กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สสวท.
ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.
(สินีนาฎ ทาบึงกาฬ/ รายงาน)
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลต่อขวัญ กำลังใจของผู้คนทุกภาคส่วนที่อาศัยอยู่แถบนั้น ในด้านการศึกษาก็ยังขาดแคลนครู และสื่อ อุปกรณ์การสอนที่จำเป็น การส่งผ่านกำลังใจไปยังครูชายใต้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจในการสอนให้ยังคงอยู่
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายโครงการ เช่น การจัดทำศูนย์การเรียนรู้ชุมชน การพัฒนาครูผู้สอนภาคใต้ การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านโครงการ GLOBE การอบรมครูทางไกล ฯลฯ
ล่าสุด สสวท. เพิ่งดำเนินโครงการประชุมปฏิบัติการอบรมครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามโครงการเพิ่มพูนศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสร็จสิ้นไปหมาด ๆ โดยได้จัดอบรมครูไปแล้ว 5 รุ่นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน — 14 พฤษภาคม 2552
ผู้เขียนได้ไปสังเกตการณ์การอบรมครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา 5 จังหวัดชายแดนใต้รุ่นที่ 2 ที่จัดไปเมื่อวันที่ 10-14 พฤษภาคม 2552 ณ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จังหวัดตรัง งานนี้มีครูเข้าร่วมอบรม 150 คน
นางชุติมา เตมียสถิตย์ หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. กล่าวว่า สสวท. ตระหนักถึงภาวะการขาดแคลนครู เนื่องจากครูในเขตพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการลาออกจากพื้นที่บ้าง ครูถูกทำร้ายบ้าง ทำให้ครูเสียขวัญ รัฐบาลได้ขอให้คนที่จบปริญญาตรีในพื้นที่เป็นครูเพื่อทดแทนการขาดแคลนครู เมื่อเป็นครูโดยที่ไม่ได้จบครูมาโดยตรงตามสาขาวิชาที่สอนจึงเกิดปัญหาใน
การสอน
“ก่อนที่จะจัดอบรม สสวท. วิเคราะห์แล้วว่า เนื้อหาเรื่องใดที่เป็นเรื่องยากหรือที่เป็นปัญหาในการสอน จะเลือกมาใช้อบรมครูก่อน เพื่อให้ครูสามารถนำความรู้ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ทันที ในการสอนวิทยาศาสตร์นั้น ครูไม่ได้สอนเพียงเนื้อหาอย่างเดียว แต่ต้องสอนการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ด้วย และ สสวท. ยังให้สื่อไปใช้ในการสอนด้วย ฉะนั้นการอบรมนี้ คุณครูจะรู้ทั้งหลักสูตรที่จะไปใช้สอน กระบวนการจัดการเรียนการสอน และมีสื่อติดมือไปด้วย” อ.ชุติมากล่าว
เช่น สสวท. พบว่า ครูมีปัญหาเรื่องการใช้กล้องจุลทรรศน์ การทำสไลด์สด สสวท. ก็นำเรื่องนี้มาจัดอบรม เป็นหรือเราพบว่าครูมีปัญหาการสอนเรื่องเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสาร และเรื่องธรณีวิทยากับดาราศาสตร์ ก็นำมาใช้จัดอบรมครูครั้งนี้ด้วย
เนื้อหาที่ใช้อบรมครู ล้วนแต่เป็นเนื้อหาสำคัญในมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ซึ่งผ่านการคัดสรรมาแล้ว ประกอบด้วย ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมเรื่องแสง การเปลี่ยนแปลงของสาร การดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ ข้างขึ้นข้างแรม หินและการเปลี่ยนแปลง การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ฤดู สุริยุปราคา จันทรุปราคา การผลิตสื่อการเรียนการสอน และการนำ CD ตัวอย่างการสอน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของ สสวท. ไปจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
