ก.ไอซีที สร้างองค์ความรู้ด้านระบบเตือนภัย

ข่าวทั่วไป Thursday May 21, 2009 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ก.ไอซีที ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “โครงการสร้างองค์ความรู้ด้านระบบเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ครั้งที่ 5 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก” ว่า กระทรวงฯ ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท ภารกิจ ขั้นตอนวิธีการด้านการเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รวมทั้งเพื่อสร้างระบบการสื่อสารการเตือนภัยจากศูนย์เตือนภัยฯ ถึงประชาชน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัยในรูปแบบการสร้างเครือข่ายเพื่อการแจ้งเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อบริหารจัดการภัยพิบัติ ลดความเสี่ยง และสร้างความพร้อมเพื่อการเผชิญภัยแบบมีระบบ “การสร้างองค์ความรู้ด้านระบบเตือนภัย นับว่ามีความจำเป็นกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้จัดการสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการ สมาคม ชมรม อาสาสมัครระดับจังหวัดใน 75 จังหวัด ได้มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอน วิธีการด้านการเตือนภัย การทำงานของระบบเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยฯ ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรที่อยู่ต่างหน่วยงานและตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ มีการส่งและรับข้อมูลจากศูนย์เตือนภัยฯ ถึงผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยตามสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุดจนถึงขั้นปลอดภัย สามารถบริหารจัดการภัยพิบัติในรูปแบบการมีส่วนร่วมที่ช่วยลดการเสี่ยงภัย และสร้างความพร้อมในการเผชิญภัยอย่างเป็นระบบ” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว การสัมมนาโครงการสร้างองค์ความรู้ด้านระบบเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน นี้จัดขึ้นทั้งหมด 6 ครั้งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลาง 11 จังหวัดเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 120 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาท ภารกิจ และระบบเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำหรับบทบาทของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบระบบเตือนภัยของประเทศนั้น คือ การศึกษา วิเคราะห์ วิจัยข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ โดยจำลองสถานการณ์ของภัยพิบัติต่างๆ จัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานล่วงหน้า รวมทั้งมีการประสานข้อมูลกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความรุนแรงและประเมินสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ เพื่อดำเนินการแจ้งเตือนและกระจายข่าวความรุนแรงของภัยพิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดภัย และขณะเกิดภัย จนสิ้นสุดการเกิดภัยพิบัติ ผ่านสื่อต่างๆ ของทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผ่านทางหอเตือนภัยและระบบเตือนภัยที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ดำเนินการติดตั้งหอเตือนภัยและระบบเตือนภัยไปแล้ว 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นการติดตั้งในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ส่วนระยะที่ 2 ติดตั้งบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ฝั่งตะวันออก 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด สำหรับในระยะที่ 3 จะดำเนินการติดตั้งให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย 57 จังหวัดรวม 144 แห่งทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 และระยะที่ 4 ติดตั้งเพิ่มเติมใน 6 จังหวัด ภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการอี-ออกชั่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 ทวิติยา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