กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--เอ.พี.ฮอนด้า
สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถจักรยานยนต์ ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราการหดตัว 17% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมียอดจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 3.56 แสนคัน แต่ทั้งนี้ปริมาณการจดทะเบียนของแต่ละเดือนนั้น กลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นมา รวมทั้งการหดตัวยังมีอัตราลดน้อยลงมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนถึงความตื่นตัวของตลาดที่ได้รับการโหมกระตุ้นด้วยแคมเปญส่งเสริมการขาย และสร้างแรงจูงใจจากบรรดาค่ายผู้ผลิต สำหรับสภาพตลาดในช่วงหลังจากนี้ คาดว่าจะอยู่ในทิศทางเดียวกับสภาพเศรษฐกิจ และยังคงได้รับการปลุกเร้าเพื่อให้เกิดความตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง
นายธีระพัฒน์ จิวะพงศ์ กรรมการบริหารฝ่ายขาย บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยถึงสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ว่า ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีปริมาณยอดจดทะเบียนป้ายวงกลมสะสมรวมทั้งสิ้น 356,293 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 428,222 คันแล้ว ปรากฏว่ามีปริมาณการจดทะเบียนลดลง 71,929 คัน หรือเทียบเท่าอัตราการหดตัวของตลาด 17% โดยสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากผลกระทบโดยตรงจากสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปราศจากแรงเสริมจากปัจจัยในด้านบวก
แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดของยอดจดทะเบียนแล้ว พบว่าปริมาณการจดทะเบียนของแต่ละเดือนนับตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นมา กลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ในเดือน ม.ค. — มี.ค. มีปริมาณจดทะเบียน 109,940 คัน , 119,477 คัน และ 126,876 คันตามลำดับ หรือเทียบเท่าอัตราการเติบโตแบบเดือนต่อเดือน คือ 9% และ 6% ตามลำดับ
และที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้าของแต่ละเดือนนั้น ปรากฏว่าการหดตัวของตลาดมีอัตราที่ลดน้อยลงมาโดยตลอด คือ ในเดือน ม.ค. มีอัตราการหดตัวสูงถึง 23% ในขณะที่เดือน ก.พ. มีอัตราการหดตัว 15% และล่าสุดเดือน มี.ค. มีอัตราการหดตัวลดต่ำลงเพียง 12% เท่านั้น
ทั้งนี้เป็นเพราะบรรดาค่ายผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ได้โหมกระตุ้นและสร้างความตื่นตัวให้กับตลาด โดยไม่ปล่อยให้ตลาดอยู่ในภาวะนิ่งซึมจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญการกระตุ้นตลาดนั้นได้ใช้กลยุทธ์ด้านแคมเปญส่งเสริมการขายที่สร้างแรงจูงใจเป็นอย่างสูงต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะค่ายผู้นำตลาดคือฮอนด้า ซึ่งมุ่งเน้นแคมเปญที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์รถรุ่นที่ตลาดให้ความนิยมเป็นอย่างมาก คือ รถแบบเครื่องยนต์ระบบจ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีด PGM-FI (Programmed Fuel Injection) อันเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรถจักรยานยนต์ ด้วยการทำให้เครื่องยนต์มีความประหยัดน้ำมันสูง สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ จึงเป็นผลทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาด และเฉพาะอย่างยิ่งจากแคมเปญมอบโบนัสพิเศษเป็นเงินสดมูลค่า 2 พันบาท ให้กับผู้ซื้อรถฮอนด้า รุ่น คลิก-ไอ (Click-i) ที่เป็นรถยอดนิยมแบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือเกียร์อัตโนมัติ ที่มีเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด PGM-FI นั้น ได้รับการสนองตอบจากตลาดอย่างดียิ่ง จนส่งผลให้รถรุ่นนี้เป็นรถสุดยอดนิยมและมีปริมาณจดทะเบียนสูงสุดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งแคมเปญนี้จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. นี้
ส่วนสภาพตลาดในช่วงหลังจากนี้ คาดการณ์ว่าจะยังอยู่ในทิศทางเดียวกับสภาพของเศรษฐกิจ รวมทั้งบรรดาค่ายผู้ผลิตต่างๆ ยังคงเร่งปลุกเร้าและสร้างความตื่นตัวให้กับตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งล่าสุดทางฮอนด้าได้เสริมกลยุทธ์ด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านแคมเปญ “C’mon… Let’s have Fun with PGM-FI” อันเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์และคุณสมบัติเด่นของรถแบบเครื่องยนต์หัวฉีด PGM-FI ที่สอดคล้องกับการใช้งานในสภาพเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ในขณะที่ค่ายผู้ผลิตอื่นๆ โหมกระตุ้นตลาดผ่านแคมเปญส่งเสริมการขายและสร้างแรงจูงใจในรูปแบบที่หลากหลาย
สำหรับรายละเอียดยอดจดทะเบียนสะสมของไตรมาสแรก หรือตั้งแต่เดือน ม.ค. — มี.ค. นั้น ประกอบด้วย รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 178,390 คัน เทียบเท่าสัดส่วนตลาด 50% , รถแบบ เอ.ที. (Automatic Transmission) หรือแบบเกียร์อัตโนมัติ 160,887 คัน สัดส่วนตลาด 45% , รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ต 8,862 คัน สัดส่วนตลาด 2% , รถแบบสปอร์ต 5,348 คัน สัดส่วนตลาด 2% และรถจักรยานยนต์ประเภทอื่นๆ 2,806 คัน
ในขณะที่หากแบ่งแยกเป็นยอดจดทะเบียนตามประเภทของผู้ผลิต มีดังนี้คือ รถจักรยานยนต์ฮอนด้า 230,259 คัน เทียบเท่าอัตราครองตลาด 65% , ยามาฮ่า 102,008 คัน อัตราครองตลาด 29% , ซูซูกิ 17,760 คัน อัตราครองตลาด 5% , คาวาซากิ 3,219 คัน อัตราครองตลาด 1% , เจอาร์ดี 463 คัน , แพล็ตตินั่ม 292 คัน , ไทเกอร์ 249 คัน และอื่นๆ 2,043 คัน