จากหัวข้อที่จัดอบรมให้แก่ครูนั้น ล้วนแต่เป็นเนื้อหาที่ต้องลงลึกเรียนรู้ และปฏิบัติทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ ถึงจะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เวลาที่ใช้ในการอบรม จำนวน 5 วันเต็ม ๆ ทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ มีบรรยากาศในห้องอบรมที่ล้วนอัดแน่นไปด้วยพลังของครูที่ต้องการจะเรียนรู้ให้มากที่สุด ให้เข้าใจที่สุด เพื่อนำไปสอนให้ดีที่สุด อย่างเต็มความสามารถที่มี ...... แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวจะเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่พวกเขามีความมุ่งมั่นในการสอนรู แสดงให้เห็นถึงสปิริต ความรับผิดชอบ และจิตวิญญานของความเป็น “ครู” อย่างแท้จริง
ผลพบว่า ครูที่เข้ารับการอบรมมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมทุกขั้นตอนความตั้งใจ ซึ่งครูแต่ละท่านล้วนแต่พึงพอใจในเนื้อหาและกิจกรรมที่ได้รับถ่ายทอดจากวิทยากรของ สสวท. โดยเฉพาะการผลิตสื่อการเรียนการสอน ที่ครูได้ลงมือทำด้วยตัวเอง จนเข้าใจและสามารถกลับไปทำเองที่โรงเรียนได้ นอกจากนั้นหนังสือเรียน คู่มือครู ใบงาน ใบกิจกรรม สื่อการเรียนการสอนที่ได้รับกลับไปนั้น ครูบอกว่า ชอบมาก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องการอยู่แล้ว กลับไปจะได้นำไปใช้งานทันที
นางวิมลพรรณ์ เจะเฮง โรงเรียนยะหริ่ง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เป็นครูมา 28 ปีแล้ว จบการศึกษาเอกภาษาไทย แต่ประสบการณ์สอนที่ผ่านมาส่วนใหญ่สอนทุกวิชา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล — ป. 6 เพิ่งมาปีหลังๆ ที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เล่าว่า อยากเข้ารับการอบรม เพราะตนเองไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ มางานนี้ดีใจที่ได้ร่วมการอบรม เพราะ ได้รับความรู้ตรงกับสิ่งที่อยากได้ เพียงแต่บางอย่างยากสำหรับเรา เพราะเราไม่มีพื้นฐานมาก่อน อย่างเรื่อง แสง พืช เราตามทัน แต่เรื่องจันทรุปราคา สุริยุปราคา ข้างขึ้นข้างแรม ก็ทำความเข้าใจช้าหน่อย
“การอบรมเกี่ยวกับการผลิตสื่อ สนุกมาก เรานำไปใช้สอนได้ เด็กก็จะชอบและสนุกได้ ประทับใจวิทยากรทุกท่านเลยให้ความรู้แบบฟังแล้วเข้าใจง่าย โชคดีมากที่ สสวท. ให้โอกาสเรารับการอบรม อย่างน้อย กลับไปก็จะไปเผยแพร่ให้ผู้บริหารได้รับทราบก่อน แล้วก้ไปถ่ายทอดให้ครูในโรงเรียนได้รับทราบสิ่งที่เราได้รับมา ส่วนไหนที่เพื่อนครูนำไปใช้ได้จะ ให้เอกสารเขาไปอ่าน ไปฝึกทำ นำอุปกรณ์ที่เราได้มา
ไปให้เขาใช้ และให้เด็กใช้ด้วย”
