ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เม.ย. 52 ส่งสัญญาณฟื้นตัว ปรับตัวขึ้นในรอบ 7 เดือน

ข่าวทั่วไป Thursday May 21, 2009 12:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,220 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 76.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่ระดับ 69.4 โดยได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายโดยรวม ตลอดจนปริมาณการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการในเดือนเมษายนปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (โดยปกติตามปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว ปริมาณการผลิต และผลประกอบการในเดือนนี้มักจะปรับตัวลดลง เนื่องจากในเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีวันทำการน้อยกว่าเดือนมีนาคมและได้มีการเร่งผลิตเพื่อชดเชยไปแล้วในเดือนก่อนหน้า ดังนั้นการที่ปริมาณการผลิต และผลประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในระยะต่อไป) อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ได้มีการยกระดับความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนเมษายนจนเกิดจลาจลขึ้น และนำมาซึ่งการประกาศ พรก. สถานการณ?ฉุกเฉินในเขตพื้นที่พัทยา จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนเมษายนนั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแกร่งนัก สะท้อนจากค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 37นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 81.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ที่อยู่ในระดับ 75.1 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่า ความเชื่อมั่นในด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจในบางประเทศคู่ค้าเริ่มมีทิศทางการขยายตัวของการบริโภคอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (2551) ที่อยู่ในระดับ 91.7 และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่า อุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากผลกระทบด้านยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายโดยรวมที่ปรับลดลงของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยหลักที่นำมาใช้คำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น ยกเว้น ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางของปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนปัญหาด้านแรงงานที่มีไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต ตลอดจนผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ประกอบการปรับตัวลดลง ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยได้รับผลดีจากปรับตัวเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อ และยอดขาย โดยเฉพาะยอดขายที่กระเตื้องขึ้นทั้งตลาดในประเทศ ที่ได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา (เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท) และตลาดต่างประเทศได้รับผลบวกจากการบริโภคที่ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผลกระทบด้านการเมืองในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมองว่าส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมน้อยลงกว่าเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีสัญญาณที่ดีของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เริ่มมีทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และผลกระทบจากราคาน้ำมัน ตามลำดับ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกอยู่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐเร่งหาแนวทางแก้ไขเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน กระตุ้นให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น และควรผ่อนคลายกฏระเบียบในการปล่อยสินเชื่อลง ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ โดยอย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากไปกว่านี้ ซึ่งระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ประกอบการเห็นว่าเหมาะสมอยู่ที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