กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ลงนามความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่งเสริมการพัฒนาเสื้อผ้าลดโลกร้อน ( CoolMode) หวังกระตุ้นทุกส่วนภาค ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอ จัดทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาเสื้อผ้าลดโลกร้อน (CoolMode) สนับสนุนผู้ผลิตพัฒนาเสื้อผ้าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกระตุ้นให้เกิดตลาดสิ่งทอลดภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม หวังดึงทุกส่วนภาคมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อน
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เปิดเผยว่า การใช้พลังงานไฟฟ้านับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองหลักต่างๆ นั้น กระแสไฟฟ้าประมาณร้อยละ 45 ของการใช้ในบ้านเรือน หรือร้อยละ 65 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารสถานประกอบการถูกใช้ไปสำหรับเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื่นและการออกแบบอาคารสมัยใหม่ทำให้ต้องคิดตั้งเครื่องปรับอากาศมากขึ้น การแต่งกายในการทำงานยังนิยมแบบสากลคือมีเสื้อผ้าหลายชั้น มีการใส่สุท หรือแจ็กเก็ท และการตัดเย็บที่ยังไม่มีการเลือกชนิดผ้าที่มีลักษณะเหมาะสม ทำให้ต้องใช้เครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิต่ำกว่าที่ควร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน การส่งเสริมให้มีการพัฒนาวัสดุสิ่งทอและออกแบบเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะชุดทำงานที่สวมใส่แล้วไม่ร้อนอบอาว สามารถอยู่ในอาคารหรือห้องที่ปรับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากปกติที่เคยเป็นอยุ่อีก 1 องศา ได้โดยไม่อึดอัด ก็จะช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาสและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม และจะช่วยให้สอดคล้องกับภาวะภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้บริโภคไทยด้วย องค์การก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จึงได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอ จัดทำโครงการ ส่งเสริมการพัฒนาเสื้อผ้าชุดทำงานลดโลกร้อนขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ก้บผู้บริโภคในการใช้ชุดทำงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดผู้ผลิตและตลาดสินค้าสิ่งทอที่ลดโลกร้อนในประเทศไทย
“ผู้ผลิตที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผ่านเกณฑ์กำหนดคุณลักษณะของผ้าลดโลกร้อน โดยผ้าสำหรับการตัดเย็บเป็นชุดทำงานหรือใช้สวมใส่ทั่วไปเพื่อลดการใช้พลังงานในเครื่องปรับอากาศ ง่ายต่อการซักทำความสะอาดและลดการใช้น้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยประดิษฐ์และอาจผสมเส้นใยสังเคราะห์ ที่มีการพัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อจากผิวหนังและระเหยออกผ่านสู่ผิวผ้าด้านนอกเพื่อเพิ่มความสบายในการสวมใส่ หรือมีการเพิ่มความเย็นสบายให้กับผู้สวมใส่ด้วยนวัตกรรม เช่น การใช้เทคโนโลยีพิเศษ ผลิตเส้นใย ( Fiber Technology) หรือการใช้เทคโนโลยีการตกแต่งสำเร็จด้วยสารชีวภาพ (biotech finighing technology ) เพื่อช่วยลดอุณหภูมิของผิวหนัง ทั้งนี้ ผ้าต้องมีคุณภาพ ความคงทน ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสำหรับผู้สวมใส่ด้วย”
นายศิริธัญญ์ กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมให้มีการพัฒนาและใช้เสื้อผ้าชุดทำงานที่มีคุณสมบัติพิเศษและการออกแบบซึ่งมีโครงสร้างวัสดุที่ช่วยลดหรือระบายความร้อนของผู้สวมใส่ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดตลาดสิ่งทอที่ลดโลกร้อนและลดการใช้เครื่องปรับอากาศนั้น โครงการฯจะส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องหมาย COOLMODE ติดกับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า โดยในช่วงแรกของการดำเนินโครงการคณะทำงานได้เชิญ บริษัทประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน)ร่วมเป็นโครงการนำร่องในการผลิตเสื้อผ้าลดโลกร้อน ซึ่งในส่วนของผู้ผลิตรายอื่นๆคณะทำงานจะเชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการต่อไป โดยผู้ผลิตที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจะได้รับเครื่องหมาย CoolMode ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดภาวะโลกร้อน ส่วนผู้บริโภคที่ต้องการมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนก็สามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตภายใต้สัญลักษณ์ CoolModeได้
สำหรับผู้ผลิตเสื้อผ้า/สิ่งทอ หรือเครื่องนุ่งห่ม ที่สนใจพัฒนาและทดสอบคุณสมบัติผ้าลดโลกร้อน และขออนุญาตใช้เครื่องหมาย CoolMode ได้ที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): คุณทัศนา รัตนาวะดี สำนักส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาการตลาด โทร.0-2615-8791-3 ต่อ 109 โทรสาร 02-615-8794 www.tgo.or.th หรือสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ : คุณพีรพร พละพลีวัลย์ โทร.0-2713-5492 ต่อ 541 www.thaitextile.org