กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
จากรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๕๐/๒๕๕๑ พบว่าการศึกษาไทยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ผลสัมฤทธิ์ในการสอบวิชาหลักของนักเรียน โดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา รวมทั้งวิชาภาษาไทย นอกจากนี้ การประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่า คุณภาพของการศึกษายังมีความแตกต่างกันสูง ระหว่างสถานศึกษาขนาดใหญ่ ขนาดกลางในเมือง และขนาดเล็กในชนบท ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการทางการศึกษา
จากปัญหาดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงเห็นควรจัดเวทีเสวนาเรื่อง “การศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ” ระหว่างวันที่ ๒๙ — ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ณ โรงแรมอมารี ออร์คิด รีสอร์ท แอนด์ ทาวเวอร์ พัทยาเหนือ จ. ชลบุรี เพื่อระดมความคิดเห็นจากกรรมการสภาการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ กำหนดการดังนี้
วันศุกร์ที่ ๒๙ เวลา ๑๘.๐๐ น. รศ.ธงทอง จันทรางศุ นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินการปฏิรูปรอบที่สอง
วันเสาร์ที่ ๓๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. นำเสวนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และชุมชน เรื่อง “การศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ” เช่น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ (นายก อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช) และกรรมการสภาการศึกษาร่วมอภิปรายให้ข้อเสนอแนะในช่วงบ่าย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาร่วมทำข่าวดังกล่าว โดยวันที่ ๒๙ พ.ค. สำนักงานฯ จัดรถตู้รับวันศุกร์บ่าย ๑๔.๓๐ น. และเดินทางกลับวันเสาร์ที่ ๓๐ พ.ค.
ศูนย์ประชาสัมพันธ์การศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
โทร. ๐๒ — ๖๖๘๗๑๒๓ ต่อ ๑๑๑๖ — ๗ โทรสาร ๐๒- ๒๔๓๐๐๘๓
โครงการสภาการศึกษาเสวนา : การศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ
๑. หลักการและเหตุผล
๑.๑ สภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ
สภาวะด้านเศรษฐกิจ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลกในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี ๒๕๕๑ ว่าเศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ ๒.๖ ซึ่งนับว่าชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ ๔.๙ ในปี ๒๕๕๐ ในปี ๒๕๕๒ นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะหดตัว โดยมีแนวโน้มที่จะหดตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคธุรกิจเอกชนและความสัมพันธ์ทางการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำลงอันเป็นผลมาจากวิกฤตทางการเงิน ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศลดลง ปริมาณการส่งออกลดลงอย่างชัดเจน และการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐก็หดตัวลง ในขณะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนก็ชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ภาคการผลิตหดตัวทั้งภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การก่อสร้าง และภาคบริการ
ทั้งนี้ จากรายงานเศรษฐกิจและการเงิน ปี ๒๕๕๑ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รายงานว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลต่อเนื่องและในขนาดที่มากขึ้น รวมทั้งมีการจัดทำงบเพิ่มเติมอีก ๑๑๖.๗ พันล้านบาท นอกจากนี้ ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๕๒ ว่ามีแนวโน้มชะลอลง โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในช่วงร้อยละ ๐-๒.๐ (ประมาณการ ณ มกราคม ๒๕๕๒) ซึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำจากราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศชะลอตัว และภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจอยู่ในภาวะถดถอยนานและฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด รวมทั้งเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและสภาวะทางสังคม รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศ
สภาวะทางสังคม จากรายงานสภาวะสังคมของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ พบว่า ในไตรมาสสี่ ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา การว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การลดคนงานในหลายอุตสาหกรรมสำคัญทำให้มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี ๒๕๕๐ ประมาณ ๙ หมื่นคน เป็น ๕.๑ แสนคนในไตรมาสนี้ และอัตราการว่างงานสูงขึ้นจากร้อยละ ๑.๑ เป็นร้อยละ ๑.๓ ปัญหาการว่างงานยังสะท้อนได้จากจำนวนผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวนเฉลี่ย ๓๙,๙๔๕ คนต่อเดือนในไตรมาสสี่ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ ๕๕.๕ และสูงขึ้นเป็น ๖๖,๗๗๖ คน ในเดือนมกราคม และ ๑๐๐,๕๕๙ คน ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ตำแหน่งงานว่างลดลงเป็นลำดับจากช่วงครึ่งแรกของปี มีจำนวน ๘๗,๑๒๘ อัตราในไตรมาสสี่ ลดลงจากระยะเดียวกันของปี ๒๕๕๐ ร้อยละ ๕.