กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
สัญชาติ อเมริกัน
ประเภท สยองขวัญ
อำนวยการสร้าง แกรนต์ เคอร์ติส (Spider-Man Trilogy, The Gift)
กำกับ แซม ไรมี่ (Spider-Man Trilogy, Evil Dead Trilogy)
เขียนบท แซม ไรมี่ (Spider-Man Trilogy, Evil Dead Trilogy)
ไอแวน ไรมี่ (Spider-Man 3, Army of Darkness, Darkman)
นำแสดง อลิสัน โลห์แมน (Matchstick Men, Beowulf, Big Fish)
ลอร์น่า ราเวอร์ (CSI: Las Vegas, Boston Legal, Desperate Housewives)
จัสติน ลอง (Die Hard 4, Herbie Fully Loaded, Jeepers Creepers I & II)
อาเดรียน่า บาร์ราซ่า (Babel, Amores perros)
ดีรีป เรา (Avatar)
เดวิด เพย์เมอร์ (In Good Company, Alex & Emma)
กำหนดฉาย 4 มิถุนายน 2552
จัดจำหน่าย มงคลเมเจอร์
เกริ่นนำ
ถึงแม้ แซม ไรมี่ จะใช้เวลาเกือบสิบปีในการนำไอ้แมงมุมแห่งโลกซุปเปอร์ฮีโร่ มาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์ถึงสามครั้งสามครา แต่ใครที่ติดตามผลงานของผู้กำกับคนนี้มาตลอด ก็จะรู้ว่าเขามีชื่อเสียงโด่งดังจากไตรภาคหนังคัลท์ Evil Dead ซึ่งเป็นโปรเจ็คที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เขาดึงความสนใจของคนดูด้วยความสยองที่ดูอลังการ และตลกร้ายซึ่งกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขา โดยมันยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ ที่หวังจะสร้างหนังให้ทะลุขอบเขตภาพยนตร์สยองขวัญ ดังเช่นที่ แซม ไรมี่ เคยทำได้มาแล้ว
ในปี 2009 เขาก็กลับมาหาหนังสยองขวัญอีกครั้ง ด้วยโปรเจ็คที่ชื่อว่า Drag Me to Hell โดยมีเนื้อเรื่องที่ฟังดูสดใหม่ซึ่งเล่าถึง คริสติน บราวน์ (อลิสัน โลห์แมน จาก Things We Lost in the Fire, Matchstick Men) พนักงานปล่อยเงินกู้สาว ที่มี เคลย์ (จัสติน ลอง จาก Live Free or Die Hard, He’s Just Not That Into You) แฟนหนุ่มศาสตราจารย์อยู่ข้างกาย ชีวิตของเธอนั้นราบรื่นจนเมื่อหญิงลึกลับนามว่า มิส กานุช (ลอร์น่า ราเวอร์) ก้าวเข้ามาในธนาคารพร้อมอ้อนวอนให้ คริสติน ช่วยต่อสัญญาเงินกู้
คำถามก็คือ คริสติน จะทำตามความรู้สึกส่วนตัวและมอบโอกาสอีกครั้งให้กับหญิงชรา หรือว่าเธอจะปฏิเสธเพื่อให้ มิสเตอร์ แจ็ค (เดวิด เพย์เมอร์ จาก In Good Company, Alex & Emma) เจ้านายของเธอประทับใจและเลื่อนตำแหน่งให้กับเธอ สุดท้ายแล้ว คริสติน ก็ตัดสินใจเลือกช้อยส์หลัง และทำให้ มิส กานุช ต้องย้ายออกจากบ้านของตัวเอง
กลับการเป็นว่า มิส กานุช แท้จริงแล้วคือแม่มด และเพื่อแก้แค้นธอก็ได้มอบ “คำสาปลาเมีย” ให้กับ คริสติน และทำให้ชีวิตเธอเหมือนตกอยู่ในนรกทั้งเป็น เธอถูกตามรังควาญโดยวิญญาณร้ายและถูกแฟนหนุ่ม เข้าใจผิด เธอได้ออกไปหาความช่วยเหลือจาก แรม แจส (ดิริป เรา จาก Avatar) เพื่อช่วยวิญญาณของเธอให้รอดพ้นจากการตกนรกแบบชั่วนิรันคร์ภายใน 3 วันนับจากนี้
เพื่อช่วยให้ชีวิตของ คริสติน กลับมาปกติสุขดังเดิม เธอได้รับการช่วยเหลือจาก ฌอน ซาน ดิน่า (อาเดรียน่า บาร์ราซ่า นักแสดงที่เคยเข้าชิงออสการ์ จาก Babel) นักสะกิดจิตคนเดียวที่อาจช่วยเธอได้ และเธอจะต้องทำเรื่องอันตรายแค่ไหน ในการทำลายคำสาปนี้
เมื่อคนทำผิดก็สมควรถูกลงโทษ...แต่มันจะมากเกินไปไหม?
จากจินตนาการสู่ Drag Me to Hell
10 กว่าปีที่แล้ว แซม และพี่ชายของเขา ไอแวน ไรมี่ ได้เขียนบทภาพยนตร์ดราฟท์แรกขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกแบบง่ายๆว่า The Curse ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็นชื่อ Drag Me to Hell ไอแวน ได้เล่าถึงไอเดียหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า "พวกเราชอบความคิดที่ว่าด้วยเรื่องของคำสาป พวกเรานึกเล่นๆว่าอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นกับคนธรรมดา ถ้าพวกเขาโดนคำสาปและถูกหย่อนลงไปในสถานการณ์ที่ต้องดิ้นรนสุดชีวิต"
ซึ่งมันก็ทำให้ตัวละคร คริสติน บราวน์ ถือกำเนิดขึ้น เธอคือพนักงานออฟฟิศสาวที่ถูกทำร้ายแบบเหนือจินตนาการ หลังจากที่เธอได้ทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ ด้วยการปฏิเสธการต่อสัญญาเงินกู้ให้กับหญิงชราคนหนึ่ง โดย แซม ไรมี่ ได้พูดถึงการดำเนินเรื่องในแง่ของศีลธรรมว่า "เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับคุณธรรมขั้นพื้นฐาน เมื่อตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงที่มีจิตใจดี เธอแค่พยายามเอาชีวิตรอดในเมืองใหญ่ เธอมีแฟนหนุ่มที่คอยห่วงใย แต่เธอทำพลาดเพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งมันก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้น นี้คือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการที่เธอถูกตามล้างแค้น"
ไอแวน ไรมี่ ได้เสริมแง่มุมนี้ให้กับน้องชายว่า "พวกเราทำให้ คริสติน มีความซับซ้อนในเรื่องคุณธรรม เธอพยายามที่จะก้าวหน้าในอาชีพการงานเหมือนคนอื่น เธอเป็นมนุษย์ที่มีคุณสมบัติทั่วไปเฉกเช่นพวกเรา ที่ปกติแล้วเราจะยืนอยู่ในพื้นที่สีเทามากกว่าที่จะยืนอยู่ในสีขาวหรือดำไปเลย นั้นทำให้เธอมีความน่าสนใจ เธอถูกลงโทษในแบบที่ไม่สมควรได้รับ เมื่อเทียบกับบาปที่เธอก่อขึ้น มันน่าตื่นเต้นในการตามดูว่าเธอจะรับมือกับมันอย่างไร"
