กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
ทุกวันอังคารแรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก และองค์การหืดโลกได้ร่วมกันกำหนดให้เป็นวันหอบหืดโลก ซึ่งวันดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในทุกๆ ภูมิภาคทั่วโลก จะมีผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยแพทย์เปิดเผยว่ามีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และหอบหืดมากถึงร้อยละ 20 ทั่วประเทศ ชี้โรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรังที่ก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือการสูดสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ อาการอาจรุนแรงได้โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ แนะพ่อแม่รักษาสุขอนามัยในบ้านอย่างสม่ำเสมอ พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ให้ลูกน้อย หวั่นเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงให้สูงขึ้น
จากการเปิดเผยของ นพ.วิทยา อัศววิเชียรจินดา กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลพญาไท 3 พบว่า ปัจจุบันมลภาวะและสิ่งแปลกปลอมในอากาศมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ โดยพบว่าโรคหอบหืดเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ซึ่งอาการแสดงของแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป บางคนอาจแสดงอาการเป็นประจำตลอดปี บางคนอาจจะมีอาการรุนแรงในบางฤดู เป็นต้น
โรคหอบหืด เป็นโรคของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากความไวผิดปกติของหลอดลม ต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบแคบและทำให้หายใจลำบาก เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้น หลอดลมจะเกิดอาการอักเสบ เยื่อบุหลอดลมจะบวมทำให้หลอดลมตีบแคบลง นอกจากนี้หลอดลมที่อักเสบจะมีการหลั่งเมือกออกมามาก ทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบแคบ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจมีเสียงวี้ด หายใจถี่ และแน่นหน้าอก ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบริมฝีปากและเล็บมีสีเขียวคล้ำ
“แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ โรคหอบหืดในเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถอธิบายหรือบอกได้ว่าเป็นอะไร ที่สำคัญอาจจะนำไปสู่การเป็นโรคติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินหายใจได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคไอพีดี เพราะเชื้อดังกล่าว อาศัยอยู่ในลำคอของคนเรา โดยเชื้อจะมีมากในเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อเด็กเล็กมีอาการเหนื่อยหอบและหายใจแรงจากโรคหอบหืด เชื้อนิวโมคอคคัสจะมีโอกาสรุกล้ำเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆ ภายในได้ ซึ่งหากเชื้อดังกล่าวเข้าไปสู่สมอง จะก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จะก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในกระแสเลือด หากเชื้อไปที่หู จะทำให้เป็นหูน้ำหนวก และหากเชื้อไปที่ปอด จะทำให้เป็นปอดบวมหรือปอดอักเสบรุนแรงได้” นพ.วิทยา กล่าว
ดังนั้น หากเด็กเป็นหอบหืดอย่านิ่งนอนใจ ควรรู้จักสังเกตอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยหากลูกน้อยมีอาการไข้ขึ้นสูง งอแงและซึมไม่ยอมดื่มนมหรือรับประทานอาหาร และอาจสังเกตได้จากอัตราการหายใจของลูกน้อย หากอัตราการหายใจเกิน 40 ครั้งต่อนาที หายใจหอบ ติดขัด หรือมีเสียงวี้ดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสจะดำเนินโรคเร็วมาก เพียง 2-3 วันเท่านั้น ในปัจจุบันจึงได้มีการคิดค้นวัคซีนไอพีดีสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส โดยในหลายประเทศได้บรรจุให้เป็นวัคซีนพื้นฐานแนะนำให้ฉีดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบทุกคน แต่ในประเทศไทยวัคซีนดังกล่าวยังเป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้ลูกหลานเอง
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย ควรใส่ใจดูแลสุขอนามัยในบ้านอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าโรคหอบหืดจะเป็นโรคเรื้อรังและรักษาไม่หายขาด แต่ก็สามารถควบคุมไม่ให้โรคนี้ก่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงกับเราได้ ด้วย 3 วิธีหนีหอบหืดง่ายๆ ดังนี้
1. ค้นหาว่าร่างกายมีปฏิกิริยาแพ้ต่อสิ่งใดบ้าง และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น
2. หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น มลภาวะ ควันบุหรี่ กลิ่นฉุนต่างๆ
3. ทานยา รักษาสุขอนามัยเป็นประจำ และออกกำลังกายตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ
ด้วยวิธีง่ายๆ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหอบหืดแล้ว...
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
บุษบา / พิธิมา
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138