กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--สคร.
สคร. ประสานมือ OECD จัดประชุมใหญ่ Asia Network on Corporate Governance for SOEs ครั้งที่ 4 ซึ่งมีผู้บริหาร นักวิชาการ จากต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 15 ประเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ หวังเป็นแรงผลักดันรัฐวิสาหกิจไทยสู่ระดับสากล ณ โรงแรมโฟร์ซีซั่น วันที่ 20-21 พฤษภาคม 2552
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2552 สคร.ร่วมกับ OECD จัดประชุม Asia Network on Corporate Governance for SOEs ครั้งที่ 4 โดยมีผู้บริหาร และนักวิชาการจากต่างประเทศมากกว่า 15 ประเทศเข้าร่วมประชุมฯ
“สำหรับหัวข้อการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. หลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจของ OECD ที่มีการปฏิบัติใช้ในเอเชีย 2. การทบทวนภาพรวมของการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจไทย 3. การดำเนินการนโยบายและความท้าทายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของรัฐวิสาหกิจของกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 4. การรวมอำนาจในการดำเนินการในฐานะเจ้าของ 5. การสรรหากรรมการและกระบวนการการคัดเลือก 6. การประเมินผลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ 7. การกำกับดูแลกิจการที่ดีในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 8. การส่งเสริมการปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ และ 9. การติดตามการนำข้อเสนอต่างๆ ไปใช้ในการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจในประเทศเอเซีย”
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า พร้อมกันนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ OECD และของประเทศในกลุ่มเอเชีย รวมทั้งการนำเอาข้อเสนอต่างๆ มาใช้ในการปฎิบัติจริง เพื่อต้องการให้ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมตระหนักถึงความสำคัญและความท้าทายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ทัศนคติ และประสบการณ์ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจให้มีความเป็นสากลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการผลักดันให้มีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศเอเชียให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามในฐานะที่ สคร. มีหน้าที่หลักในการบริหารและพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ โดยการเสนอแนะนโยบายและมาตรการกำกับ ดูแล ประเมินผล และการพัฒนารัฐวิสาหกิจ เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้สามารถช่วยให้รัฐวิสาหกิจไทยเป็นองค์กรที่มีระบบการบริหารที่ดีมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ในขณะเดียวกันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน นายอารีพงศ์ กล่าว
“กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ปี 2544 โดยเทียบเคียงกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ OECD ปี 2548 (OECD Guidelines on Corporate Governance of State-Owned Enterprises 2005)”