ตั้งแต่ Darkman และ Army of Darkness จนถึง Spider-Man 2 และ 3 พี่น้องไรมี่ ดูเหมือนมีความสนใจที่จะสำรวจชีวิตของเหล่าฮีโร่ที่เป็นไปตามสถานการณ์ เช่นเดียวกับ แอช วิลเลี่ยมส์ ฮีโร่จาก Evil Dead หรือ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ฮีโร่จาก Spider-Man คริสติน ก็เป็นคนธรรมดาสามัญอีกคน ที่ถูกหยิบยื่นเอาภาระอันหนักหนามาใส่มือเธอโดยไม่มีสัญญาณเตือน ชีวิตอันแสนธรรมดาของเธอก็ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เธอถูกโจมตีบนรถด้วยความตื่นตระหนก, เลือดกำเดาที่พุ่งกระฉูดเกินมนุษย์มนา, ฝันร้ายที่เลวร้ายจนเธอไม่สามารถตื่นได้ และพิธีกรรมเข้าทรงที่อุบัติขึ้น เพื่อช่วยให้เธอรอดพ้นจากชะตากรรมที่ถูกขีดเส้นตายเอาไว้
ขณะที่พี่น้องไรมี่เขียนบทภาพยนตร์ พวกเขาก็จินตนาการว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่มาทรมาน คริสติน ในที่สุดพวกเขาก็เลือกอสูรกายในตำนานที่ชื่อ ลาเมีย ในขณะที่เรื่องเล่าของ ลาเมีย นั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมรอบโลก ตั้งแต่เทพเจ้ากรีกที่เปลี่ยนเป็นปีศาจ เมื่อ เฮร่า ขโมยลูกของเธอไปให้เผ่าพันธ์กินเนื้อ จนถึงอสูรกายที่มีครึ่งหนึ่งเป็นมนุษย์และครึ่งหนึ่งเป็นแพะ ซึ่งสำหรับเรื่องนี้แล้ว ได้รวมตำนานจากทุกวัฒนธรรมมาไว้ด้วยกัน ไอแวน ไรมี่ ได้พูดถึงอสูรกายตนนี้ว่า "มีสิ่งหนึ่งที่ตำนานเหล่านั้นคล้ายกัน นั้นก็คือ ลาเมีย เป็นปีศาจที่ลุกขึ้นมาด้วยความโกรธแค้น และลากเหยื่อให้ลงไปในนรกอย่างโหยหวน"
แซม และ ไอแวน ได้ตั้งกฏไว้ข้อหนึ่งว่านอกจากซีนเปิดเรื่องแล้ว Drag Me to Hell จะต้องมี คริสติน อยู่ทุกฉากในภาพยนตร์ โดยเนื้อเรื่องจะไม่หลุดไปจากเรื่องราวที่ถูกเล่าจากมุมมองของ คริสติน ที่จะพาคนดูเดินทางไปพร้อมกับเธอ เฉกเช่นรถรางที่พาเราเข้าสู่บ้านผีสิง โดยเราจะสัมผัสได้ถึงความกดดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความสิ้นหวังที่รอ คริสติน อยู่ปลายทาง
เพื่อที่จะสร้างความสมดุลกับความกลัวและความเชื่อของ คริสติน บทภาพยนตร์ก็ได้เสนอตัวละครอย่าง เคลย์ ศาสตราจารย์ที่พยายามทำให้เธอแน่ใจว่า มิส กานุช ไม่ได้เป็นแม่มดที่สาปเธอ โดยในความสัมพันธ์ของพวกเขา ไอแวน ไรมี่ ได้เล่าไว้ว่า "ความรักของ เคลย์ ที่มีต่อ คริสติน เข้าไปบดบังความรู้สึกสังหรณ์ใจของเขา สำหรับเรื่องที่เขาควรเชื่อหรือไม่เชื่อ นี่คือเรื่องราวของความรักที่ต้องมีการเสียสละ"
ถึงแม้ว่า แซม ไรมี่ อยากที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว แต่ด้วยความที่เขาตกปากรับคำที่จะสร้างโปรเจ็คอื่นก่อน ทำให้เขาต้องแขวน The Curse เอาไว้แบบไม่มีกำหนด ซึ่งภาพยนตร์ไตรภาค Spider-Man ก็กินเวลาเขาไปอีกเกือบทศวรรษ มันก็ไม่เปิดโอกาสให้เขากลับไปขัดเกลา Drag Me to Hell เลยจนกระทั่งเมื่อปลายปี 2007
ร็อบ ทาเพิร์ต ผู้อำนวยการสร้าง และเป็นหุ้นส่วนของ แซม ไรมี่ ที่สตูดิโอ Ghost House Pictures และ แกรนต์ เคอร์ติส อีกหนึ่งผู้อำนวยการสร้าง ที่เคยร่วมงานกับ แซม มาแล้วถึง 5 ครั้ง ก็ช่วยกันผลักดันโปรเจ็คนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยได้ทาง ยูนิเวอร์แซล มาช่วยจัดจำหน่ายในอเมริกา ในขณะที่ Mandate ที่บริหารโดยและร่วมอำนวยการสร้างโดย นาธาน คาเฮน และ โจ เดรค ก็มาช่วยกันจัดจำหน่ายไปทั่วโลก
ผู้อำนวยการสร้างทุกคนต่างรู้สึกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มอบส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสองประเภทหนัง ที่ทำให้มันกลายเป็นหนังสยองขวัญสุดเจ๋งในสายตาของคนดูหน้าใหม่ ในขณะที่ทำให้แฟนเดนตายของ แซม ไรมี่ รู้สึกภูมิใจที่ฮีโร่ของพวกเขากลับมาจุดที่คุ้นเคยอีกครั้ง โดย เคอร์ติส ได้พูดถึงจุดเด่นของภาพยนตร์ว่า "มันเป็นอะไรที่มากกว่าหนังสยองขวัญธรรมดา มันมีอะไรมากกว่าหนังที่พูดถึงพลังเหนือธรรมชาติ ตัวละครในเรื่องทุกคนมีความน่าสนใจมาก เพราะพวกเขาทำให้คนดูสามารถใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปร่วมอยู่ด้วย"
ทาเพิร์ต เองก็เห็นด้วยกับ เคอร์ติส โดยเขาเล่าถึงการได้มาอำนวยการสร้างว่า "นี่คือโอกาสที่วิเศษของ แซม ในการกลับมาสู่สไตล์ดั้งเดิมของตัวเอง ในฐานะที่เป็นแฟนหนังสยองขวัญ ผมรู้สึกหลงไหลในสิ่งที่เขาเคยทำ บางสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องอาจดูเหมือนไร้การควบคุมและไม่สามารถคาดเดาได้ แต่มันก็พาผมไปสู่สถานที่ที่ตัวเองไม่คุ้นเคยมาก่อนในชีวิต"
ทาเพิร์ต เคยร่วมงานกับ แซม มาแล้วหลายครั้ง ก็รู้สึกตื่นเต้นที่เพื่อนของเขากลับมาทำหนังที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น หลังจากไปรับจ๊อบทำหนังอภิมหากาพย์สามเรื่องติด "หลังจากที่ แซม สร้าง Spider-Man สามภาคติดต่อกัน เขาก็ได้เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้กำกับควรต้องรู้ เขาเข้าใจทุกองค์ประกอบในการสร้างภาพยนตร์ และเขาก็นำมันมาใช้ใน Drag Me to Hell ทั้ง เอฟเฟ็กต์พิเศษ, เอฟเฟ็กต์แต่งหน้าและการใช้หุ่นกลต่างๆ เพื่อช่วยสร้างสิ่งที่คนดูอาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน"
ผู้มอบคำสาปกับผู้ถูกสาป...