๖ ขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนสมัครงานกับกรมการจัดหางานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๒๘.๔ ซึ่งทำให้โอกาสในการได้งานน้อยลง ทั้งนี้ตำแหน่งงานสำหรับผู้มีวุฒิการศึกษาระดับประถมและมัธยมลดลงมาก จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี ๒๕๕๒ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแผนปรับลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงาน โดยเริ่มจากการงดการทำงานล่วงเวลา ลดชั่วโมงการทำงาน ลดจำนวนคนงาน และสุดท้ายเป็นการเลิกจ้าง เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ค่ายญี่ปุ่นหลายแห่งทยอยประกาศปรับลดกำลังการผลิตและลดคนงานในช่วงต้นปี ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีลูกจ้างตกงานเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๑ ประมาณ ๕ แสนคน นอกจากนี้อาจมีแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ในปีนี้ว่างงานอีกประมาณ ๒-๓ แสนคน จากปัจจัยดังกล่าว คาดว่าในปี ๒๕๕๒ จะมีผู้ว่างงานเฉลี่ยประมาณ ๙ แสน — ๑.๓ ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ ๒.๕ — ๓.๕ ของกำลังแรงงานรวม
จากสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง คนว่างงานเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในไตรมาสสี่ ปี ๒๕๕๑ มีคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ๑๖,๕๒๔ คดี เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี ๒๕๕๐ ร้อยละ ๓.๗ คดียาเสพติดมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะ ๒ ปีที่ผ่านมา ในไตรมาสสี่ปี ๒๕๕๑ มีการจับกุมทั้งสิ้น ๔๙,๑๗๙ คดี แม้จะลดลงจากไตรมาสสามร้อยละ ๑๐.๗ แต่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี ๒๕๕๐ ร้อยละ ๒๐.๕ ทั้งนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจค้ายาเสพติดขยายตัว
นอกจากนั้นการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศมีจำนวน ๑๐,๙๖๗ คดี ในไตรมาสสี่ปี ๒๕๕๑ ลดลงจากไตรมาสสามร้อยละ ๑๐.๖ และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี ๒๕๕๐ ร้อยละ ๑๘.๒ และในรอบปี ๒๕๕๑ มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีรวม ๔๖,๙๘๑ คดี ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ร้อยละ ๘.๑ ความผิดส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ยาเสพติด และคดีชีวิตและร่างกาย ตามลำดับ คดีเด็กและเยาวชนเกือบทุกประเภทมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ ๙.๐ ในปี ๒๕๕๑ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับคดีอาญาโดยรวม ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเพศชายสูงถึงร้อยละ ๙๑.๐๖ ระดับการศึกษามัธยมต้นร้อยละ ๓๙.๒๘ ประถมศึกษาร้อยละ ๒๙.๑๐ เป็นนักเรียนร้อยละ ๓๓.๑๘ ไม่ได้ประกอบอาชีพร้อยละ ๓๐.๖๑ และอาชีพรับจ้างร้อยละ ๒๗.๖๘ เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดซ้ำมีถึงร้อยละ ๑๔.๐๖ ของคดีที่จับกุมทั้งหมดในปี ๒๕๕๑ และพบว่าเด็กที่ก่อคดีอาศัยอยู่กับมารดาฝ่ายเดียวในสัดส่วนร้อยละ ๑๙.๑๖ สูงกว่าเด็กที่อยู่กับบิดาค่อนข้างมาก อาจเนื่องจากผู้ทำผิดส่วนใหญ่เป็นชาย ขณะที่มารดาต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวและรับภาระหนัก จึงมีเวลาพูดคุยปัญหาต่าง ๆ กับบุตรน้อย และเข้าไม่ถึงการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ และความคิดของบุตร
ในรายงานดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรงมากขึ้น โดยในปี ๒๕๕๑ มีเด็กและเยาวชนถูกส่งเข้าสถานพินิจในความผิดเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกว่า ๓๕,๐๐๐ คน และผลการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนปี ๒๕๔๙/๕๐ พบว่า ในสถานศึกษามีเด็กที่ถูกพบเห็นว่าพกพาอาวุธถึงร้อยละ ๒๒ — ๓๑ ถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ ๑๗ — ๒๙ และถูกขู่กรรโชกทรัพย์ร้อยละ ๘ — ๑๖
นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนจำนวนมากมีประสบการณ์ก่อความรุนแรง ร้อยละ ๓๐.๔ ยอมรับว่าเคยตบ ตี ต่อยคนอื่นในระยะ ๓ เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ ๒๒.๔ ได้เข้าร่วมในการทะเลาะวิวาทเป็นกลุ่ม ตลอดจนถึงพฤติกรรมอัธพาล ข่มขู่ ทำให้คนอื่นบาดเจ็บจากการต่อสู้ และพกพาอาวุธปืน ทั้งยังพบว่าภูมิหลังของเด็กที่ใช้ความรุนแรงส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่แตกร้าว มีประสบการณ์ถูกข่มขู่/ทำร้ายของครอบครัวและคนใกล้ชิด มีกลุ่มเพื่อนสนิทที่มีกิจกรรมทางลบ เช่น ดื่มสุรา เล่นการพนัน ทะเลาะวิวาท เป็นต้น จากผลการศึกษาเรื่องมิติทางสังคมวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อความรุนแรง ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การที่เด็กถูกกระทำหรืออยู่ในภาวะแวดล้อมที่ได้เห็นความรุนแรงทำให้ฝังใจและเข้าใจผิดว่าปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง ประกอบกับการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ และการเล่นเกมส์ทำให้ซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ทัศนคติของสังคมเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของวัยหรือเฉพาะกลุ่มทำให้ละเลยปัญหา จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยสร้างความเข้าใจและตระหนักในปัญหาอย่างลึกซึ้ง การจัดพื้นที่ทางสังคมในทางบวกสำหรับเด็กและเยาวชน มีกลไกทางสังคม ระบบโรงเรียน ครอบครัวที่เฝ้าระวังสอดส่องวิธีชีวิตทางสังคมของเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด จะสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนได้
