กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
“รศ.ดร.มนตรี” จาก GSPA NIDA นิด้า ชี้พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านสะดุดกระทบเศรษฐกิจชาติ แม้สุดท้ายคาดจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่เป็นห่วงเสถียรภาพรัฐบาลในอนาคต วอนฝ่านค้านและรัฐบาลจับมือกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่น พร้อมแนะแผนปรับเพดานการกู้เงิน-ดึงภาคเอกชนร่วม-แปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อประหยัดงบรัฐ สร้างความสามารถทางการแข่งขันระยะยาว
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (GSPA NIDA) กล่าวถึงกรณีที่พระราชกำหนดเงินกู้ (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในรอบ 2 หากต้องล่าช้าออกไปนั้นจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ
ขณะเดียวกันก็มีความเป็นห่วงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนมาตรการและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่จะต้องแก้ไขต่อไป
“ผมไม่อยากเห็นเศรษฐกิจของประเทศชาติต้องตกมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะขณะนี้ประชาชนทุกคนกำลังประสบปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สิ่งไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนก็ต้องสนับสนุน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาอยู่เรื่อยๆ เหมือนกรณีพ.ร.ก.เงินกู้ที่ต้องสะดุดแล้วใครจะมาเชื่อมั่น ถึงแม้ท้ายที่สุดเรื่องดังกล่าวก็คาดว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา GSPA NIDA กล่าวต่อว่า ถึงแม้การบริหารงานของรัฐบาลอาจจะติดขัดไปบ้าง แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะต้องดำเนินการต่อไปด้วยข้อจำกัดของงบประมาณที่มีอยู่ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเตรียมแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน และมาตรการที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ โดยอาจแบ่งเป็นแผนระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว เช่น การปรับเพดานการกู้เงินจากเดิม 20% เพิ่มเป็น 30%จากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล
รวมไปถึงการดึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน เพื่อให้เกิดผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะทำให้รัฐบาลใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง ทำให้เกิดภาระหนี้ภาครัฐลดลงแต่ให้ผลทางเศรษฐกิจเท่าเดิม
ขณะที่แผนระยะยาวนั้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการประหยัดทรัพยากรภาครัฐ และสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งถือเป็นช่องทางการระดมทุนในการพัฒนาประเทศในระยะยาว
“รัฐวิสาหกิจทั้ง 60 กว่าแห่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งถ้าเกิดการแปรรูปจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการแข่งขันและดำเนินงาน รวมไปถึงรัฐก็ไม่ต้องใส่เงินลงทุนให้กับรัฐวิสาหกิจ สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อย่างมากมาย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบงบประมาณของชาติ” รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา GSPA NIDA กล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คงต้องมาพิจารณากันให้ละเอียดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่ารัฐวิสาหกิจไหนสมควรและเหมาะสมที่จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปบ้าง เพราะแต่ละรัฐวิสาหกิจก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป
เผยแพร่ข่าวโดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนามคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 02-248-7967-8 ต่อ 118, 08-1929-8864
Email-address : c_mastermind@hotmail.com