กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--สนพ.
สนพ. เดินหน้าสร้างนักวิจัย และต่อยอดองค์ความรู้จากงานสัมมนา “วิจัยพลังงาน สร้างฐานเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลปัจจุบันตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานที่เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลความมั่นคง ด้านพลังงานให้แก่ประเทศ เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างพอเพียง ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ และในขณะเดียวกันก็จะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่องในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศ กระทรวงพลังงานจึงได้ดำเนินแนวนโยบายซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น เป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาพลังงานของประเทศ และระยะยาว เป็นนโยบายเพื่อการวางพื้นฐานการพัฒนาพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สมดังพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอยากเห็นคนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ให้มากที่สุด ด้วยการส่งเสริมการวิจัยด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยด้านพลังงาน จึงได้สนับสนุนหน่วยงานต่างๆในการศึกษา วิจัย และพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและพลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
“ผมเชื่อว่าผลงานวิจัยด้านพลังงานจะช่วยกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของการวิจัยด้านพลังงาน เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากงานวิจัย และสร้างเครือข่ายแยกตามเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าแนวทางการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกับศักยภาพของประเทศในอนาคต”นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผลงานวิจัยด้านพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจทั่วไป ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัย และยังเป็นแรงบัลดาลใจ ที่ผลักดันให้เกิดงานวิจัยและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพต่อไป