นอกจากนี้ สังคมไทยยังประสบปัญหาด้านสภาวะแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่มีปัญหามลพิษทางอากาศที่มีหมอกควัน ฝุ่นขนาดเล็ก และก๊าซที่มีพิษสูงขึ้น รวมทั้งมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นภัยและส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันคนไทยก็มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพซึ่งทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจำนวนมาก
สถานการณ์ทางการเมือง ปัญหาทางการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจเอกชน และก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ชุมชน และครอบครัวมากขึ้น ซึ่งวิทยากร เชียงกูล ได้กล่าวไว้ในรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๕๐/๒๕๕๑ ว่า คนในสังคมไทยยังขาดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาคนทั้งด้านปัญญา อารมณ์ จิตสำนึกเพื่อสังคม การตระหนักและมีส่วนร่วมในการสร้างความสมานฉันท์ให้แก่สังคมน้อย การเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และเคารพกฎระเบียบของสังคมอยู่ในระดับต่ำ (สกศ.,๒๕๕๑) นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้งยังส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
๑.๒ สภาวะการศึกษาไทย
ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งจากการติดตามและประเมินผลการปฏิรูปการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพบว่า บางเรื่องดำเนินการสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาอีกหลายประการที่ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงโดยเฉพาะปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา จากรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๕๐/๒๕๕๑ (สกศ.,๒๕๕๑) การศึกษาไทยโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ผลสัมฤทธิ์ในการสอบวิชาหลักของนักเรียน การประเมินความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจากการวัดผลสัมฤทธิ์ในการสอบระดับชาติ ช่วงชั้น ป.๖ ม.๓ และม.๖ โดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะวิชาหลัก เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา รวมทั้งวิชาภาษาไทย
นอกจากนี้ การประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) พบว่า สถานศึกษา ครู นักเรียนที่ได้มาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดีมีสัดส่วนต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับพอใช้ และบางส่วนต้องปรับปรุง คุณภาพของการศึกษายังมีความแตกต่างกันสูง ระหว่างสถานศึกษาขนาดใหญ่ ขนาดกลางในเมือง และขนาดเล็กในชนบท ซึ่งวิทยากร เชียงกูล (สกศ.,๒๕๕๑) กล่าวว่า โครงสร้างการบริหารราชการแบบรวมศูนย์และการจัดสรรงบประมาณและกำลังคน ซึ่งเป็นปัญหาของระบบราชการโดยรวม ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการทางการศึกษา สถานศึกษาขนาดเล็กโดยเฉพาะในชนบทจะได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยกว่า มีครูอาจารย์ตามวุฒิน้อยกว่า ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยเฉลี่ยต่ำกว่าสถานศึกษาขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมสูง มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนจนมีทรัพยากรการลงทุนและมีโอกาสได้รับการศึกษาต่ำกว่าคนรวยและคนชั้นกลาง
จากปัญหาวิกฤตทางการศึกษา ทั้งด้านคุณภาพของการศึกษาและประสิทธิภาพการบริหารจัดการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจึงได้ริเริ่มที่จะปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับองค์กรหลักอื่นๆ ในกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากสภาการศึกษาเป็นองค์คณะบุคคลที่ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนองค์กรต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขา ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาเสนอนโยบายและแผนการศึกษาของประเทศ รวมทั้งการเสนอความคิดเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ในสภาวะที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงจำเป็นที่สภาการศึกษาจะต้องแสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมเสนอแนะแนวทางแก้ไขวิกฤตทางการศึกษา รวมทั้งเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการกู้วิกฤตของประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงเห็นควรจัดให้มีเวทีเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากกรรมการสภาการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปการศึกษาไทยในภาวะวิกฤตของประเทศ
๑. เพื่อเป็นเวทีให้คณะกรรมการสภาการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาในภาวะวิกฤติของประเทศ
๒. เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการศึกษาที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