดควรปูกระเบื้องชนิดป้องกันการลื่นไถล หากเป็นบันไดไม้ ควรตรวจตราอยู่เสมอ เพราะอาจผุพังจากการถูกปลวกกิน หากเด็กยืนพิงหรือกระโดดเล่นอาจได้รับอันตรายได้ สนามเด็กเล่น เป็นจุดเสี่ยงอันตรายที่ก่อให้เกิดอุบัติภัยร้ายแรงกับเด็กมากที่สุด ควรตรวจสอบเครื่องเล่น ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง แข็งแรงอยู่เสมอโดยตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เครื่องเล่นต้องยึดติดกับพื้นอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันเครื่องล้มทับเด็ก โดยเฉพาะเครื่องเล่นที่หมุน เคลื่อนที่หรือโยกได้ ต้องมีที่ยึดจับให้มั่นคง เช่น ลูกโลก ชิงช้า เป็นต้น และไม่มีน๊อตหรือสกรูยื่นออกมาเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากพบว่าเครื่องเล่นชำรุดให้รีบแจ้งช่างมาดำเนินการแก้ไขทันที รวมทั้งจัดพื้นที่สนามเด็กเล่นให้เป็นสัดส่วน ทำรั้วรอบสนามเด็กเล่น เพื่อป้องกันเด็กแอบเข้าไปเล่นในช่วงที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ ตลอดจนจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลการเล่นของเด็กอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ช่วยเหลือเด็กได้อย่างทันท่วงที บ่อน้ำ จัดทำรั้วกั้นรอบบริเวณแหล่งน้ำภายในโรงเรียน และติดตั้งป้ายเตือนอันตรายจากการเล่นบริเวณริมน้ำ เพราะหากลื่นพลัดตก อาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้ สนามกีฬา ควรตรวจสอบไม่ให้มีสภาพเป็นหลุมบ่อ หรือมีเศษวัสดุของมีคม เพราะเสี่ยงต่อการเหยียบถูกจนได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งดูแลมิให้หญ้าขึ้นรก เพราะอาจเป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษได้ อาคารที่กำลังก่อสร้าง จัดทำรั้วกั้นหรือใช้ผ้าคลุมบริเวณที่กำลังก่อสร้าง ติดตั้งป้ายและประกาศเตือนมิให้เด็กเข้าไปเล่นในบริเวณดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายจากวัสดุก่อสร้างที่ร่วงลงมา เช่น กระจก ตะปู หิน อิฐ เศษเหล็ก เป็นต้น นอกจากนี้ ถนนบริเวณหน้าโรงเรียนโดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็นที่มีปริมาณรถหนาแน่นมาก ควรเอาใจใส่ดูแลระบบการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนเป็นพิเศษ โดยจัดครูดูแลความปลอดภัย และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกบริเวณหน้าโรงเรียนเพื่อดูแลการข้ามถนนและการขึ้น-ลงรถของเด็กนักเรียน ป้องกันอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษาและครูควรดูแลเอาใจใส่และสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัย และกำหนดมาตรการป้องกันอันตรายในโรงเรียน ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติภัยหรือลดความรุนแรงของอุบัติภัยได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