การคัดเลือกทีมนักแสดงของ Drag Me to Hell
เมื่อบทภาพยนตร์ได้รับไฟเขียวจากทางสตูดิโอ ไรมี่ และผู้อำนวยการสร้างก็พยายามเสาะหานักแสดงสาว ผู้จะมารับบทหนักในการแสดงเป็น คริสติน บราวน์ โชคดีที่เขาได้พบกับ อลิสัน โลห์แมน โดย ไรมี่ ได้พูดถึงนักแสดงสาวคนนี้ว่า "อลิสัน มีความรู้สึกอ่อนโยนในตัวสูง เธอคือคนที่คุณเห็นในจอภาพยนตร์แล้วจะรู้สึกสงสารทันที เพราะนี้คือตัวละครที่ผมอยากให้คนดูรู้สึกเช่นนั้น มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการได้เธอมาแสดงเป็น คริสติน เพราะเธอต้องเป็นตัวละครที่เราต้องมีอารมณ์ร่วมตั้งแต่เริ่มเรื่อง"
ผู้กำกับรู้สึกว่าคนดูต้องเข้าใจและเอาใจช่วย คริสติน และเต็มใจร่วมเดินทางไปกับเธอในเส้นทางอันแสนมืดหม่น ไรมี่ เล่าว่า "เธอเลือกเดินในเส้นทางที่อาจจะทำให้ใครหลายคนไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นทางเลือกที่ดูจะดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ เพียงเพราะเธอต้องการรอดจากสิ่งที่เธอเผชิญอยู่ ผมอยากให้คนดูอยู่กับ คริสติน ไปจนเฟรมสุดท้าย และร่วมรู้สึกไปกับการตัดสินใจที่ลำบากของเธอ"
ถึงแม้ว่าเธอจะพร้อมรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า แต่นักแสดงสาวอย่าง อลิสัน โลห์แมน ก็ไม่ใช่แฟนหนังสยองขวัญก่อนที่เธอจะมาร่วมงานด้วยซ้ำ เธอเล่าว่า "เหตุผลที่ฉันไม่ชอบหนังสยองขวัญก็คือฉันมักจะเก็บเอาไปคิดเสมอ ฉันมักจะพูดกับตัวเองว่า ‘ทำไมต้องนั่งดูหนังสยองขวัญด้วยล่ะถ้าคุณต้องปิดตาเกือบทุกฉาก’"
แต่นักแสดงสาวคนนี้ก็รู้สึกสนใจการเดินทางของ คริสติน ที่จะมอบความท้าทายให้กับอาชีพนักแสดง เธอเล่าว่า "ฉันชอบที่ตัวละครของฉันมีจุดมุ่งหมายที่เด่นชัด ในตอนแรกนั้นเธอคนที่มีความเห็นอกเห็นใจและมีจิตใจบริสุทธิ์ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อเธอทำผิดพลาดแค่ครั้งเดียว ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้แสดงฉากสตันท์ ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องสนุกและฉันก็ไม่รู้สึกกังวลเลยว่าตัวเองจะมีรอยบอบช้ำแค่ไหน"
ตัวละครที่อาศัยอยู่กับเธอคือ เคลย์ แฟนหนุ่มที่สงสัยในตัว คริสติน โดยเรื่องนี้ได้ จัสติน ลอง มารับบท เขาพบว่าการเป็นคนขี้สงสัยทำให้เขานึกถึงพ่อของตัวเอง "พ่อของผมเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และเขาก็เป็นคนที่มีเหตุมีผลมาก เขาต้องหาเหตุผลมาอิงตลอดเวลา เขาเป็นคนที่ต้องการคำอธิบายในทุกๆสิ่ง แต่กลับกันกับตัวผมที่เชื่อทุกสิ่ง ทั้งไอ้ตีนโต, ภูติผีวิญญาณ และมนุษย์ต่างดาว ผมรู้ว่ามีอะไรบางอย่างที่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา"
บทบาทของ เคลย์ นั้นมีส่วนร่วมในชีวิตของ คริสติน ตลอดทั้งเรื่อง โดย ลอง ได้อธิบายว่า "ผมพยายามที่จะสนับสนุนเธอตลอดเวลา มันคือจุดที่สำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสอง" โดยที่ถึงแม้เขาจะเป็นตัวละครหลักที่คอยช่วยเหลือ คริสติน แต่เขาก็แทบไม่เห็น ลาเมีย โจมตีแฟนสาวของตัวเองเลย โดย ลอง ก็รู้สึกเสียดายและบ่นอุบในการพลาดสิ่งเจ๋งๆที่เพื่อนร่วมจอเขาต้องเจอ "มันเป็นความปรารถนาที่แปลก เมื่อคุณรู้สึกอิจฉาใครบางคนที่ถูกเทหนอนและแมลงต่างๆใส่หน้า"
การเข้ามารับบทที่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่าง มิส กานุช ก็ทำให้นักแสดงละครเวทีมากประสบการณ์อย่าง ลอร์น่า ราเวอร์ ได้รับโอกาสในการขึ้นจอใหญ่เป็นครั้งแรก เธอเล่าว่า "ฉันไม่ค่อยได้รับบทในหนังใหญ่มากนัก เพราะว่ามันเป็นเรื่องลำบากสำหรับนักแสดงสูงอายุที่ไม่ใช่ซุปเปอร์สตาร์อะไร เมื่อโอกาสนี้มาถึง และฉันพบว่า แซม มีส่วนร่วมในโปรเจ็คนี้ ฉันก็รู้สึกตื่นเต้นในการเข้ามาร่วมงานมาก"
ราเวอร์ ได้รับข้อเสนอให้เข้ามารับบทนี้ด้วยการทดสอบบท โดยเธอได้รับบทภาพยนตร์เพียงแค่ส่วนที่เธอต้องพูด เธอเล่าว่า "ฉันไม่รู้เลยว่าตัวเองดำลังหาเรื่องอะไรใส่ตัว เพราะว่าฉันแค่อ่านบทพูดของหญิงขราที่เข้ามาในธนาคาร เพราะว่าบ้านของเธอกำลังจะถูกยึด หลังจากที่ฉันได้รับเลือกแล้วได้อ่านบทภาพยนตร์ทั้งหมด ฉันก็อุทานในใจเลยว่า 'ให้ตายสิ!'"
แต่ ราเวอร์ ก็เข้าใจถึงเนื้อหาและหน้าที่ที่รอเธออยู่ข้างหน้า โดยนักแสดงคนนี้ยังพบว่าประสบการณ์ในการร่วมงานกับ ไรมี่ เป็นอะไรที่ผ่อนคลายอย่างคาดไม่ถึง "แซม มีความเป็นกันเองซึ่งช่วยทำลายน้ำแข็งที่กั้นระหว่างเขากับนักแสดงทุกคน เขาเป็นผู้กำกับที่วิเศษในการร่วมงานกับนักแสดง เพราะว่าเขาจะรวมคุณเข้าไปในกระบวนการสร้างด้วย ฉันพบว่ามันน่าสนใจในการเฝ้าสังเกตุการทำงานของเขาบนกอง เขาเป็นคนที่มีสมาธิมากและบางครั้งคุณก็แทบเห็นภาพยนตร์ผ่านทางสายตาเขาได้เลย"
ถึงแม้ว่านี้จะไม่ใช่การแสดงครั้งแรกของนักแสดงอาวุโสคนนี้ แต่ ราเวอร์ ก็พยายามทำให้ทุกอย่างเป็นสิ่งใหม่สำหรับเธอเสมอ โดยในการเตรียมตัวเพื่อรับบทนี้ ราเวอร์ ได้พบกับครูฝึกที่สอนการพูดอังกฤษสำเนียงฮังกาเรียน และยังบอกให้ครูฝึกแปลบทของเธอให้เป็นภาษาฮังการี ซึ่งเธอใช้ภาษานี้ในบางสถานการณ์ โดยเฉพาะตอนที่ มิส กานุช ตัวละครของเธอกำลังโจมตีใส่ คริสติน
ไม่มีใครที่จะประทับใจในความทุ่มเทของเธอ มากกว่า แซม ไรมี่ ผู้ซึ่งช่วยผลักดันให้เธอกลายร่างเป็น มิส กานุช ผู้น่าสงสารและชั่วร้ายในเวลาเดียวกัน โดยเขาได้พูดถึงเธอว่า "ลอร์น่า เฉิดฉายและแจ้งเกิดกับบทนี้ โดยเฉพาะฉากที่เธอและ โลห์แมน ต้องต่อสู้กันในรถ เธอเป็นนักสู้ที่พร้อมแสดงเพิ่มขึ้นอีกเทคเสมอ"
ดีรีป เรา เป็นนักแสดงหน้าใหม่ ที่เข้ามารับบทเป็นนักสะกดจิต แรม แจส ผู้กลายเป็นคนที่คอยช่วยเหลือ คริสติน โดย เรา รู้สึกถูกดึงดูดโดยเนื้อเรื่อง ที่นำเอาความเชื่อและอารมณ์จากหนังสยองขวัญยุคโบราญ มาใส่ความเป็น แซม ไรมี่ และความคิดสมัยใหม่เข้าไป "ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของบทภาพยนตร์ ก็คือมันมีทั้งความทันสมัยของเรื่องราวและตัวละครที่อยู่ในเรื่อง แต่สไตล์การดำเนินเรื่องของมันก็ชวนให้นึกถึงหนังสยองขวัญที่ผมโปรดปรานสมัยเด็ก มันมีทั้งความพิศวง, ความแปลกใจ และอารมณ์ขันแบบร้ายๆที่ผสมผสานกันอยู่"
