กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--ทบวงพลังงานโลก
ทบวงพลังงานโลก (IEA) ยกย่อง ไทย เดินหน้านโยบายรองรับวิกฤตราคาน้ำมันแพง โดดเด่นสุดในย่านอาเซียน พร้อมร่วมจัดสัมมนา หาทางออกให้ไทย ในการจัดการรองรับวิกฤตพลังงานในอนาคตเป็นชาติแรกของโลก ก.พลังงาน มั่นใจ หาแนวทางรองรับวิกฤตด้านพลังงานอย่างบูรณาการ หากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานขาดแคลน
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การบริหารจัดการสภาวะวิกฤตด้านพลังงาน” (Thailand — IEA Joint Emergency Response Exercise) ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ พร้อมผู้บริหารระดับสูงจากทบวงพลังงานโลก(IEA) ผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการด้านพลังงาน จำนวนประมาณ 150 คน
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่กระทรวงพลังงาน ได้รับเกียรติจากทบวงพลังงานโลก (IEA) ในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าว เพื่อร่วมกันหาแนวทางการเตรียมความพร้อมให้แก่ประเทศไทย หากเกิดภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานขาดแคลนในอนาคต โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นชาติแรกของโลก ที่ IEA ได้เลือกจัดให้แก่ประเทศที่อยู่นอกกลุ่มประเทศสมาชิก เนื่องจากบทบาทที่ประเทศไทย มีการกำหนดนโยบายสร้างความมั่นคงพลังงานมาอย่างโดดเด่นต่อเวทีโลก รวมทั้งยังเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิก IEA จึงได้ผลักดันให้เกิดการจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น
ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการด้านพลังงาน ของไทย ได้แนวทางในการจัดทำแผนเพื่อรองรับการเกิดวิกฤตด้านพลังงานในหลาย ๆ เหตุการณ์ เช่น การขาดแคลนแหล่งพลังงานที่สำคัญ ๆ ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จากทั่วโลก โดยกระทรวงพลังงาน เชื่อมั่นว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญล่วงหน้าในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนพลังงาน หากเกิดวิกฤตขึ้นจริงในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ กลุ่มผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาครั้งนี้ จะได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สวีเดน อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้แทนจาก IEA เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ หากเกิดวิกฤตด้านแหล่งพลังงานขาดแคลนในระดับประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากนอกประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันที่ประเทศไทยต้องนำเข้าถึงร้อยละ 89 หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 1,000,000 ล้านบาท
“การจัดสัมมนาได้กำหนดขึ้นสองวัน คือในวันนี้ (18พ.ค.)จะเป็นการรับฟังภาพรวมของการจัดการภาวะวิกฤตด้านพลังงานจากผู้เชี่ยวชาญ ส่วนในวันที่สอง(19 พ.ค.) จะเน้นการหาแนวทางรองรับวิกฤตด้านพลังงานอย่างบูรณาการ จากการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐหลายหน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงกลั่น สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน(อิสระ) ปตท. บางจาก และกฟผ. เป็นต้น” นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าว