‘อ้อย-น้ำตาลทราย’ สวนเศรษฐกิจโลก-หนุนเศรษฐกิจไทย ปีทองเกษตรกร ลุ้นราคาแตะ 1 พันบาทต่อตัน-เงินหมุน 4 แสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday May 14, 2009 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ เลขาธิการ สอน. - ประธานบริหาร ไทยชูการ์ มิลเลอร์ ประสานเสียง ปีนี้เป็นปีทองอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นสินค้าที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศต่อปีกว่า 8 หมื่นล้านบาท หมุน 5 รอบ 4 แสนล้านบาท ลุ้นราคาอ้อยฤดูกาล 2551/2552 มีสิทธิ์แตะระดับ 1 พันบาทต่อตันอ้อย คาดเกษตรกรจะหันมาปลูกอ้อยมากขึ้น ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากแนวโน้มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปี 2552 ที่ถือว่า ดีที่สุดในรอบหลายๆ ปี ส่งผลให้ราคาอ้อยปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้คาดว่า ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2551/2552 น่าจะอยู่ที่ระดับ 920 บาทต่อตันอ้อย จากราคาขั้นต้นที่ 830 บาทต่อตันอ้อย และหากรวมค่าความหวานเข้าไปอีกก็น่าจะทำให้ราคาอ้อยปีนี้ยืนอยู่ที่ระดับ 1,000 บาทต่อตันอ้อยได้ ขณะเดียวกันทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ก็น่าจะทำให้ราคาอ้อยปี 2552/2553 ไม่ต่ำกว่าราคาในปีนี้ ซึ่งจะมีผลให้ปริมาณอ้อยไม่ลดลงจากปีก่อน “ปีนี้ถือเป็นปีทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2551/2552 ซึ่งปิดหีบไปแล้วมีผลผลิตอ้อยรวมทั้งสิ้น 66.5 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 7.1 ล้านตัน ถึงแม้ผลผลิตอ้อยที่ได้จะต่ำกว่าที่คาดไว้ 5 ล้านตัน แต่ด้วยราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการขาดดุลน้ำตาลในตลาดโลกเนื่องจากหลายประเทศมีผลผลิตน้ำตาลลดลงจึงต้องมีการนำเข้ามากขึ้น เช่น อินเดีย ยุโรป ปากีสถาน และจีน ทำให้ราคาน้ำตาลอยู่ในระดับที่ดีมากและชาวไร่อ้อยเองก็ได้ค่าอ้อยที่สูง” ดร.ประเสริฐกล่าว สำหรับทิศทางการส่งออกน้ำตาลทรายในปีนี้ประมาณกว่า 5 ล้านตัน นั้น เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มองว่า เป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกน้ำตาลของไทยแม้ว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่อัตราการบริโภคจะยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลที่สำคัญของไทยกว่า 98% เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในด้านการขนส่ง โดยคาดว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้น อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สร้างรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศและส่งออกประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี สร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยประมาณกว่า 1.9 แสนครอบครัว แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากกว่า 1 ล้านคน “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยสร้างรายได้ต่อปีกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากมีการหมุนเวียนเงินจำนวนดังกล่าวในระบบเศรษฐกิจ 5 รอบ จะเพิ่มมูลค่าอีกกว่า 4 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้า เอทานอล อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และหากเปรียบเทียบการส่งออกสินค้าเกษตรในปีที่ผ่านมา น้ำตาลมีมูลค่าส่งออกถึง 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามันสำปะหลังที่มีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท” เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดการค้าโลก และสามารถคงความได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ภาครัฐจึงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างต่อเนื่อง ทั้งการร่วมกับสมาคมชาวไร่อ้อย และโรงงานน้ำตาลทั้ง 47 โรง ผลิตอ้อยพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตและค่าความหวานสูง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูอ้อย รวมถึงสนับสนุนโดยการให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท สินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งจำนวน 2 พันล้านบาท ให้แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อนำไปใช้ในการปลูกและบำรุงรักษาอ้อย พัฒนาแหล่งน้ำและระบบการจัดการในไร่อ้อย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเสนอโครงการสินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อยปีละกว่า 1 พันล้านบาท นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง สาเหตุจากการที่หลายประเทศ เช่น อินเดีย จีน และยุโรป ได้ประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงจนต้องมีการนำเข้าน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น “ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสวนภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งประเมินว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกน่าจะทรงตัวในระดับสูงประมาณ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ ดังนั้นคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 จะสูงในระดับไม่ต่ำกว่า 800 บาทต่อตัน” นายวิบูลย์กล่าว ทั้งนี้ ผลพวงจากราคาอ้อยที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้คาดว่า ในฤดูกาล 2552/2553 เกษตรกรจะหันมาปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งมีปริมาณอ้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมากโดยมีผลผลิตรวม 66.5 ล้านตัน จากที่คาดว่า จะมีผลผลิต 71.80 ล้านตัน เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ พงศกร แจ้งประภากร (ก้อง) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 121 วารุณี คำไชย (แนน) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 119

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