กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รับมอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากโครงการชุมชนพอเพียงจากตัวแทนชุมชนจากทุกภาคของประเทศ เพื่อให้กำลังใจแก่รัฐบาลและเรียกร้องให้เดินหน้าโครงการชุมชนพอเพียงต่อ เนื่องจากเป็นโครงการที่เน้นการพัฒนา สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน อันเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศให้เดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน
ตัวแทนชุมชนจากภาคต่างๆ มีดังนี้ นางประเทียร วิสติ ตัวแทนโครงการ ร้านผ้าชุมชนบ้านหนองบอน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ได้มอบผ้าขาวม้าทอมือสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านชุมชนบ้านหนองบอนแก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุน จำนวน 250,000 บาทจากโครงการชุมชนพอเพียง โดยโครงการเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านในชุมชนกว่า 80 ชีวิต จัดตั้ง “ร้านผ้าชุมชนพอเพียง” เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาการทอผ้าขาวม้าที่ ตกทอดมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย
นางประเทียรกล่าวว่า ชุมชนได้นำเงินจากโครงการฯ มาตั้งร้านผ้าชุมชนพอเพียง ซึ่งจะมีพื้นที่ส่วนกลางให้ชาวบ้านได้เข้ามาทำงานทอผ้า โดยทางร้านจะเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์เเละวัตถุดิบต่างๆ เช่น เส้นฝ้าย กี่ทอผ้า ฟืมทอผ้าให้ และเป็นผู้หาช่องทางจัดจำหน่ายให้ ทั้งนี้ เมื่อขายผ้าได้เเต่ละผืนชาวบ้านต้องนำเงินส่วนหนึ่งมาคืน (ต้นทุนบวกกำไรเล็กน้อย) และเเบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเข้าตัวเอง เงินทุนก็จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ฝ้ายถือเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในละเเวกชุมชน เเละมีต้นทุนต่ำ นำมาแปรรูปได้ง่ายเเละสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความถนัดของชาวบ้าน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมเเละภูมิปัญญาชาวบ้าน และยังสามารถจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไปได้ด้วย
ด้านผู้ใหญ่มนัส ตัวแทนจากโครงการวิสาหกิจโรงสีชุมชน บ้านสำโรงเหนือ ต.หัวสำโรง อ.ท่าวุ้ง อ.ลพบุรี เข้ามอบกระเช้าผลิตภัณฑ์ข้าว มีข้าวหอมมะลิ ข้าวนิล และข้าวกล้องหอมมะลิแก่นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งอธิบายรายละเอียดของโครงการว่า เป็นโรงสีที่สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะทำเป็นธนาคารข้าวไว้สำหรับเก็บข้าวของชุมชน เพื่อแปรรูปจำหน่ายให้กับชาวบ้านในราคาถูก ทั้งนี้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาแต่กลับต้องซื้อข้าวกินในราคาแพง เพราะไม่มียุ้งฉางไว้เก็บข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวมาแล้วต้องรีบขายให้กับโรงสีเอกชนในราคาต่ำ โครงการนี้จึงได้เกิดขึ้นเพื่อมาแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ
ในส่วนของนายสัมพันธ์ แก้วเกิด ประธานโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ดเพื่อบำรุงดิน จากชุมชนบ้านป่าอ้อเหนือ ต.ป่าอ้อ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ได้กล่าวว่าทางชุมชนได้ริเริ่มนำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ดและน้ำหมักจากหอยเชอร์รี่มามอบให้กับท่านนายกฯ ด้วย โดยได้อธิบายว่า ชาวชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ปุ๋ยที่ใช้ก็เป็นปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง ผลพวงจากการใช้ปุ๋ยเคมีนานๆ ก็ทำให้มีสารเคมีตกค้างและปะปนในแหล่งน้ำ ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะผลิตปุ๋ยใช้กันเองโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น มูลวัว และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ
“เราได้แนวคิดมาจากแนวพระราชดำริบวกกับที่ชุมชนข้างเคียงเขาก็ทำกันอยู่ ก็เลยลองมาทำดูบ้าง อาศัยการศึกษาหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จากทางราชการบ้าง จากรายการสารคดีบ้าง เมื่อทดลองจนได้ผลดีแล้วจึงได้เขียนโครงการขออนุมัติเงินสนับสนุนจากโครงการชุมชนพอเพียง” นายสัมพันธ์ กล่าว
โครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ดเพื่อบำรุงดินได้รับอนุมัติเงินจากโครงการชุมชนพอเพียงในวงเงิน 200,000 บาท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้เริ่มดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพอัดเม็ด จนปัจจุบันสามารถผลิตได้แล้วกว่า 20 ตัน แต่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่งบมีจำกัด ทางชุมชนเลยแก้ปัญหาด้วยการจับกลุ่มกันลงหุ้นเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงาน
“การที่รัฐบาลมีโครงการชุมชนพอเพียงออกมา นับว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งเพราะเป็นการปลุกให้ทุกคนตื่นขึ้นมา ทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตแล้วย้อนกลับมาดูว่ามีอะไรบ้างที่เราจะทำได้ เพื่อนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่มีแต่ความสุขตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชุมชน ร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน เราจึงขอสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างยั่งยืน” นายสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร. สุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานชุมชนพอเพียง เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการชุมชนพอเพียงว่า ปัจจุบันโครงการชุมชนพอเพียงคืบหน้ากว่าร้อยละ 25 หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการอนุมัติโครงการตามกรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนทั่วประเทศแล้วกว่าสองหมื่นชุมชน เป็นเงินรวม 6,000 ล้านบาทแล้ว โดยไม่นานมานี้ เพิ่งจะอนุมัติเงินสนับสนุนในรอบที่ 2 จำนวน 4.97 พันล้านบาท ให้แก่โครงการที่ผ่านการอนุมัติทั้งสิ้น 20,851 โครงการ จาก 17,049 ชุมชน
ส่วนใหญ่โครงการที่อนุมัติดำเนินการไปแล้ว ได้แก่โครงการประเภทการผลิตปุ๋ย ยุ้งฉาง ลานตาก การส่งเสริมกลุ่มอาชีพ พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ/ต้นน้ำ พลังงานทดแทน เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัติโครงการ ได้แก่ ความยั่งยืนของการดำเนินโครงการ และแนวทางการบริหารจัดการโครงการเพื่อความยั่งยืนในชุมชน ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความยั่งยืนในเศรษฐกิจชุมชน ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการอย่างแท้จริง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
สำนักงานชุมชนพอเพียง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
โทร. 0-2629-9226 แฟกซ์ 0-2288-4049 www.chumchon.go.th
พิมพ์ไพลิน ธีระลีลา โทร. 02-610 2382, 089-118 7365
พงศกร อิ่มมณีรัตน์ โทร 02-610-2372, 087-509-5959