ผู้อำนวยการสร้าง เคอร์ติส ได้เล่าถึงการคัดเลือก ดีรีป เรา มารับบท แรม แจส ว่า "เขามีอายุน้อยกว่าที่เราตั้งไว้ในบทภาพยนตร์ แต่เมื่อเราได้เห็นการแสดงของเขาเมื่อมาทดสอบบท แซม ก็บอกเราว่าอายุไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะเขาเป็นนักแสดงที่มีความเฉลียวฉลาด คุณจะเห็นได้ในเรื่อง เขาจะเป็นเหมือนไหล่ที่ คริสติน สามารถเอาไว้พักพิงได้"
เมื่อ แรม แจส รู้ตัวว่า การถูกสาปของ คริสติน นั้นมันเกินกว่าที่เขาจะรับมือได้ เขาจึงนำตัวเธอไปหา ฌอน ซาน ดิน่า ร่างทรงหญิงเพียงคนเดียวในโลก ที่เคยพบกับ ลาเมีย และเอาชีวิตรอดมาเล่าให้คนอื่นฟัง โดยบทนี้ได้นักแสดงสาวเม็กซิกัน อาเดรียน่า บาร์ราซ่า ที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก Babel โดยเธอได้เล่าถึงการตัดสินใจเข้ามารับบทนี้ว่า "ฉันรักหนังสยองขวัญตั้งแต่เด็กแล้ว ที่บ้านของฉันก็มีห้องสมุดที่อุดมไปด้วยวรรณกรรมสยองขวัญอกีด้วย"
อาเดรียน่า ก็รู้สึกสนุกที่ได้ร่วมงานกับ ไรมี่ เพราะว่า "เขาเสนอความคิดของตัวเองให้ทุกคนตัดสินใจ และที่สำคัญสุดก็คือการที่เขารับฟังไอเดียของนักแสดงทุกคน นี้คือเรื่องสำคัญสำหรับฉัน ไม่บ่อยเลยที่ผู้กำกับจะกระตุ้นให้นักแสดงออกความคิดเห็นร่วมกัน ฉันนับถือเขาโดยเฉพาะความอ่อนโยนและอุปนิสัยส่วนตัวของเขา ฉันได้รับประสบการณ์ที่รื่นรมย์บนกองถ่าย ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประสบการณ์สยอง ที่คนดูจะได้รับจากการสร้างสรรค์ของพวกเรา"
นักแสดงที่เข้ามาปิดท้ายให้กับ Drag Me to Hell ก็คือ เดวิด เพย์เมอร์ ผู้รับบทเป็น มิสเตอร์ แจ็ค หัวหน้าผู้เข้มงวดของ คริสติน โดยนักแสดงมากประสบการณ์ผู้นี้ก็รู้สึกประทับใจ ในวิธีการที่ ไรมี่ เปิดเผยให้เห็นถึงทางเลือกของ คริสติน ที่จะทำให้เราเต็มใจร่วมทางไปกับเธอ "มันอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน พวกเราเป็นเพียงแค่คนที่พยายามเอาชีวิตรอดในสังคม และแล้วก็อาจมีบางสิ่งที่แปลกประหลาดเกิดขึ้น เช่นคุณถูกแมงมุมกัดหรือถูกหญิงชราร่ายคำสาปใส่ โดยทุกความพยายามที่เธอกระทำเพื่อขจัดคำสาป มันก็ยิ่งทำให้เธอถลำลึกลงไปเรื่อยๆ"
ด้วยความที่เป็นแฟนหนังแนวนี้อยู่แล้ว เพย์เมอร์ ก็ยังบอกว่า เขาชอบไอเดียในการถูกล่อลวงด้วยความรู้สึกปลอดภัยที่จอมปลอม เขารู้สึกสนุกในการได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็ค ที่สามารถทำให้เขาหัวเราะและตะลึงในเวลาเดียวกัน “มันเป็นเรื่องยากในการผสมผสานระหว่างมุขตลกและความสยอง แต่เรื่องนี้จะทำให้คนดูรู้สึกผ่อนคลาย พวกเขาจะคิดว่า ‘โอ้ นี้มันตลกมาก พวกเรามีความสุขจริงๆ’ แต่ในอีกวินาทีต่อมา พวกเขาก็ต้องคิดว่า ‘โอ้ พระเจ้า เลือดมันกระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่งแล้ว’"
องค์ประกอบการสร้างนรกใน Drag Me to Hell
เอฟเฟ็กต์, สตันท์, เมคอัพ และการเชิดหุ่นกล
ความสยองที่เกิดขึ้นใน Drag Me to Hell เป็นผลผลิตของกระบวนการสร้างสรคค์ทุกแนวทาง ทั้งการใช้บลูสกรีน, การใช้หุ่นและเมคอัพเอฟเฟ็กต์ รวมถึงการใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์ ซึ่งจินตนาการของ แซม ไรมี่ ก็ได้ถูกสร้างวรรค์โดยทีมงานที่เขาเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัย Evil Dead จนถึง Spider-Man ทำให้โลกของ Drag Me to Hell มีความสยองและเหี้ยมโหดจนถึงที่สุด
เอฟเฟ็กต์แบบอนุรักษ์นิยม
ปีเตอร์ เดมมิ่ง ผู้กำกับภาพที่เคยร่วมงานกับ แซม ไรมี่ มาแล้วใน Evil Dead 2: Dead by Dawn และเคยทำหน้าที่กำกับภาพให้กับ Scream สองภาคล่าสุดและ From Hell ก็ได้ใช้แสงที่มีอยู่จริงในการถ่ายทำ Drag Me to Hell เพื่อสร้างความมืดหม่นและสมจริงให้กับบรรยากาศรอบตัว คริสติน ที่ค่อยๆจมลึกสู่โลกของความผิดปกติ
เดมมิ่ง เล่าถึงกระบวนการที่เขาใช้ว่า "พวกเราหาแหล่งที่มาของแสงและไม่ได้เปลี่ยนแปลงความสว่างของแสงที่มีเลย เช่นฉากในโรงจอดรถที่ทุกอย่างเป็นสีฟ้า-เขียว โดยปกติแล้วคุณก็จะหาแสงเพื่อมาปรับเพื่อให้ดูปกติ แต่พวกเราไม่ได้แก้ไขอะไรทั้งสิ้น รวมถึงการถ่ายทำบนถนนด้วย พวกเราใช้แสงจากไฟส่องถนนกับแสงจากบ้านเรือนอีกนิดหน่อย ซึ่งมันก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความสมจริงสมจังมากขึ้น"
สำหรับฉากพิธีกรรมเข้าทรงที่ต้องการสีสันที่ฉูดฉาดมากขึ้น ผู้กำกับภาพก็ได้เลือกเพิ่มเอฟเฟ็กต์สีและการเคลื่อนไหวของกล้อง เพื่อเพิ่มความรู้สึกกังวลใจและความกดดัน ที่ผู้ชมจะเชื่อว่า คริสติน ไม่มีทางรอดอื่นอีกแล้ว นอกจากการทำพิธีกรรมนี้
เดมมิ่ง ยังมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศโดยรอบเมื่อ ลาเมีย ปรากฏตัวขึ้น โดยเขาได้จับภาพถึงแสงไฟแปลกประหลาดที่ออกมาจากมุมมืด และลมปริศนาที่พัดผ่านท้องถนนอันว่างเปล่า เขาเล่าว่า "แซม ชื่นชอบหนังสยองขวัญเก่าๆที่ชอบใช้เอฟเฟ็กต์เหล่านี้ เขารู้สึกอยากสร้างปรากฏการณ์เช่นการมีลมที่พัดจากไหนก็ไม่รู้, มุมกล้องที่สั่นไหว หรือแสงสว่างที่ไม่มีที่มาที่ไป"
ผู้กำกับภาพก็ยังทำงานใกล้ชิดกับบทภาพยนตร์ โดยเขาให้ความสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนดูและนางเอก เขาเล่าว่า "ตั้งแต่เริ่มแรก แซม และผมก็พูดคุยเกี่ยวกับการใกล้ชิด คริสติน ตลอดทั้งเรื่อง พวกเราตัดสินใจจับภาพใบหน้าของ อลิสัน บ่อยครั้ง รวมถึงการโคลสอัพใบหน้าเธออย่างใกล้ชิด เพราะว่าเราอยากให้คนดูรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเธอ"
ฉากแรกสุดที่ทีมงานเทคนิคเริ่มพูดคุยกันก็คือ พวกเขาจะถ่ายทำฉากที่ มิส กานุช โจมตี คริสติน ในรถของเธออย่างไร เพื่อที่จะได้ถ่ายทำฉากแอ็กชั่นที่มีพื้นที่จำกัด ทีมงานก็ได้สร้างรถพิเศษขึ้นมา เพื่อทำให้หน้ารถ, หลังรถ รวมถึงประตูทั้งสี่บานของรถสามารถถอดและประกอบใหม่ได้ง่าย โดยหลังคาของรถก็ยังสามารถแยกออกได้เป็นสองรูปแบบ (แยกไปซ้ายขวา หรือแยกไปหน้าหลัง) ซึ่งทำให้ทีมงานมีอิสระในการถ่ายจากมุมต่างๆในรถได้ง่ายขึ้น
เดมมิ่ง ได้กล่าวชื่นชมทีมงานที่สร้างรถว่า "มันจะไม่มีทางเลยที่เราจะถ่ายทำฉากนั้นโดยไม่ใช้รถคันนี้ โดยในช่วงของการเตรียมงานสร้าง พวกเราก็มานั่งคุยกันว่าส่วนไหนของรถที่สามารถเอาออกได้บ้าง พวกเขาหั่นรถออกเป็นชิ้นๆตามมุมกล้องที่เราจะถ่ายทำ และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม รถคันนี้สามารถถอดและใส่ส่วนต่างๆได้อย่างรวดเร็ว"
เกร็ก นิโคเทอโร่ และ โฮเวิร์ด เบอร์เกอร์ หุ้นส่วนของ KNB EFX Group ที่เป็นผู้ดูแลการสร้างเมคอัพเอฟเฟ็กต์พิเศษ ได้ร่วมมือกับ ไรมี่ ในผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1986 เรื่อง Evil Dead 2 และร่วมงานกับผู้กำกับคนนี้อีกครั้งใน Army of Darkness โดย นิโคเทอโร่ ก็รู้สึกยินดีเมื่อได้ยินว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นการกลับมาใช้เทคนิคพิเศษที่จับต้องได้อีกครั้ง "วิชวลเอฟเฟ็กต์เป็นเรื่องสนุก แต่มันก็เป็นอีกความรู้สึกนึงเลย เมื่อมีทีมงานหลายคนที่คอยดึงสายเคเบิ้ล เพื่อขยับหุ่นเชิดที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ซึ่ง แซม เองก็รู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นกว่า"
ต่างจากหนังสยองขวัญเรื่องก่อนๆของเขา ไรมี่ ไม่ต้องการให้เรื่องนี้กลายเป็นหนังที่เน้นแต่เรื่องความโหดสยอง โดยเขาอธิบายว่า "ผมไม่ต้องการทำเหมือนกับหนังสยองขวัญที่เคยสร้างมาก่อน ครั้งนี้ผมไม่อยากให้มันมีเลือดมากเกินความจำเป็น"
ทีมงานสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กต์ได้ใช้เทคนิคพิเศษต่างๆใน Drag Me to Hell เช่นการสร้างผ้าเช็ดหน้าผีของ มิส กานุช ทีมงานก็ได้โยงสายสลิงค์จากสี่ทิศ และการเป่าลมอีกนิดหน่อย โดยพวกเขาก็ทำให้มันสั่นไหวและพลิกไปมาเมื่อมันเข้าใกล้แหล่งพลังงานแห่งความชั่วร้าย โดยในขณะการถ่ายทำฉากที่ คริสติน ต้องขับรถข้ามเมืองด้วยความตื่นตระหนก ผ้าเช็ดหน้าผีสิงนี้ก็ต้องบินด้วยความเร็ว 35 ไมล์ต่อชั่วโมง โดยมีสลิงค์สองเส้นที่ถูกลากไปยังเส้นทางที่รถวิ่ง
ในการสร้างเอฟเฟ็กต์ลมในอพาร์ทเม้นท์ของ คริสติน ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายว่า ลาเมีย กำลังใกล้เข้ามา ทีมงานก็ได้ใช้ กลไกพิเศษในการเปิดปิดประตูและเคลื่อนไหวโคมไฟและพรม โดยทีมงานยังได้วางท่อจากทางหน้าต่าง และเป่าลมเพื่อพัดม่านที่อยู่ภายในตัวบ้านให้สั่นไหว
ฉากสตันท์
นักแสดงหลายคนต้องเจอกับความท้าทายในการแสดงฉากสตันท์ โดยเฉพาะ โลห์แมน และ ราเวอร์ ที่ต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือดภายในรถยนต์ โดย ไรมี่ รู้สึกประทับใจในความทุ่มเทของทั้งคู่ และทีมงานสตันท์ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับนักแสดง "ผู้กำกับฉากสตันท์ของผมเป็นคนละเอียดละออ เขาช่วยซ้อมแต่ละฉากด้วยทีมสตันท์หญิงของเขา เพื่อที่จะทำให้ โลห์แมน และ ลอร์น่า เห็นก่อนว่าพวกเขาควรทำอย่างไร จะได้รู้ว่าอะรที่ปลอดภัยหรืออะไรที่ไม่ปลอดภัย"
โลห์แมน พูดถึงฉากต่อสู้กับ ราเวอร์ ว่า "ในตอนแรก ลอร์น่า กับฉันคุยกันว่า พวกเราสามารถทำร้ายกันจริงๆกันได้ในระดับไหน เพราะว่ากล้องจะอยู่ใกล้กับพวกเรามากจนคุณรู้เลยว่าเราเจ็บจริงๆหรือเปล่า ดังนั้นฉันจึงให้ ลอร์น่า ลองบีบคอฉันดูก่อนว่าตัวเองจะกลั้นหายใจได้นานแค่ไหน"
ทางด้าน ราเวอร์ ก็เล่าถึงฉากในรถว่า "ทีมสตันท์มีความเป็นมืออาชีพมาก พวกเขาแสดงให้เห็นว่าฉันจะบีบคอยังไงให้มีความสมจริงที่สุด พวกเขาสอนให้เหมือนกับว่าเราอยู่ในสถานการณ์จริง แต่ถึงแม้ว่าเรามีการออกแบบท่าทางกันไว้แล้ว แต่มันก็ต้องมีการผิดพลาดบ้างเป็นบางครั้ง เช่นตอนที่ อลิสัน อัดฉันด้วยที่เย็บกระดาษแบบโดนจริงๆ แต่ก็ยังดีที่มันไม่ได้ทำมาจากเหล็ก"
ในฉากที่อพาร์ทเม้นท์ของ คริสติน เพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่ ลาเมีย กระชากเธอจากพื้นห้อง และเหวี่ยงเธอไปรอบๆห้องนอน ทีมงานก็ใช้เวลาหนึ่งอาทิตย์ในการซ้อมฉากนี้ด้วยสตันท์หญิง และก็นำตัว โลห์แมน มาถ่ายทำในวันจริง แรนดี้ เบ็คแมน ผู้ช่วยผู้กำกับ/ผู้ออกแบบฉากสตันท์ได้เล่าว่า "สิ่งที่ท้าทายที่สุดก็คือการทำให้แน่ใจว่า อลิสัน เต็มใจที่จะแสดงฉากสตันท์เหล่านั้นด้วยตัวเอง เธอต้องลอยไปลอยมาในห้อง เธอต้องกระแทกพื้นหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายแล้วเธอก็เต็มใจทำทุกอย่าง เธอเป็นนักสู้จริงๆ"
โลห์แมน รู้ดีว่า เมื่อเธอตกลงรับบทแล้วตัวเองจะต้องประสบกับอะไรบ้าง แต่เธอก็ยอมรับว่าท่าทีของผู้กำกับทำให้เธอมีกำลังใจรอดผ่านความโหดไปแต่ละวันได้ "ฉันชอบการเป็นคนห่วงใยคนอื่นของ แซม และเขามักจะหาวิธีในการเพิ่มความผ่อนคลายเข้าไปในเนื้อเรื่อง ฉันคิดว่ามันทั้งน่าขันและน่ากลัว และก็ยังมีความกดดันในเวลาเดียวกัน"
ฉากพิธีกรรมเข้าทรงที่ ฌอน ซาน ดิน่า พยายามหลอกล่อ ลาเมีย ก็มีการใช้สลิงค์ช่วย และเอฟเฟ็กต์ไฟสำหรับช็อตที่แสดงให้เห็นประตูสู่นรก ทีมสร้างได้สร้างโต๊ะพิเศษที่มีห่วงใส่สลิงค์และสามารถปล่อยไฟได้ 5 จุด โดย เควิน ฟอสเตอร์ ผู้รับบทเป็น มิลอส ผู้ช่วยของ ฌอน ซาน ดิน่า ต้องถูกห่อหุ้มไปด้วยเจลและลอยอยู่เหนือโต๊ะที่กำลังถูกไฟไหม้ โดยทีมงานของ เบ็คแมน ได้ทำงานร่วมกับ จิม ชวาร์ม ผู้ดูแลเอฟเฟ็กต์พิเศษอย่างใกล้ชิดในการสร้างโต๊ะตัวนี้ และทำให้แน่ใจว่ามันจะไม่เผา ฟอสเตอร์ ทั้งเป็น
ฉากในป่าช้าที่ คริสติน จัดการขุด มิส กานุช ขึ้นมาเพื่อคืนของฝากที่เธอได้มาแบบไม่เต็มใจ โดยทีมของ ชวาร์ม ก็ได้สร้างแท้งค์เหล็กที่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยทีมงานได้สร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อปรับระดับความลึกของบ่อโคลนที่ปั๊มของเหลวเข้าไปในแท้งค์ จากนั้นทีมงานก็ได้เทเอาน้ำและโคลนลงไปทั้งสามด้าน
โดยโคลนสังเคราะห์นี้ก็ถูกสร้างขึ้นโดยสารทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่เป็นอันตราย ที่ถูกสูบเข้าไปในแท๊งค์เพื่อสร้างฉากที่ว่านี้ ซึ่งถ้าผู้กำกับต้องการปรับให้ระดับน้ำสูงขึ้น ทีมงานก็สามารถใส่โคลนสังเคราะห์ให้สูงตามที่ต้องการ โดยมีสลิงค์ที่ติดไว้กับตัว โลห์แมน เพื่อที่จะช่วยให้เธอเคลื่อนไหวไปมาได้อิสระ เช่นการปีนขึ้นมาและหล่นลงไปอีกครั้งในบ่อโคลน
การลาก คริสติน ลงนรก
หนึ่งในหน้าที่ของ บรูซ โจนส์ ผู้ช่วยผู้กำกับ/ผู้ดูแลวิชวลเอฟเฟ็กต์ และทีมงาน ก็คือการสร้างหุ่นกล ลาเมีย ที่พยายามลาก คริสติน ลงนรก ในการถ่ายทำฉากนี้ ทีมงานก็ได้สร้างเก้าอี้พิเศษให้ โลห์แมน และใช้การถ่ายบลูสกรีนรอบตัวเธอเพื่อสร้างเอฟเฟ็กต์ที่เหมือนกับว่าเธอกำลังจมสู่นรก
โจนส์ เล่าว่า "เก้าอี้ทำมาจากวัตถุดิบพิเศษที่โปร่งใสและแสงผ่านทะลุได้ โดยยังมีพื้นที่ในการทำงานเพื่อทำให้ทีมงานจาก KNB ใส่ชุดสีเขียวและแสดงมือปีศาจที่ทำขึ้น ในการลาก อลิสัน ได้อย่างสมจริงสมจัง โดยพวกเรายังเติมหลุมที่สร้างขึ้นด้วยหินและเศษชิ้นส่วนต่างๆ และยังเพิ่มแสงสว่างแปลกเข้าไปอีกด้วย"
ทีมงานใช้วิชวลเอฟเฟ็กต์เพื่อที่จะได้เพิ่มรางรถไฟลงไปในช่วงโพสโปรดักชั่น และหินที่ทำจากปูนพลาสเตอร์ ที่มีขนาดเท่ากับหินจริงที่อยู่แถวรางรถไฟ โดยมันถูกเติมให้เต็มพื้นที่เพื่อแสดงให้เห็น โลห์แมน ที่ต้องถูกลากผ่านมัน ซึ่งมันจะออกมาในหนังเหมือนกับว่า เธอกำลังถูกลากอยู่บนพื้นหินอย่างโหดร้าย
ซึ่งการแสดงสีหน้าและลักษณะทางร่างกายของ อลิสัน ที่เหมือนกับการไปเดินเล่นผ่านนรกแล้วกลับมา รวมถึงการเล่นฉากสตันท์ด้วยตัวเอง ทำให้ ไรมี่ เอ่ยชมถึงนักแสดงสาวว่า "อลิสัน เป็นคนที่ทุ่มเทมาก พวกเราจับให้เธอไปสู้กับปีศาจ และจับเธอลงไปในบ่อโคลนและกองเลือด ซึ่งเธอก็ทำมันผ่านไปได้อย่างภาคภูมิทุกครั้ง เธอพร้อมรับมือกับความท้าทายที่อยู่ข้างหน้า ผมรู้สึกตื่นเต้นที่เธอสามารถทนทานได้ทุกอย่าง และความเป็นมืออาชีพของเธอก็ทำให้ความกังวลของผมมลายหายไปสิ้น"
เมคอัพเอฟเฟ็กต์
หนึ่งในฉากที่น่าจดจำ แซม และ ไอแวน ไรมี่ ได้จินตนาการถึงเรื่องแกลลอนเลือด แซม ได้ตั้งกฏว่าเลือดกำเดาที่พุ่งกระฉูดออกมาจากจมูกของ คริสติน ต้องทำกันแบบไม่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค เพื่อที่จะได้สร้างความบ้าไร้การควบคุมที่สุดบนจอภาพยนตร์ ทำให้ศิลปินเมคอัพอย่าง นิโคเทอโร่ ต้องคิดค้นการซ่อนสายยางไว้หลังหูของ โลห์แมน โดยทีมงานของเขาได้สร้างหลอดเล็กๆที่ติดอยู่ในโพรงจมูกของเธอ เพื่อที่เลือดจะได้ไหลออกมาจากท่อนั้น เหมือนกับออกจากจมูกของเธอจริงๆ โดยพวกเขาสามารถสร้างแรงฉีดได้ไกลถึง 12 ฟุตเลยทีเดียว
โลห์แมน ผู้มีท่อยางเล็กๆสอดเข้าไปในโพรงจมูกเป็นครั้งแรกในชีวิตเล่าว่า "มันแปลกมาก ฉันรู้สึกเหมือนว่ามีท่อยางที่เป็นเหมือนหัวสปริงเกอร์เล็กๆในจมูก และเมื่อมันทำงานมันก็กลายเป็นเรื่องที่แปลกที่สุด เพราะคุณจะเห็นทั้งความดันและจำนวนเลือดที่พุ่งออกมาจากท่อนั้น"
Drag Me to Hell ยังแสดงให้เห็นถึงการกลายร่างของ มิส กานุช ซึ่งเป็นผลงานจากทีมของ KNB เช่นกัน โดยผลงานของพวกเขาก็รวมถึงศพดองที่ คริสติน ตื่นขึ้นมาพบ, ศพเน่าเฟะจากฝันร้ายของ Iรวมถึงร่างกายของคนที่ "นอนอย่างสงบ" ในป่าช้า
นิโคเทอโร่ เล่าถึงการทำงานในหนังเรื่องนี้ว่า "เมื่อคุณทำงานกับจำนวนหุ่นที่คุณต้องออกแบบมากมายเช่นนี้ มันสำคัญที่คุณต้องมีอารมณ์ขันบนกองถ่าย แซม เองก็มีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับตัวละครเหล่านั้น เขามีอารมณ์ขันที่ทั้งบ้าบอและเหนือความคาดหมาย ผมทำงานกับเขามาจนรู้ว่าเขาแทบไม่มีขอบเขตในการเล่นตลกแล้ว ถ้าคุณเสนอเรื่องอะไรก็ตามที่ฟังดูแล้วบ้ามาก เขาก็ยินดีที่จะตามไอเดียคุณไปจนสุด เพราะเขาต้องการมอบความสนุกให้กับคนดู ในขณะเดียวกันเขาก็อยากมีความสุขในการทำงานด้วย"
เพื่อที่ทางทีมงานสร้างรูปลักษณ์ที่หลากหลายของ มิส กานุช ทำให้ ราเวอร์ ต้องใช้เวลานานในการถูกห่อหุ้มด้วยลาเท็กซ์ โดย นิโคเทอโร่ ก็ได้กล่าวชมนักแสดงอาวุโสคนนี้ว่า "ลอร์น่า เป็นนักแสดงที่อดทนมาก ไม่เพียงแค่เราต้องห่อหุ้มกาวบนหน้าเธอในหลายท่าทาง แต่เรายังส่งเธอไปยังบริษัทที่ชื่อว่า Cyber Effects ที่ต้องสแกนเธอจากหัวจดเท้าเพื่อสร้างตัวแทนสามมิติของเธอ พวกเรายังต้องสแกนเธอในตอนที่ต้องอ้าปากกว้างสุดๆอีกด้วย"
อย่างไรก็ตาม ราเวอร์ ก็รู้สึกโล่งใจว่า การทำงานเมคอัพไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถึงเธอจะยอมรับว่าตัวเองรู้สึกกังวลนิดๆเมื่อถูกห่อหุ้มด้วยวัตถุมากมาย "ฉันต้องมอบเครดิตให้กับ เกร็ก, โฮเวิร์ด และทุกคนที่ KNB รวมถึง แกเร็ธ และทีมงานที่ช่วยกันสร้างใบหน้าของฉัน พวกเขาทำงานด้วยความระมัดระวัง"
มีบางช่วงที่ มิส กานุช ปรากฏตัวเป็นผีต่อหน้า คริสติน ซึ่งในกรณีนี้การแต่งหน้าจะต้องเน้นให้มากขึ้น ราเวอร์ ให้ความเห็นว่า "ตัวละครฉันในเวอร์ชั่นปีศาจจะมีรายละเอียดที่มากกว่าปกติ และมันก็ยังเป็นการแสดงที่แตกต่างกัน เพราะในตอนนั้นฉันไม่ใช่ มิส กานุช ที่เดินเข้ามาในธนาคารอีกแล้ว แต่เป็น มิส กานุช ในมุมมองของ คริสติน"
หุ่นกล
อีกงานหนึ่งของ KNB ก็คือการสร้างและควบคุมตัวอสูรกายที่ปรากฏตัวขึ้นในฉากพิธีกรรมเข้าทรง โดย ลาเมีย ได้ก่อร่างสร้างตัวเป็นสิ่งที่อยู่รอบบริเวณ นิโคเทอโร่ ได้เล่าถึงไอเดียในการสร้างมันว่า "แซม และผมปรึกษากันถึงเรื่องการออกแบบ ลาเมีย ให้เหมือนกับเป็นอสูรกายครึ่งคนครึ่งแพะ ที่มีเขาและร่างกายอันใหญ่โต พวกเรายังพูดถึงการใช้หุ่นเชิดที่สามารถบังคับได้"
ไรมี่ ตัดสินใจว่า ลาเมีย จะเป็นพลังงานที่มองไม่เห็น ซึ่งสามารถไปเข้าสิงร่างของคนและแพะในช่วงพิธีกรรมเข้าทรง โดยทีมงาน KNB ได้สร้างสัตว์ประหลาดตามคอนเซ็ปต์แพะปีศาจ โดยทีมงานได้ใช้การแต่งหน้าที่ประกอบไปด้วยคอนแทคเลนส์, การทำให้จมูกและคิ้วกว้างขึ้น และฟันที่แหลมคม
ลาเมีย ในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์แบบ ทำให้ ไอแวน ไรมี่ รู้สึกตะลึงกับหุ่นแพะปีศาจที่ตั้งอยู่ในกองถ่าย "เกร็ก เป็นคนขี้เล่นและชอบทำให้ผมรู้สึกกลัว เมื่อผมเดินเข้าไปในเซ็ทที่ใช้ถ่ายทำฉากพิธีกรรมเข้าทรง ผมก็เห็นแพะตัวนั้นเดินตามมาเรื่อยๆ เมื่อผมหันไปหามัน เจ้าแพะตัวนั้นก็หยุดเดิน"
นิโคเทอโร่ ผู้เคยสร้างหุ่นเหมือน บิล แพ็กซ์ตัน ที่ใช้ในเรื่อง A Simple Plan ที่กำกับโดย แซม ไรมี่ ได้ชื่มชมความหลงไหลในการใช้หุ่นกลของผู้กำกับ "แซม มีความรู้สึกโหยหาในการใช้หุ่นกลแสดง เขารักไอเดียที่ทำให้คนดูรู้สึกว่ามันมีอยู่จริง มันไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาแล้วขยับได้ด้วยการดึงเคเบิ้ลสองสามที แซม เข้าใจถึงศิลปะของการเชิดหุ่น เขาเป็นผู้กำกับเพียงไม่กี่คนที่ผมเต็มใจที่จะทำงานด้วย"
การออกแบบ Drag Me to Hell
การถ่ายทำของหนังสยองขวัญเรื่องนี้เริ่มต้นที่ทาร์แซนน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ในธนาคารร้างที่ถูกออกแบบและแต่งเติมให้กลายเป็น วิลเชียร์ แปซิฟิค แบ้งค์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พนักงานสาว คริสติน บราวน์ ทำงานอยู่ โดยมันถูกออกแบบและสร้างโดย สตีฟ แซ็คลาส ผู้ออกแบบงานสร้างที่เคยร่วมงานกับ ไรมี่ มาแล้วในเรื่อง Spider-Man 2
ด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ ทั้งในแง่ของความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ และอารมณ์ขันที่บูดเบี้ยว ทำให้ Drag Me to Hell มีความพิเศษอย่างน่าประหลาด ถูกล้อมรอบไปด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ จากการถ่ายทำที่ทะลุทะลวง และเมคอัพเอฟเฟ็กต์ที่น่าประทับใจ ทำให้ ไรมี่ สามารถอุทิศเวลาให้กับเนื้อเรื่อง, ตัวละครและการแสดงของนักแสดงได้อีก
การสร้างฉาก
ในแต่ละพื้นที่ที่ แซ็คลาส ออกแบบ ได้แสดงให้เห็นถึงการเข้มข้นที่กำลังจะบังเกิดขึ้น แม่สีที่ราบเรียบของธนาคารก็เปลี่ยนเป็นความตกใจด้วยสีแดง และแม่สีที่ฉูดฉาดในห้องที่ทำพิธีกรรมเข้าทรง และป่าช้าก็มอบเอาความรู้สึกยุ่งเหยิง และความโกลาหลกับฉากไคลแม๊กซ์ที่จะเกิดขึ้นในหลุมที่ลึกกว่า 6 ฟุต ในการที่จะทำให้มันมีความกดดันและความสยองดังที่เห็นในบทภาพยนตร์ ทีมออกแบบงานสร้างก็ต้องใช้ทั้งสถานที่จริงและเซ็ทที่สร้างขึ้นมา
แซ็คลาส ได้เล่าถึงรายละเอียดการออกแบบว่า "พวกเราได้ใส่ระละเอียดเบื้องหลังของ แรม แจส และ คริสติน ดังนั้นห้องของแต่พวกเขาก็จะเต็มไปด้วยเรื่องราวของครอบครัว และชีวิตก่อนที่พวกเขาจะเป็นก่อนหน้าเหตุการณ์นี้จะเริ่มต้น พวกเราต้องทำให้เหมือนกับว่าตัวละครพวกนี้มีชีวิตจริง แซม อาจจะอยากให้ฉากแอ็คชั่นอยู่ในโลกเสมือนจริงรองรับ คริสติน อยู่ เพราะถ้าเมื่อคุณรู้สึกว่านั้นคือกำแพงกระดาษที่เธอถูกเขวี้ยงใส่ มันก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ผมว่ายิ่งเราทำให้สมจริงเท่าไร ความสยองก็ยิ่งจะสมจริงขึ้น"
โดยทั้งห้องนอนของ คริสติน รวมถึงห้องที่ใช้ประกอบพิธีกรรมเข้าทรง ได้ถูกสร้างในสตูดิโอถ่ายทำที่ ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์ โดย แซ็คลาส ได้ออกแบบให้ห้องมีกำแพงและเพดานที่ถอดออกได้ จากการปรึกษากับ แรนดี้ เบ็คแมน ผู้ช่วยผู้กำกับ/ผู้ออกแบบสตันท์ ในการสร้างพื้นที่ที่เหมาะแก่ฉากแอ็คชั่น
ส่วนในห้องทำพิธีเข้าทรงนั้น สตีฟ ได้พูดถึงแนวทางในการออกแบบตกแต่งสถานที่แห่งนี้ว่า “พวกเราผสมผสานศิลปะของยุโรปตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน พวกเรามีเฟอร์นิเจอร์แนวบาร็อคที่มาจากฝรั่งเศส ซึ่งผสมผสานกับกระจกสีและวงกบในแนวชาวมัวร์ พวกเรายังมีบันไดแบบชาวมัวร์ตั้งอยู่กลางห้องโถง ซึ่งการถ่ายทำจากมุมสูงก็จะให้ความรู้สึกที่ดูแปลกและวังเวงอยู่ไม่น้อย"
การออกแบบเครื่องแต่งกาย
สิ่งที่ทำให้โลกของ Drag Me to Hell มีความโดดเด่นมากขึ้น ก็คือการออกแบบเครื่องแต่งกายของ ไอซิส มุสเซนเด็น โดยเขาปรารถนาที่จะเล่าเรื่องผ่านแต่ละตัวละครด้วยเครื่องแต่งกาย "คริสติน ตือพนักงานสาวผู้มุ่งมั่นในธนาคาร เธอพยายามทำตัวให้ดูธรรมดา แต่เราก็รู้ว่าเธอมีสไตล์ แล้วเมื่อสติสัมปชัญญะของเธอที่ถดถอยลงเรื่อยๆ ซึ่งมาจากการคุกคามโดยสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เธอก็เริ่มที่จะไม่สนใจแต่งตัวแล้ว และสีสันก็จะซีดเซียวลงเมื่อเธอเริ่มหมดหนทาง"
การออกแบบเสื้อผ้าของ Drag Me to Hell กระจายไปทุกแนว จากชุดพนักงานออฟฟิศของ คริสติน ไปจนถึงชุดของคนเข้าทรงของ แรม แจส โดย มุสเซนเด็น ได้ร่วมมือกับทีมนักแสดงเพื่อสร้างจุดเด่นของแต่ละคน
มุสเซนเด็น เล่าถึงการออกแบบให้กับ แรม แจส ว่า "มันสนุกมาก พวกเราอยากให้เขาเป็นเหมือนกับชายหนุ่มที่ติดต่อกับโลกแห่งวิญญาณได้ ดีรีป มีความเข้าใจว่า ตัวละครนี้ควรมีลักษณะเช่นไร เช่นมีการสะสมสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับวิญญาณต่างๆตลอดการเดินทาง เมื่อเราเริ่มที่จะรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ผมก็พบกับสายประคำที่มาจากธิเบต หรือจากอินเดียและแอฟริกาใต้ พวกเราใส่สัญลักษณ์เหล่านี้ลงบนแขนของเขา มันช่วยให้เขากลายเป็นตัวละครนี้อย่างสมบูรณ์"
แกรนต์ เคอร์ติส ได้ชื่นชมในการสร้างความแตกต่างให้กับโลกของ Drag Me to Hell ว่า "เมื่อคุณก้าวเข้ามาในเซ็ทและมองดูรายละเอียด คุณก็จะเข้าใจมันผ่านทางการสร้างสรรค์ของทีมงานทุกคน คุณจะเห็นว่าเรื่องราวเหนือธรรมชาติไม่ได้ห่างไกลจากตัว คริสติน เลย มันจะมีภาพแปลกๆอยู่ด้านหลังของเธอ หรืออะไรบางอย่างที่บอกว่ามันไม่ถูกต้อง...
ทีมนักแสดง
อลิสัน โลห์แมน (รับบทเป็น คริสติน บราวน์)
เราอาจจะจำ อลิสัน กันได้จากภาพยนตร์เรื่อง Matchstick Men (2003) ของผู้กำกับ ริดลี่ย์ สก๊อต ที่เธอรับบทเป็นลูกสาววัย 14 ปีของ นิโคลัส เคจ ทั้งที่ในชีวิตจริงตอนที่ถ่ายทำนั้น เธอมีอายุ 22 ปีเข้าไปแล้ว แต่สำหรับแฟนๆที่ติดตามผลงานของเธออย่างใกล้ชิด จะรู้ว่าก่อนหน้านี้หนึ่งปี White Oleander ถือเป็นผลงานแจ้งเกิดของ อลิสัน โดยเธอรับบทเป็นวัยรุ่นมีปัญหา ที่ต้องผ่านประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีจากครอบครัวอุปการะ หลังจากที่แม่ของเธอต้องติดคุกด้วยข้อหาฆาตกรรม
หลังจากนั้นเอก็ยังมีผลงานออกมาอีกเรื่อยๆ เช่น Big Fish (2003) ภาพยนตร์ดราม่า/แฟนตาซี จากจินตนาการของผู้กำกับ ทิม เบอร์ตัน, Where the Truth Lies (2005) ของผู้กำกับอินดี้ อะตอม อีโกยาน ซึ่งถือว่าเป็นบทที่ท้าทายที่สุดบทหนึ่งสำหรับเธอ และล่าสุดใน Beowulf (2007) สุดยอดอลังการงานสร้างแอคชั่น-แฟนตาซี 3D ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซ็คเมคิส
ผลงานเรื่องอื่นๆของเธอก็ยังมี Flicka (2006), Delirious (2006), Delivering Milo (2001) และ The Million Dollar Kid (2000)
จัสติน ลอง (รับบนเป็น เคลย์)
ผลงาน >>> He's Just Not That Into You, Zack and Miri Make a Porno, Live Free or Die Hard, Accepted, Herbie Fully Loaded, Jeepers Creepers
ลอร์น่า ราเวอร์ (รับบทเป็น มิส กานุช)
ผลงาน >>> CSI: Las Vegas, Boston Legal, Desperate Housewives, Cold Case, Charmed
ดิรีป เรา (รับบทเป็น แรม แจส)
ผลงาน >>> Avatar, Brothers & Sisters, Standoff
เดวิด เพย์เมอร์ (รับบทเป็น มิสเตอร์ แจ็ค)
ผลงาน >>> Ocean's Thirteen, In Good Company, Alex & Emma, The Hurricane, Payback, Mighty Joe Young
อาเดรียน่า บาร์ราซ่า (รับบทเป็น ฌอน ซาน ดีน่า)
ผลงาน >>> Babel, Amores perros, Henry Poole Is Here, CSI: Miami
ทีมผู้สร้าง
แซม ไรมี่ (ผู้กำกับ/เขียนบทร่วม)
ตามที่มีการบันทึกเอาไว้ในปี 1982 แซม ไรมี่ สร้าง Evil Dead ภาพยนตร์สยองขวัญสุดคลาสสิค ด้วยทุนสร้างเพียงแค่ 375,000 เหรียญ ในอีก 25 ปีต่อมา เขาได้รับมอบหมายให้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man 3 ที่มีทุนสร้างถึง 258 ล้านเหรียญ แม้ว่ามันจะเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล แต่ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมานั้น ก็ไม่ได้ทำให้ตัวตนของเขาต้องเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่นิดเดียว แซม ไรมี่ ยังเป็นนักสร้างภาพยนตร์ที่ทุกคนรัก และเขาก็ยังหลงไหลในสิ่งที่เรียกว่า "ศิลปะภาพยนตร์" เรื่อยมา ไม่ว่าพื้นที่สำหรับเขาในการสร้างสรรค์ผลงานออกมานั้น ก็มีขนาดใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม
ผลงานเรื่องอื่นๆของเขาก็ยังมี The Gift, A Simple Plan, For Love of the Game, The Quick and the Dead, Darkman และ Crimewave
ไอแวน ไรมี่ (เขียนบทร่วม)
ผลงาน >>> Spider-Man 3, Army of Darkness, Darkman
แกรนต์ เคอร์ติส (ผู้อำนวยการสร้าง)
ผลงาน >>> Spider-Man Trilogy, The Gift
ปีเตอร์ เดมมิ่ง (ผู้กำกับภาพ)
ผลงาน >>> Mulholland Dr., Rumor Has It..., The Jacket, Austin Powers in Goldmember, From Hell, Austin Powers: International Man of Mystery
สตีฟ แซ็คลาส (ผู้ออกแบบงานสร้าง)
ผลงาน >>> Juno, Swing Vote, Thank You for Smoking, Pride, Shadowboxer
บ๊อบ มูราวสกี้ (ผู้ตัดต่อ)
ผลงาน >>> Spider-Man Trilogy, The Hurt Locker, The Gift, From Dusk Till Dawn 2: Texas Blood Money
ไอซิส มูสเซนเด็น (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย)
ผลงาน >>> The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe 1 & 2, Jay and Silent Bob Strike Back, Thirteen Days, American Psycho, The Astronaut’s Wife
คริสโตเฟอร์ ยัง (ผู้ดูแลเพลงประกอบ)
ผลงาน >>> Spider-Man 3, Swordfish, Shipping News, The Hurricane, Species, The Man Who Knew Too Little
บรูซ โจนส์ (ผู้ดูแลวิชวลเอฟเฟ็กส์)
ผลงาน >>> The Spirit, Bangkok Dangerous, Enchanted, Daddy Day Camp, The Messengers, The Italian Job
เกร็ก นิโคเทอโร่ และ โฮเวิร์ด เบอร์เกอร์ (ผู้ดูแลเมคอัพเอฟเฟ็กส์)
ผลงาน >>> Kill Bill Vol. 1 and Vol. 2, Transformers, The Green Mile, Dances With Wolves, From Dusk Till Dawn, Army of Darkness, The Hills Have Eyes, Sin City, Misery