เตือนผู้ส่งออกไทยตรวจสารเคมีตกค้างในผลไม้ที่ส่งไปแคนาดา

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2009 16:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--คต. นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หน่วยงาน Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ได้ตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานที่แคนาดากำหนดในผลไม้ 2 ชนิด ได้แก่ ส้ม (Honey Madarin) และมะพร้าว (Fresh coconut) ของไทย โดยสารเคมีที่ตรวจพบได้แก่สาร Profenofos และสาร Carbendazim ซึ่งแคนาดากำหนดให้มีปริมาณตกค้างได้ไม่เกินกว่า 0.1 ppm. ขั้นตอนการตรวจสอบสารตกค้างในผลไม้ของหน่วยงาน CFIA มีดังนี้ 1. สุ่มตรวจจากจุดจำหน่ายในร้านค้าปลีก 2. ผลไม้ที่พบปริมาณสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดจะถูกตรวจสอบตามมาตรการในกลุ่ม “เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ” (surveillance phase) โดยทำการกักกันและตรวจสอบผลไม้ที่นำเข้าจากบริษัทเดียวกันนี้ไปอีก 5 ล็อต (loads) 3. หาก CFIA พบว่าสินค้าในล็อตมีสารตกค้างต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะย้ายผลิตภัณฑ์ออกจากกลุ่ม “เฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ” เป็น “เฝ้าระวัง” (monitoring phase) 4. หาก CFIA พบว่าสินค้าในล็อตยังคงมีสารตกค้างสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจะย้ายผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่ม “compliance phase” ซึ่งต้องถูกตรวจสอบสารตกค้างอย่างถี่ถ้วน โดยสินค้าทุกล็อตต้องได้รับใบรับรองจากห้องวิจัยที่ได้รับการรับรองจาก CFIA อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบมาตรฐานผลไม้นำเข้าที่แคนาดากำหนดได้ที่เว็บไซต์ http://www.inspection.gc.ca/english/fssa/frefra/cdnreqe.shtml รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยส่งผลไม้ไปยังตลาดแคนาดา ปีละประมาณ 250 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องระมัดระวังไม่ให้มีสารตกค้างในผลไม้ รวมทั้งสินค้าอาหาร เพื่อเป็นการรักษาตลาด และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าของไทยในตลาดโลกอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