กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กบข.
กบข. จัดพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างผู้จัดการกองทุนในประเทศ เพื่อทำหน้าที่บริหารเงินให้กับ กบข. โดยในปี 2549 นี้ มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ( บลจ.) ที่ได้รับการคัดเลือกและร่วมในพิธีลงนามพร้อมกันถึง 7 บลจ. คิดเป็นวงเงินที่บริหารกว่า 5 หมื่นล้านบาท
โดยพิธีลงนามในครั้งนี้ นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนในประเทศว่า “ ที่ผ่านมา ตามที่ กบข. ได้ว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ( บลจ.) ภายนอกบริหารกองทุนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialized Mandate) โดยจะครบสัญญาว่าจ้างในเดือนตุลาคม 2549 นี้ กบข. จึงได้ดำเนินการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนในประเทศใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะคัดเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเช่นเดิม และมีการจัดการกองทุนแบบ Active Management เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับสมาชิกในระยะยาว”
สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญๆ ที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่ ความมั่นคงและประสบการณ์ ผลการดำเนินงานของบริษัท กระบวนการตัดสินใจลงทุน แนวทางและกลยุทธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนจรรยาบรรณในการบริหารกองทุน และจากผลการคัดเลือกทำให้ กบข. จัดสรรเงินกองทุนเพื่อการลงทุนในตราสารทุนขนาด 6,000 ล้านบาท และกองทุนเพื่อการลงทุนในตราสารหนี้ขนาด 48,600 ล้านบาท รวมเป็นขนาดกองทุนทั้งสิ้น 54,600 ล้านบาท แก่ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน 5 รายและผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ 6 ราย โดยจะทำการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้จัดการกองทุนภายในวันที่ 1 กันยายนนี้
โดย บลจ.ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการกองทุนตราสารทุนมี 5 ราย ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย จำกัด บลจ.วรรณ จำกัด บลจ.ทิสโก้ จำกัด บลจ.อเบอร์ดีน จำกัด และ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด
ส่วน บลจ.ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ 6 ราย ได้แก่ บลจ. ทิสโก้ จำกัด บลจ.วรรณ จำกัด บมจ. ธนาคารกรุงเทพ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด บลจ.เอ็ม เอฟ ซี จำกัด(มหาชน) และ บลจ.กสิกรไทย จำกัด
ทั้งนี้ กบข. จะกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนภายนอกอย่างใกล้ชิด และประเมินผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนทุก 3 เดือน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการว่าจ้างผู้จัดการกองทุนจะเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงและเป็นประโยชน์กับสมาชิกอย่าง แท้จริง
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6 member@gpf.or.th / www.gpf.or.th