กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--กทม.
รพ.ตากสินจัดประชุมวิชาการด้านควบคุมการติดเชื้อ เสริมศักยภาพการดูแลผู้ป่วย เฝ้าระวังการแพร่กระจายโรคและลดอัตราการติดเชื้อจากโรคต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่รองปลัดฯ ไกรจักร หนุนโรงพยาบาลในสังกัดกทม.แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ตามความชำนาญเพื่อประชาชนได้รับประโยชน์
นายแพทย์ไกรจักร แก้วนิล รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ประจำปี 2552 “การควบคุมการติดเชื้อ : เป้าหมายความปลอดภัยระดับชาติ” เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้บุคลากรเรื่องการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีความรู้ความเข้าใจในการเฝ้าระวังและควบคุมการติดเชื้อที่ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้เข้าประชุมเป็นข้าราชการ ระดับ 3-8 สังกัดโรงพยาบาลตากสิน อีกทั้งโรงพยาบาลและส่วนราชการในสังกัดสำนักการแพทย์ จำนวน 143 คน กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พ.ค. 52 ณ ห้องประชุมลิมอักษร อาคารอำนวยการ โรงพยาบาลตากสิน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันโรคติดเชื้อเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบทั่วโลก เนื่องจากมีการเกิดของโรคที่เป็นโรคใหม่และโรคที่เกิดซ้ำ ซึ่งเมื่อมีการโยกย้ายถิ่นฐานเชื้อดังกล่าวจะแพร่กระจายไปทุกแห่ง เช่น ขณะนี้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H5N1) หรือแม้แต่โรคไข้หวัดนก (H5N1) ซาส์ และวัณโรค ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้นการกระจายของโรคไม่รุนแรง ประกอบกับมีการวางแผนเพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่กระจายของโรคในทุกด้าน และให้ความรู้แก่ประชาชนในการเฝ้าระวังตนเอง นอกจากนี้โรงพยาบาลในสังกัดกทม. เช่น โรงพยาบาลตากสิน ยังมีห้องควบคุมการติดเชื้อที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อแยกผู้ป่วยติดเชื้อและให้การดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดอัตราการติดเชื้อและการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไม่ให้โรคทวีความรุนแรงและแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น
สำหรับการประชุมวิชาการในครั้งนี้ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ จะให้ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อ เชื้อดื้อยา การสอบสวนการระบาดและการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล การทำลายเชื้อและการทำให้ปราศจากเชื้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดการเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อแผลผ่าตัด เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลและผู้ป่วยก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า โรงพยาบาลในสังกัดกทม. ทั้ง 9 แห่งมีองค์ความรู้ด้านการแพทย์ที่โดดเด่น เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีคุณภาพด้านการป้องกันโรคและรักษาพยาบาล จึงควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากรและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน