กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--
สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ จับมือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านโลจิสติกส์และพาณิชยนาวี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร ปริญญาโท โลจิสติกส์เปิดหลักสูตรอบรมขนส่งทางน้ำ หวังปั้นบุคลากรพาณิชยนาวีคุณภาพตัวจริง
สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ (BSAA) ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตรปริญญาโท สาขาโลจิสติกส์ให้ก้าวหน้า ทันสมัย พร้อมตั้งเป้าจัดหลักสูตรอบรมหัวข้อโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีระยะสั้น หวังสร้างบุคลากรด้านโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง
คุณสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธาน สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ (BSAA) กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยบูรพาเปิดสอนด้านโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีมาเกือบสิบปีแล้ว นับเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้นำทางด้านหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการร่วมพัฒนาหลักสูตร ปริญญาโท สาขาโลจิสติกส์ ให้มีความเข้มข้น ตรงกับความต้องการของตลาด และนิสิตยังมีโอกาสฝึกงานและศึกษาดูงานกับบริษัทที่เป็นสมาชิกของเราอีกด้วย ซึ่งผู้ที่เรียนจบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งในอนาคตทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรในธุรกิจพาณิชยนาวีให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น”
คุณสุวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากหลักสูตรปริญญาโท สาขาโลจิสติกส์แล้ว ทางสมาคมฯ ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพาจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น โดยเปิดอบรมในหัวข้อที่สำคัญและจำเป็นต่อการใช้งานจริง ซึ่งเป็นการประยุกต์ระหว่างองค์ความรู้ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกับองค์ความรู้ภาคปฏิบัติ ทั้งยังจะวางแผนร่วมกันในการจัดกิจกรรมอื่นที่จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรพาณิชยนาวีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับบุคลากรในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในบริษัทที่เป็นสมาชิก BSAA ให้มาศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาโท สาขาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพาอีกด้วย
“ในวงการธุรกิจพาณิชยนาวียังมีสิ่งที่ต้องเสริมสร้างความรู้อีกมาก ทั้งเรื่องกฎหมายพาณิชยนาวี ความรับผิดชอบต่างๆ เงื่อนไขการขนส่ง ความรู้เกี่ยวกับภาษีสรรพากร ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ ทำอย่างไรให้เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดขั้นตอนและลดต้นทุนให้มากที่สุด รวมทั้งต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้านอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้ในเรื่องของโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน พร้อมทั้งต้องรู้ว่าผู้ประกอบการที่เป็นสายการเดินเรือต้องปรับตัวอย่างไร และควรจะมีบริการเสริมอย่างไร เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากที่สุด เนื่องจากความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา” คุณสุวัฒน์ กล่าว
ศาสตราจารย์สุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า นับเป็นก้าวที่สำคัญของวงการโลจิสติกส์ที่ในอนาคตจะมีบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยบูรพา ทำให้หลักสูตรมีความเข้มข้น สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้น และมั่นใจได้ว่านิสิตที่จบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยบูรพา จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ช่วยให้การพัฒนาโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมต่างชาติได้
“เป้าหมายสำคัญของมหาวิทยาลัยบูรพา คือ ต้องการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ความร่วมมือจากสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ จะช่วยให้สามารถพัฒนาบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือในการฝึกประสบการณ์ภาคสนามหรือสหกิจศึกษา ทำให้นิสิตของมหาวิทยาลัยบูรพามีโอกาสเข้าไปฝึกประสบการณ์ภาคสนาม ฝึกอบรมจากสถานที่จริง และมีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นิสิตปฏิบัติงานได้อย่างดี” ศาสตราจารย์สุชาติ กล่าวย้ำ
ดร.มานะ เชาวรัตน์ คณบดีคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี ปัจจุบันตลาดแรงงาน ยังมีความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีอีกมาก ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้หลักสูตรมีความเข้มข้น ตรงความต้องการของตลาดอย่างเหมาะสม และเมื่อนิสิตสำเร็จการศึกษาไปแล้ว นิสิตสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี เพราะคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ผู้เชี่ยวชาญและคนในวงการมาช่วยพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา กับภาคอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์และพาณิชยนาวี ช่วยให้การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และพาณิชยนาวีดีขึ้น การลดต้นทุนมีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหลักสูตรที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้อย่างตรงจุด ต้องมาจากผู้ที่จะใช้งานจริง