นางฮอดีย๊ะ อาดำ โรงเรียนบ้านตำมะลังเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล จบวิทยาศาสตร์ สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ป. 4-6 เล่าว่า การทดลองวิทยาศาสตร์บางอย่างนั้น ทดลองไปแล้ว เด็กยังสรุปประเด็นไม่ได้ จึงคาดหวังว่ามาอบรมแล้วจะได้เทคนิคการสอน ทักษะการทดลองไปใช้กับนักเรียน “การอบรมครั้งนี้ได้ความรู้เยอะค่ะ ได้เทคนิคการสืบเสาะหาความรู้ ฝึกให้นักเรียนรู้จักคิด จะนำเทคนิคนี้ไปใช้ฝึกการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน โดยรวมชอบทุกเนื้อหาที่อบรม ประทับใจการผลิตสื่อ เพราะโรงเรียนจะใช้ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุหาง่ายที่เราคาดไม่ถึง เช่น ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ๆ สามารถนำมาใช้ประดิษฐ์วัสดุอุปกรณ์ในการทดลองวิทยาศาสตร์ได้ ”
อาจารย์เดือนดารา ทองหลอม โรงเรียนบ้านรังมดแดง อ. ไม้แก่น จ. ปัตตานี สอนวิทยาศาสตร์ ป. 4-6 คณิตศาสตร์ ป. 6 และภาษาอังกฤษ ป. 4 เล่าว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาก ไม่มีสื่ออุปกรณ์การทดลองอะไรสักอย่างเดียว ที่พอหยิบจับได้คือ วัสดุที่เหลือใช้ในโรงเรียน เด็กมีความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์น้อย ถ้าให้เด็กไปอ่านหนังสือเอง เด็กจะอ่านหนังสือไม่ค่อยออก อ่านเองไม่ได้ ส่วนใหญ่ครูจะเป็นผู้นำเสนอให้มากกว่า นักเรียนชอบทดลองมาก ๆ ถ้าวันไหนครูให้ทดลอง เด็กจะชอบ“กลับไปจะนำความรู้ไปใช้ต่อเลยค่ะ จะใช้ปรับปรุงวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาให้ดีขึ้น ให้เด็กได้ประสบการณ์จากการค้นคว้าทดลองมากขึ้น”
นายเรวัต จิตต์หลัง โรงเรียนบ้านท่ายาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล เนื่องจาก จบปริญญาตรีบริหารการศึกษา จึงต้องปรับตัว และศึกษาด้วยตัวเองให้มากขึ้น โดยเพิ่งสอนวิทยาศาสตร์ได้ 4 ปีกว่า ก่อนนี้สอนวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชั้น ป. 3 — ป. 6 อาจารย์บอกว่า มาอบรมนี้ได้รับความรู้ที่ต้องการ โดยเฉพาะการสอนวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง ให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเอง ต้นหาคำตอบด้วยตนเอง ได้รู้ขั้นตอนในการสอน ว่าการสอนวิทยาศาสตร์สอนอย่างไร ต้องใช้วิธีไหน ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างถูกต้อง “กิจกรรมที่ผมชอบก็คือการผลิตสื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ สื่อนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ที่โรงเรียนได้เลย อยากทำเยอะ ๆ ด้วย เวลาที่อบรมไหลลื่นผ่านไปโดยไม่รู้ตัว หลังจากอบรมครั้งนี้ ผมจะไปวางแผนการสอน ดูเนื้อหาสาระการสอน ว่าแต่ละสาระจะใช้สื่ออะไรบ้างที่อบรมมาแล้ว “
ทั้งนี้ สสวท. คาดหวังว่าอย่างน้อย ครูที่ได้รับการอบรมไปแล้ว จะสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างง่าย ๆ ได้ เช่น เด็กรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาค้นพบ วางแผน สำรวจตรวจสอบเพื่อหาคำตอบ และตอบคำถามที่เขาสนใจได้
การอบรมครูเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดขึ้นนี้ สสวท. ได้ใจครูวิทย์คณิตชายแดนใต้ไปเต็ม ๆ ซึ่งจะสร้างกำลังใจในการทำงานแก่พวกเขา และตอบโจทย์ในด้านการเพิ่มพูนศักยภาพสอนวิทยาศาสตร์อย่างถูกทาง