กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับงานสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ภายใต้โครงการขยายบทบาทสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค ณ จังหวัดสมุทรสาคร ในวันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2552
โดยได้กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “เจาะลึกธุรกิจไทย ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก” ดังนี้
เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยในไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยจะหดตัวรุนแรงมากที่สุดที่ร้อยละ -6.8 ต่อปี และจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ที่ร้อยละ-4.8 และ -3.3 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าจะฟื้นตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ดี สศค.ได้เตรียมความพร้อมที่จะเสนอนโยบายด้านการคลังเชิงรุก ซึ่งมุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อนของปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะปานกลางและระยะยาว ได้แก่ มาตรการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจเพื่อขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ และ พ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อดูแลด้านหลักประกันรายได้เพื่อการยังชีพเมื่อชราภาพสำหรับแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการขอความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย ที่จะผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการ refinance ทั้งนี้ ในอนาคตผู้ประกอบการควรเตรียมตัวที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจบางตัวชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว
ในการสัมมนาครั้งนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกว่า จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและเศรษฐกิจของสมุทรสาคร ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันไม่น่าจะรุนแรงเท่าวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 1930 (Great Depression) เนื่องจากประเทศไทยมีการลงทุนสินทรัพย์ประเภท sub-prime ต่ำ แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกรุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี และจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2552 โดยเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีการกู้เงิน แต่ควรมีการกู้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ มียุทธศาสตร์ และมีความโปร่งใส รวมทั้งควรเน้นการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ และระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางระบบราง นอกจากนี้ ยังเสริมว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกน่าจะขึ้นๆ ลงๆ ในลักษณะ v-shape ซึ่งขึ้นกับวิธีการจัดการปัญหาทางการเงินและการจัดระเบียบโครงสร้างทางการเงินของสถาบันการเงิน
ในขณะที่นายสุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่สายงานการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าการที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกหดตัวรุนแรงและรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้นั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านด้านการส่งออก การค้า และการลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงมาก ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายในการกระตุ้น อุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ยังเสริมว่าในอดีตที่ผ่านมา ทุกภาวะวิกฤตินั้นมีโอกาสเสมอ ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกลงทุนในสาขาการลงทุนที่ยังให้ผลตอบแทนสูง และยังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังแข็งแกร่งกว่าปี 2540 มาก และคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะใช้เวลาอีกสักระยะ
ส่วนนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดสมุทรสาครผ่านด้านการผลิตและการจ้างงานในจังหวัด แต่ไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครมีโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล (Hub of Seafood) ซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถขยายตัวได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับทางจังหวัดมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดในหลายด้าน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางด้านอาหารทะเล โดยเน้นความหลากหลายและคุณภาพ และยุทธศาสตร์ การท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมสันทนาการ เช่น กิจกรรมเดินวิ่ง และการอนุรักษ์ป่าชายเลน นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับสมุทรสาคร เช่น การท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ซึ่งการร่วมมือระหว่างกันจะสนับสนุนให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนมากขึ้น